ราคาน้ำมันมีแนวโน้มขยับขึ้น หลังตลาดคาดหวังการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในสหรัฐฯ จากประธานาธิบดีคนใหม่

82

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 34-39 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 37-42 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

บทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ โดย บมจ.ไทยออยล์: ฉบับวันที่ 9 พฤศจิกายน 2563

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (9 – 13 พ.ย. 63)

ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังนักลงทุนคาดหวังที่จะเห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในสหรัฐฯ ซึ่งจะช่วยหนุนความต้องการใช้น้ำมัน ภายหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่สหรัฐฯ ในวันที่ 3 พ.ย. 63 ประกอบกับ ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นทั้งในสหรัฐฯ จีน และญี่ปุ่น นอกจากนี้ ปริมาณน้ำมันดิบในสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวลดลงหลังกำลังการผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ได้รับผลกระทบของพายุเฮอริเคนเซตา ทั้งนี้ ตลาดจับตาการประชุมของกลุ่มโอเปกเกี่ยวกับการปรับลดกำลังการผลิตซึ่งมีแนวโน้มที่จะปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มเติม หรือคงระดับการลดกำลังการผลิตที่ระดับ 7.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในปีหน้า อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงกังวลกับการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกที่ยังคงพุ่งสูงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้หลายประเทศในทวีปยุโรปประกาศมาตรการล็อกดาวน์

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:

  • ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับเพิ่ม จากการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่สหรัฐฯ ซึ่งทำให้นักลงทุนคาดหวังที่จะเห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมัน ภายหลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 พ.ย. 63 ที่ผ่านมา
  • ตลาดคาดได้รับแรงหนุนจากตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น โดยตัวเลขดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 59.3 ในเดือน ต.ค. 63 ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ที่ระดับ 55.8 โดยการพุ่งขึ้นของดัชนีภาคการผลิตได้รับแรงหนุนจากการปรับเพิ่มขึ้นของคำสั่งซื้อใหม่ซึ่งแตะระดับสูงสุดในรอบเกือบ 17 ปี ประกอบกับ ยอดสินค้าส่งออกของญี่ปุ่นขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปี นอกจากนี้ กิจกรรมภาคโรงงานของจีนยังได้แตะระดับสูงสุดในรอบ 1 ทศวรรษ ในเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งตัวเลขเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวเป็นปัจจัยที่จะทำให้ความต้องการใช้น้ำมันปรับตัวดีขึ้น
  • ปริมาณน้ำมันดิบในสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวลดลงหลัง สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสิ้นสุด ณ วันที่ 30 ต.ค. 63 ปรับลดลงกว่า 8.0 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 3 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากกำลังการผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ปรับลดลง 600,000 บาร์เรลต่อวัน ไปอยู่ที่ระดับ 10.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากผลกระทบของพายุเฮอริเคนเซตา และคาดการณ์ในสัปดาห์ถัดไปจะปรับลดลงอีก 400,000 บาร์เรลต่อวัน
  • กลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตร (โอเปกพลัส) อาจจะปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มเติมในช่วงต้นปี 2021 แทนที่จะผ่อนคลายการลดกำลังการผลิตที่ตกลงกันไว้ก่อนหน้านี้ หลังอุปสงค์น้ำมันโลกฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่คาดไว้ อย่างไรก็ตาม ซาอุดิอาระเบียและรัสเซีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตหลักในกลุ่มโอเปกพลัส มีความเห็นร่วมกันที่จะรักษาระดับการลดกำลังการผลิตที่ระดับ 7.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ต่อเนื่องจนถึงปี 64 จากเดิมสิ้นสุดปี 63 เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันยังคงถูกกดดันจากการล็อคดาวน์อีกครั้งในยุโรปและการผลิตของลิเบียที่เพิ่มมากขึ้น โดยจะมีการประชุมโอเปกในวันที่ 30 พ.ย. – 1 ธ.ค. 63
  • ลิเบียปรับเพิ่มการส่งออกน้ำมันดิบ หลังสามารถกลับมาดำเนินการผลิตได้เพิ่มสูงขึ้น โดยมีแผนที่จะเพิ่มกำลังการผลิตให้ถึงระดับ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน หลังจากที่กลุ่มต่อต้านรัฐบาลประกาศยุติการปิดล้อมโรงผลิตน้ำมันภายในประเทศ
  • นักลงทุนยังคงกังวลการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกที่ยังคงพุ่งสูงอย่างต่อเนื่อง โดยหลายประเทศในยุโรป เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี และอิตาลี ต่างประกาศมาตรการล็อกดาวน์รอบใหม่ในช่วงเดือน พ.ย. นี้ เพื่อยกระดับการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส
  • เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคจีนเดือน ต.ค. 63 จีดีพียูโรโซนไตรมาส 3/63 การผลิตภาคอุตสาหกรรมยูโรโซนเดือน ก.ย. 63 และดัชนีราคาผู้บริโภคสหรัฐฯ เดือน ต.ค. 63

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (2 – 6 พ.ย. 63)

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 1.35 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 37.14 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สำหรับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 1.99 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 39.45 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 40.69 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยได้รับแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับลดลงกว่า 8.0 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.0 ล้านบาร์เรล นอกจากนี้ ตลาดคาดว่าสหรัฐฯ จะมีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมัน  ภายหลังจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกยังคงพุ่งสูงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้หลายประเทศในยุโรปประกาศมาตรการล็อกดาวน์เพิ่มเติมเพื่อยกระดับการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส