มิิติหุ้น – หุ้น SABUY สุดฮอต นักลงทุนแห่จองไอพีโอ SABUY หมดเกลี้ยง ปิดยอดจอง IPO 157.02 ล้านหุ้น กลุ่มผู้บริหารใหญ่-กรรมการสุดมั่นใจ หุ้นติดไซเล้นท์ทั้ง 100%
นายชูเกียรติ รุจนพรพจี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สบาย เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) ผู้นำด้านการพัฒนาเทคโนโลยีการค้าแบบ New Retail Solution ที่มี Eco System เป็นของตนเอง และ ให้บริการรับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ กล่าวว่า บริษัทฯ ขอขอบคุณนักลงทุนทุกท่าน ที่ให้การตอบรับจองซื้อหุ้น IPO ของบริษัท สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อบริษัทและศักยภาพการเติบโตของธุรกิจฟินเท็คของบริษัทฯ โดยหุ้นไอพีโอของ SABUY ได้จำหน่ายให้กับนักลงทุนสถาบัน 11% นักลงทุนรายย่อย 67% กลุ่มผู้มีอุปการคุณของบริษัท 13 % และกรรมการและผู้บริหารของบริษัทฯ 9%
บริษัทฯ มีวัตถุประสงค์หลักจะนำเงินจากการเพิ่มทุน เพื่อขยายกิจการต่างๆ คือ โครงการเพิ่มการตั้งตู้ขายสินค้าอัตโนมัติ โครงการให้บริการระบบการรับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์(Payment Platform Provider) โครงการให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money Service) โครงการให้บริการระบบบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์แก่ศูนย์อาหาร และ/หรือร้านค้าในวงจำกัด (Closed Loop) โครงการติดตั้งเครื่องรับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์สำหรับตู้เติมเงินและตู้ขายสินค้าอัตโนมัติ และโครงการเพิ่มศูนย์กระจายสินค้าของธุรกิจตู้ขายสินค้าอัตโนมัติ ในต่างจังหวัด
“ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2563 นี้ “SABUY” มีผลประกอบการที่ดี เติบโตสวนทางสภาวะเศรษฐกิจไทยที่ได้ผลกระทบจากวิกฤติไวรัส โควิด-19 โดยในงวดครึ่งปีแรกปี 2563 นี้ บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 46.27ล้านบาท เติบโตขึ้น 530% จากงวดครึ่งปีแรกปี 2562 ที่บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 7.4 ล้านบาท โดย มีรายได้รวม 720 ล้านบาท เติบโตขึ้น 21% มีกำไรขั้นต้น 256 ล้านบาท จากงวดครึ่งปีแรกปี ในปี 2562 ที่มีรายได้รวม 593 ล้านบาท และมีกำไรขั้นต้น 165 ล้านบาท โดยรายได้จากธุรกิจตู้ขายสินค้าอัตโนมัติเติบโตสูงขึ้น ประกอบกับการควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว ทำให้อัตรากำไรสุทธิ ( Net profit margin) ของ SABUY จาก 1.2% เป็น 6.4% ในงบครึ่งปีแรกปีนี้” นายชูเกียรติกล่าว
นายรัฐชัย ธีระธนาวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม ฝ่ายวาณิชธนกิจ บริษัท หลักทรัพย์ เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นสามัญของ SABUY กล่าวว่า “หุ้นไอพีโอ “SABUY” ได้รับความสนใจในการจองซื้ออย่างสูงจากทั้งกลุ่มนักลงทุนสถาบัน นักลงทุน VI และกลุ่มนักลงทุนรายย่อย โดยหุ้นไอพีโอ จำนวน 157.02 ล้านหุ้น หรือ 15% ของทุนจดทะเบียน 1,005 ล้านบาท (หลังจากขายหุ้นเพิ่มทุน) ที่ราคา 2.50 บาท/หุ้น คิดเป็นมูลค่าการระดมทุนประมาณ 392.54 ล้านบาท โดยเป็นมูลค่าการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัทฯ จำนวน 292.54 ล้านบาท และมูลค่าการเสนอขายหุ้นสามัญเดิมโดยนายวิชัย วชิรพงศ์ จำนวน 100 ล้านบาท โดยภายหลังการระดมทุนครั้งนี้ กลุ่มรุจนพรพจีจะถือหุ้นในสัดส่วน 30 % กลุ่มวีระประวัติจะถือหุ้นในสัดส่วน 28% และสัดส่วนที่เหลือเป็นผู้ถือหุ้นรายย่อย และมีกำหนดการจะเริ่มเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ mai ในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2563 นี้
