จับชีพจร ตรวจสุขภาพ SMEs “หลังโควิด-19” เป็นอย่างไร?

291

 

มิติหุ้น-ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics ประเมินธุรกิจ SME หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 บรรเทาลง ออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้ “กลุ่ม Slow” คือ ธุรกิจที่ปรับตัวได้ช้า มีความจำเป็นต้องเร่งปรับโครงสร้างเพื่อความอยู่รอด ได้แก่ ธุรกิจขนส่งผู้โดยสาร ค้าปลีกเสื้อผ้า สถานบันเทิง ประดับยนต์ และโรงแรม “กลุ่ม Viable” คือ ธุรกิจที่พอปรับตัวได้ แต่ยังมีความเสี่ยงอยู่ ต้องดำเนินธุรกิจอย่างระมัดระวังเพื่อประคองกิจการ ได้แก่ ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ร้านอาหาร ขายเครื่องจักร บริการทางธุรกิจ และธุรกิจที่ปรึกษา และ “กลุ่ม Swift” คือ ธุรกิจที่มีความพร้อมในการปรับตัวค่อนข้างรวดเร็ว ได้แก่ ธุรกิจขายสินค้าอุปโภคบริโภค บริการคอมพิวเตอร์ ร้านขายยา/ เวชภัณฑ์ ร้านสะดวกซื้อ และสถานพยาบาล พร้อมประเมินสุขภาพทางการเงิน SMEs ออกเป็น 4 กลุ่ม (พร้อมโต พร้อมฟื้น รอฟื้น รอรักษา) และชี้กลยุทธ์ปรับตัวให้สอดคล้องกับแนวโน้มธุรกิจและความพร้อมทางการเงิน

ธุรกิจ SMEs เป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจไทย ทั้งในแง่ของรายได้และการจ้างงาน โดยผู้ประกอบการ SMEs ไทยมีจำนวนกว่า 3 ล้านราย จ้างงานกว่า 12 ล้านคน ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ประเทศล็อกดาวน์ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี ผู้ประกอบการ SMEs ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก ทั้งในแง่ของรายได้ที่หดหายไป ทำให้ผู้ประกอบการ SMEs หลายรายประสบปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน โดยในช่วงเวลาดังกล่าวภาครัฐ ภาคเอกชน ธนาคารแห่งประเทศไทย และธนาคารพาณิชย์ ต่างพยายามจับมือช่วยเหลือกันและกันมาจนถึงวันนี้ ซึ่งสถานการณ์ปัจจุบันเริ่มกระเตื้องขึ้นบ้าง แต่ทว่าก็ยังไม่กลับเข้าสู่ระดับปกติ ยังคงต้องประคองช่วยเหลือกันต่อไป

ดังนั้น การเข้าใจบริบทสภาพ “หลังสถานการณ์โควิด-19” ของแนวโน้มธุรกิจและความพร้อมของสุขภาพทางการเงินของผู้ประกอบการ SMEs เป็นสิ่งสำคัญ เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs และภาครัฐนำพาธุรกิจข้ามผ่านไปด้วยกัน ด้วยเหตุนี้ TMB Analytics จึงทำการวิเคราะห์แนวโน้มธุรกิจ SMEs พร้อมทั้งประเมินสุขภาพทางการเงินของผู้ประกอบการ SMEs พร้อมแนะกลยุทธ์

จับชีพจร “ธุรกิจ SMEs หลังโควิด-19 จะโตอย่างไร?”

