กรุงศรีคาดเงินบาทซื้อขายในกรอบ 30.00-30.40 มองสินทรัพย์เสี่ยงได้แรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั่วโลก

48

มิติหุ้น-กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 30.00-30.40 ต่อดอลลาร์เทียบกับระดับปิดแข็งค่าที่ 30.20 ต่อดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว  โดยเงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 10 เดือนครั้งใหม่ ตามปัจจัยหนุนจากความชัดเจนเรื่องผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ และข่าวการพัฒนาวัคซีนหนุนเงินทุนไหลเข้า ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิในตลาดหุ้นและพันธบัตรไทยด้วยมูลค่าสูงถึง 3.10 หมื่นล้านบาท และ 1.88 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่า แม้ว่าข่าวการพัฒนาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพในการป้องกัน COVID-19 ช่วยกระตุ้นคาดการณ์ที่สดใสของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่นักลงทุนอาจเพิ่มความระมัดระวังในการซื้อขายท่ามกลางข้อกังวลเกี่ยวกับวิธีการขนส่งวัคซีนและการเก็บรักษา รวมถึงการแข่งกับเวลาในการพัฒนาวัคซีน ขณะที่ยอดผู้ป่วยในสหรัฐฯ กำลังเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม สินทรัพย์เสี่ยงอาจยังคงได้แรงหนุนจากท่าทีของผู้ดำเนินนโยบายการเงินในกลุ่มประเทศหลักที่ยังส่งสัญญาณสนับสนุนตลาดการเงินและเศรษฐกิจต่อไป ทั้งนี้ ประธานธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) กล่าวว่าจะเดินหน้าเพิ่มการผ่อนคลายทางการเงินในเดือนธันวาคมแม้มีความคืบหน้าในการพัฒนาวัคซีน สอดคล้องกับประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ซึ่งแสดงความเห็นเชิงบวกต่อผลการทดลองวัคซีน แต่เน้นย้ำว่าเศรษฐกิจยังอยู่ในภาวะยากลำบากและเร็วเกินไปที่จะให้ความมั่นใจในระยะสั้น

สำหรับปัจจัยในประเทศ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีแนวโน้มคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 0.50% ในการประชุมวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 จากท่าทีของทางการที่มุ่งเน้นการใช้เครื่องมือที่ยืดหยุ่นและแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุดเพื่อประสิทธิผลสูงสุด ส่วนข้อมูลล่าสุดจากสภาพัฒน์ฯ บ่งชี้ว่าจีดีพีไตรมาส 3/2563 หดตัว 6.4% เทียบปีต่อปี แต่ขยายตัว 6.5% เมื่อเทียบรายไตรมาส โดยตัวเลขดังกล่าวดีกว่าที่นักวิเคราะห์ประเมินไว้ นอกจากนี้ สภาพัฒน์ฯ คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะหดตัว 6.0% ในปีนี้ก่อนจะเติบโต 3.5-4.5% ในปี 2564 อนึ่ง แม้บรรยากาศการลงทุนในตลาดการเงินสดใสขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่ข่าววัคซีนหนุนความหวังเกี่ยวกับการท่องเที่ยวแต่เรามองว่าภาคเศรษฐกิจจริงและการจ้างงานในภาพใหญ่ยังคงเปราะบางและมีทิศทางฟื้นตัวอย่างช้าๆ

www.mitihoon.com