“SABUY” เป็น Growth Tech Stock หรือ หุ้นเทคโนโลยีที่มีอัตราการเติบโตสูงในอนาคต และมี Business Model ที่ดีและพิสูจน์แล้วว่าสร้างผลกำไรได้อย่างมั่นคง นอกจากนี้ SABUY มี Eco System ของตนเอง และมีแผนการขยายธุรกิจที่จะสร้างการเติบโตอย่างสูง โดยที่สำคัญ ทีมผู้บริหารระดับสูงของ SABUY เป็นทีมผู้บริหารที่มีประสบการณ์ระดับสูงจากธนาคารระดับโลก และ ธนาคารชั้นนำของไทย ที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีอย่างสูง และ ความเข้าใจในอุตสาหกรรมด้าน E-Banking และ Commerce เป็นอย่างดี นอกจากนี้ SABUY ยังมีสถานะการเงินที่แข็งแกร่ง มีทุนจดทะเบียนสูงถึง 1,005 ล้านบาท (หลังการเสนอขาย IPO) มีอัตรากำไรขั้นต้นและ อัตรากำไรสุทธิสูง และ มีอัตราหนี้สินต่อทุนต่ำ จึงมีโอกาสในการขยายกิจการด้าน Commerce & Payment Solutions ได้อีกมาก”
“SABUY” มี 4 ธุรกิจหลักคือ
- ธุรกิจตู้เติมเงินอัตโนมัติ ให้บริการธุรกรรมทางการเงินผ่านตู้เติมเงินอัตโนมัติ ภายใต้เครื่องหมายการค้า “เติมสบายพลัส” มากกว่า 52,000 ตู้
- ธุรกิจตู้ขายสินค้าอัตโนมัติ เน้นการจำหน่ายเครื่องดื่ม, ขนม และ สินค้าต่างๆ ผ่านตู้ขายสินค้าอัตโนมัติ (Vending Machine) ภายใต้เครื่องหมายการค้า “เวนดิ้งพลัส” และ “6.11” กว่า 5,700 ตู้ ครอบคลุมถึง 21 จังหวัด ทั่วประเทศ
- ธุรกิจระบบศูนย์อาหาร ให้บริการติดตั้งและวางระบบศูนย์อาหารทั้งระบบ Hardware และ Software และเป็นผู้ให้บริการจัดการศูนย์อาหารพร้อมการบำรุงรักษา มีศูนย์อาหารภายใต้การดูแลทั้งหมด 205 ศูนย์ ตามห้างสรรพสินค้า สำนักงาน โรงงาน สถานศึกษา อาทิ เทสโก โลตัส , Tops, โรบินสัน และ เทอมินอล21 เป็นต้น
- ธุรกิจให้บริการการชำระเงิน บริษัทฯจะให้บริการการชำระเงิน ผ่านบริษัทย่อย คือ บริษัท สบาย มันนี จำกัด ซึ่งได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจบริการการชำระเงินภายใต้การกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทั้งสิ้น 4 ประเภทธุรกิจ ได้แก่ การให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money License) การให้บริการรับชำระเงินด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (Payment Agent License: PA) การให้บริการสนับสนุนบริการแก่ผู้รับบัตร (Payment Facilitator License: PF) และ การให้บริการโอนเงินด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (Fund Transfer License)
ปัจจุบัน บริษัทฯ มีบริษัทย่อยทั้งหมด 3 บริษัทคือ บริษัท เวนดิ้ง พลัส จำกัด (“VDP”) เป็นตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ เช่น เครื่องดื่ม ขนม และสินค้าต่างๆ ผ่านตู้ขายสินค้าอัตโนมัติ ภายใต้เครื่องหมายการค้า “เวนดิ้งพลัส” บริษัท สบาย มันนี่ จำกัด (“SBM”) เป็นผู้ให้บริการการชำระเงิน (Payment Service Provider / Facilitator) ภายใต้เครื่องหมายการค้า “สบาย มันนี่” และบริษัท สบาย โซลูชั่นส์ จำกัด (“SBS”) เป็นผู้ให้บริการติดตั้งระบบศูนย์อาหาร บริการระบบศูนย์อาหาร และบริการซ่อมแซมบำรุงรักษาระบบศูนย์อาหาร
www.mitihoon.com