TMB Analytics ประเมินชีพจรธุรกิจ SMEs จากภาพแนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2563 ที่ถูกผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง โดยวิเคราะห์แนวโน้มการฟื้นตัวตามลักษณะของธุรกิจ (V, U, L Shape Recovery) ว่าจะส่งผลกระทบไปยังผลการดำเนินงานของธุรกิจส่งผ่านไปยังกำไรก่อนหักภาษีของกิจการ (Earning Before Tax: EBT) โดยใช้ข้อมูลงบการเงินของธุรกิจ SMEs จำนวนกว่า 3 แสนราย ที่ดำเนินธุรกิจอยู่และส่งงบการเงินแก่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยแยกด้วยผลการดำเนินงานที่เกิดขึ้นออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ “กลุ่ม Swift” คือ กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ที่ปรับตัวรวดเร็ว รายได้เริ่มฟื้นกลับมาเพราะพึ่งพิงตลาดในประเทศเป็นหลัก ทำให้ผลกำไรลดลงไม่มากและส่วนใหญ่ผลการดำเนินงานของกำไรยังเป็นบวก “กลุ่ม Viable” คือ กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ที่พอปรับตัวได้ รายได้ลดลงบางส่วน ทำให้ผลกำไรยังลดลงค่อนข้างมากแต่ผลการดำเนินงานยังพอมีกำไรอยู่ “กลุ่ม Slow” คือ กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ที่ปรับตัวช้า รายได้ลดลงมาก แต่ต้นทุนและค่าใช้จ่ายกลับลดลงได้น้อยกว่า เนื่องจากได้รับผลกระทบและเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้ผลกำไรลดลงมาก ส่งผลทำให้ผลการดำเนินงานของกลุ่มนี้ขาดทุนต่อเนื่อง

ผลศึกษาพบว่า กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ส่วนใหญ่ 65.7% อยู่ใน “กลุ่ม Viable” ผู้ประกอบการในกลุ่มนี้ กำไรลดลงแต่ผลการดำเนินงานยังเป็นบวกมี 92.9% และขาดทุน 7.1%  ได้แก่ ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ร้านอาหาร ขายเครื่องจักร บริการทางธุรกิจ และธุรกิจที่ปรึกษา ลำดับต่อมา 21.7% เป็น “กลุ่ม Slow” ผู้ประกอบการในกลุ่มนี้ กำไรลดลงแต่ผลการดำเนินงานยังเป็นบวกมี 73.7% และขาดทุน 26.3% ได้แก่ ธุรกิจขนส่งผู้โดยสาร ค้าปลีกเสื้อผ้า สถานบันเทิง ประดับยนต์ และโรงแรม และ 12.6% เป็น“กลุ่ม Swift” ผู้ประกอบการในกลุ่มนี้ กำไรลดลงแต่ผลการดำเนินงานยังเป็นบวกมี 96.1% และมีขาดทุนเพียง 3.9% ได้แก่ ธุรกิจขายสินค้าอุปโภคบริโภค บริการคอมพิวเตอร์ ร้านขายยา/ เวชภัณฑ์ ร้านสะดวกซื้อ และสถานพยาบาล

เมื่อประเมินผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัว พบว่า “กลุ่ม Swift” เป็นกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ที่ผลการดำเนินงานของกิจการลดลงบ้าง แต่ส่วนใหญ่ก็ยังพอมีกำไรอยู่ จึงเป็นกลุ่มที่ค่อนข้างมีความพร้อมในการปรับตัวได้ค่อนข้างดี ส่วน “กลุ่ม Viable” เป็นกลุ่มผู้ประกอบการที่รายได้ลดลงเป็นบางส่วน ตลาดยังไม่ฟื้นตัวอย่างเต็มที่ ทำให้กำไรของกิจการลดลงค่อนข้างมาก ธุรกิจในกลุ่มนี้จึงยังมีความเสี่ยงอยู่ ต้องดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวัง เพื่อประคองกิจการให้ข้ามผ่านไป ในขณะที่ “กลุ่ม Slow” หนักสุดเป็นกลุ่มที่ส่วนใหญ่ รายได้ยังไม่ฟื้นตัวและรายจ่ายไม่สามารถลดลงได้  และกำลังซื้อที่ชะลอตัว ผลกำไรที่ลดลงมากจึงทำให้ผลการดำเนินงานขาดทุนมาก เป็นกลุ่มที่มีความจำเป็นที่จะต้องเร่งปรับโครงสร้าง เพื่อความอยู่รอดในระยะต่อไป

เช็คสุขภาพการเงิน SMEs “ความสามารถทำกำไร และสภาพคล่อง ใครยังไหวอยู่?”

