สดช.ปลื้มคลาวด์ภาครัฐสุดปังแจงยอดภาครัฐขอใช้ GDCC พุ่งทะลุเป้าถึงปี 2565

197

มิติหุ้น-  สดช. ปลื้มภาครัฐตื่นตัวตอบรับล้นหลามรอเข้าใช้ระบบคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC คิวยาวไปถึงปี 2565 เร่งขยายคาพาซิตี้รองรับความต้องการ พร้อมจัดกิจกรรมพัฒนาบุคลากรต่อเนื่อง เดินหน้าผลักดันการบริหารจัดการภาครัฐสู่มิติใหม่ด้วยบิ๊กดาต้า
สํานักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.)  โชว์ผลงานระบบคลาวด์กลางภาครัฐ 
GDCC ซึ่งดำเนินการโดยบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT ได้รับการตอบรับจากหน่วยงานภาครัฐอย่างล้นหลามเกินคาด จากความตื่นตัวของภาครัฐในการให้บริการประชาชนผ่านระบบดิจิทัล  เฟสแรกมีหน่วยงานรัฐเข้าใช้งานระบบเต็มจำนวน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการโอนย้ายระบบงานขึ้นสู่เซิร์ฟเวอร์เสมือน (Virtual Machine) 21,000 VM ของคลาวด์ GDCC และยังคงมีคำขอเข้าใช้ระบบในคิวเป็นจำนวนมาก  สดช. จึงมีแผนขยายจำนวนเซิร์ฟเวอร์เสมือนเพื่อรองรับหน่วยงานรัฐที่อยู่ระหว่างรอเข้าใช้งาน GDCC
          สดช.ยังเน้นความสำคัญการพัฒนาบุคลากรภาครัฐ ให้มีทักษะด้านคลาวด์คอมพิวติ้ง   โดยโครงการ GDCC ได้จัดอบรมพัฒนาเจ้าหน้าที่ไอทีภาครัฐให้เป็นผู้เชี่ยวชาญระบบคลาวด์แล้วกว่า 500 คน เพื่อที่สามารถใช้งานระบบคลาวด์ได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ  ล่าสุดได้จัดสัมมนา  Innovation Live Forum ครั้งที่ 2  หัวข้อ “EMPOWEWING DATA SHARING Making Impact with DATA” ระดมผู้แทนภาคส่วนต่าง ๆ ย้ำประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากการใช้ข้อมูลร่วมกันบนระบบ GDCC  โดยมีผู้ให้บริการดิจิทัล ได้แก่ CAT, AWS, Microsoft และ Huawei  อัปเดตเทรนด์ความรู้ ความเข้าใจและมุมมองให้หน่วยงานภาครัฐมั่นใจและเห็นความสำคัญในการนำไปต่อยอดการใช้งานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานสร้างศักยภาพประเทศไทยด้วย Big Data   

          ศ.ดร.วันประชา เชาวลิตวงศ์   ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารข้อมูลและดาต้าอนาไลติกส์ ธนาคารแห่งประเทศไทย ให้มุมมองว่าในปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทยจำเป็นต้องใช้ข้อมูลจากหน่วยงานภาครัฐและสถาบันการเงินเป็นจำนวนมากในการวิเคราะห์และกำหนดนโยบายหรือแนวทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ  GDCC จะช่วยให้ธนาคารแห่งประเทศไทยสามารถจับภาวะเศรษฐกิจได้รวดเร็วขึ้น  ภาครัฐจะสามารถออกนโยบายได้ตรงจุดและเกิดประโยชน์กับประชาชน
ผศ.ดร.ปิยะบุตร บุญอร่ามเรือง อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า องค์ประกอบสำคัญของการใช้ข้อมูลร่วมกันก็คือผู้ปฏิบัติงาน 
(People) กระบวนการ (Process) และเทคโนโลยี (Technology)  โดยสิ่งที่จะเป็นอุปสรรคสำคัญคือความเชื่อมั่นในกระบวนการ  แต่ในปัจจุบันมีกฎหมายที่ออกมารองรับการใช้ข้อมูลร่วมกันของหน่วยงานภาครัฐแล้ว  โดยเฉพาะ พ.ร.บ. การบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562  พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ.2562  และ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล  หากผู้บริหารในระดับนโยบายให้ความสำคัญและผลักดัน จะทำให้ผู้ปฏิบัติงานมีความมั่นใจมากขึ้น

          ด้าน ดร.ธัชพล โปษยานนท์  กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิสโก้ ซีสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด  เปิดเผยว่าในภาคเอกชนมีการแชร์ข้อมูลในทุกด้าน เช่น ด้านการเงิน โลจิสติกส์ การขายสินค้า ซึ่งมองเผิน ๆ ข้อมูลอาจไม่มีความเกี่ยวข้องกัน  แต่ถ้านำข้อมูลมารวมกันจะเกิดผลลัพธ์ที่มีประโยชน์มหาศาล  โดยเฉพาะข้อมูลจากภาครัฐที่มีเป็นจำนวนมาก จะช่วยให้ภาคเอกชนสามารถประสานงานกับภาครัฐได้สะดวกขึ้น  โดยข้อมูลที่จัดเก็บจะต้องเป็นข้อมูลที่มีความแม่นจำ มีคุณภาพ และมีคุณค่า โดยมองจากความต้องการของประชาชนเป็นหลัก

           ทั้งนี้  สดช.เชื่อมั่นว่าจากความสำเร็จของ GDCC ซึ่งได้รับการตอบรับจากภาครัฐที่น่าพึงพอใจดังกล่าว จะนำไปสู่การใช้ข้อมูลบิ๊กดาต้าร่วมกันอย่างเป็นระบบและปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการภาครัฐสู่มิติใหม่ในที่สุด  โดย สดช.กำหนดจะจัดงาน Gov Cloud 2020  “The Future of Digital Government”  เพื่อยกระดับภาครัฐก้าวสู่รัฐบาลดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ  ในวันที่ 26 พ.ย.63 ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี 

www.mitihoon.com