เพื่อให้การวิเคราะห์สภาพธุรกิจของ SMEs ในยุค “หลังโควิด-19” มีความชัดเจนยิ่งขึ้น หลังจากประเมินชีพจรธุรกิจ SMEs แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มดังกล่าวมาแล้วข้างต้น (กลุ่ม Swift, Viable และ Slow) TMB Analytics ศึกษาเพิ่มเติมถึงสุขภาพทางการเงินของธุรกิจ SMEs เพื่อให้ทราบว่า ผู้ประกอบการ SMEs มีกิจการที่สามารถทำกำไรอยู่ในระดับใด และภาวะสภาพคล่องทางการเงินยังไหวหรือไม่ ด้วยการประเมินสุขภาพทางการเงิน (Financial Health) ว่าสามารถรองรับวิกฤตและอยู่รอด ได้ดีเพียงใด ซึ่งจะนำไปสู่แนวทางที่ช่วยให้ธุรกิจมีศักยภาพดีขึ้นสำหรับดำเนินธุรกิจในอนาคต

ด้วยการนำข้อมูลทางการเงิน 2 ด้านมาประเมินร่วมกัน คือ 1. ความสามารถในการทำกำไร (Profitability Performance) โดยวัดจากรายได้สุทธิก่อนหักภาษี (Earning Before Tax)  ซึ่งหากอัตราส่วนรายได้สุทธิต่อรายได้สูงกว่า 5% ถือว่าเป็นธุรกิจศักยภาพสูงในการหารายได้ และ 2. สภาพคล่องธุรกิจ (Liquidity Performance) โดยใช้ตัวชี้วัดวงจรเงินสด (Cash Conversion Cycle) หากอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 45 วัน หมายถึง ธุรกิจยังมีเงินสดจำนวนหนึ่งที่สามารถไปลงทุนเพื่อขยายกิจการ ควบคู่ไปกับอัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียน Current Ratio ที่สูงกว่า 2 เท่า จะหมายถึง ธุรกิจมีสภาพคล่องที่แข็งแรง มีเงินสดในการดำเนินธุรกิจและสภาพคล่องของกิจการเพื่อชำระหนี้ระยะสั้น ด้วยวิธีการประเมินสุขภาพการเงินที่กล่าวมาข้างต้นจากจำนวน 3 แสนราย ที่ดำเนินธุรกิจอยู่และส่งงบการเงินแก่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และ TMB Analytics จัดลักษณะธุรกิจออกมาเป็น 4 กลุ่ม ดังต่อไปนี้

กลุ่มที่ 1 พร้อมโต เป็นกลุ่มที่มีสุขภาพทางการเงินดีที่สุด จากความสามารถในการทำกำไรสูง และมีสภาพคล่องธุรกิจที่แข็งแรง จากการวิเคราะห์พบว่ามีจำนวนผู้ประกอบการ SMEs ที่อยู่ในกลุ่มนี้มีสัดส่วน 20% ของธุรกิจ SMEs ทั้งหมด โดยส่วนใหญ่ธุรกิจในกลุ่มนี้จะอยู่ในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบต่ำ ได้แก่ ร้านสะดวกซื้อ ค้าส่งสินค้าอุปโภคบริโภค และธุรกิจบริการคอมพิวเตอร์ เป็นต้น ทำให้ธุรกิจในกลุ่มนี้มีศักยภาพในการเติบโตสูง หากสามารถวางแผนการลงทุนและการตลาดล่วงหน้าได้เพื่อทำการขยายธุรกิจและรองรับการเติบโตในอนาคต

กลุ่มที่ 2 พร้อมฟื้น เป็นกลุ่มที่มีสุขภาพทางการเงินรองลงมา โดยมีความสามารถในการทำกำไรที่สูง แต่มีสภาพคล่องธุรกิจที่เปราะบาง จากการวิเคราะห์พบว่ามีสัดส่วนธุรกิจอยู่ในกลุ่มนี้ 27% ของธุรกิจ SMEs ทั้งหมด โดยส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบไม่มากนัก แต่ได้รับผลกระทบจากวงจรเงินสดที่ยาวขึ้น สินทรัพย์หมุนเวียนน้อยลง ทำให้มีสภาพคล่องธุรกิจค่อนข้างต่ำ ได้แก่ ธุรกิจค้าปลีกสินค้ายา/ เวชภัณฑ์ และเครื่องจักร เป็นต้น หากธุรกิจของผู้ประกอบการ SMEs อยู่ในกลุ่มนี้ถือว่ายังโชคดีที่ธุรกิจยังสามารถทำกำไรได้ดี อย่างไรก็ตามควรที่จะบริหารสภาพคล่องให้ดีขึ้น มีเงินทุนหมุนเวียนมากขึ้นเพื่อพยุงธุรกิจให้ไปต่อได้อย่างราบรื่นขึ้น

กลุ่มที่ 3 รอฟื้น เป็นกลุ่มที่มีสุขภาพทางการเงินพอไปได้ ด้วยธุรกิจยังมีสภาพคล่องที่แข็งแรงสามารถประคองธุรกิจให้ไปต่อ แต่มีความสามารถในการทำกำไรที่ต่ำลง พบว่ามีสัดส่วนจำนวนธุรกิจที่ 19% ของธุรกิจ SMEs ทั้งหมด โดยส่วนใหญ่ธุรกิจกลุ่มนี้จะอยู่ในธุรกิจขนส่งผู้โดยสาร งานบริการทางธุรกิจ เช่น งานซ่อมบำรุง/ ทำความสะอาด รับเหมาก่อสร้าง ที่ปรึกษา เป็นต้น กลยุทธ์ของธุรกิจกลุ่มนี้คือให้ความสำคัญกับการหาตลาดใหม่ๆ เพื่อหารายได้ทดแทน รวมไปถึงการลดต้นทุนตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออกไปเพื่อรอการฟื้นตัวของตลาด

กลุ่มที่ 4 รอรักษา เป็นกลุ่มที่มีสุขภาพทางการเงินอ่อนแอกว่ากลุ่มอื่น เนื่องจากได้รับผลกระทบอย่างหนักจากรายได้ที่หดหายไปมาก กระทบต่อสภาพคล่องธุรกิจ ส่งผลให้ความสามารถในการทำกำไรและสภาพคล่องธุรกิจไม่ดี ในกลุ่มนี้มีจำนวนธุรกิจกระจุกอยู่ถึง 34% ของธุรกิจ SMEs ทั้งหมด ส่วนใหญ่จะอยู่ในธุรกิจโรงแรมที่พัก/ บริการท่องเที่ยว ค้าปลีกเสื้อผ้า ประดับยนต์และสถานบันเทิง เป็นต้น กลยุทธ์สำหรับธุรกิจกลุ่มนี้จำเป็นต้องมีการจัดหาสภาพคล่องเพิ่ม การบริหารสภาพคล่อง ปรับโครงสร้างหนี้และธุรกิจ รวมไปถึงการปรับรูปแบบธุรกิจเพื่อหาตลาดใหม่ หารายได้ทดแทน เป็นกลุ่มที่ผู้ประกอบการต้องทำงานหนัก เพื่อจะได้ดำเนินธุรกิจให้ดีขึ้น

ทั้งนี้ ผลการประเมินสุขภาพทางการเงินเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้ธุรกิจเห็นภาพได้ชัดขึ้น ช่วยวางแผนธุรกิจให้ตรงกับสิ่งที่เป็นอยู่ แต่สิ่งที่สำคัญของธุรกิจไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าผู้ประกอบการ SMEs มีสุขภาพการเงินอยู่กลุ่มไหนเท่านั้น แต่ขึ้นอยู่กับผู้ประกอบมีความเข้าใจสถานการณ์และประเมินธุรกิจรอบด้าน และนำมาปรับตัวเพิ่มศักยภาพตัวเองให้เติบโตไปตามทิศทางตลาดในอนาคตได้ รวมไปถึงการควบคุมดูและสถานะการเงินและบุคคลกรให้เหมาะสม หากผู้ประกอบการ SMEs วิเคราะห์สถานการณ์ธุรกิจของตนเองได้ถูกต้อง จะนำไปสู่การวางแผนกลยุทธ์เพื่อขยายตลาดและบริหารสภาพคล่องได้เหมาะสมสอดคล้องกับทิศทางภาวะธุรกิจ สร้างโอกาสและศักยภาพให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้แน่นอน