มิติหุ้น-ก.ล.ต. เปิดรับฟังความคิดเห็นการออกและแก้ไขประกาศที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับการออกและเสนอขายตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-linked Bond) เพื่อยกระดับบทบาทของตลาดทุนที่มีส่วนสำคัญในการแก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนให้แก่กิจการในกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ ให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น
ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มีนโยบายส่งเสริมการออกและเสนอขายตราสารหนี้ด้านความยั่งยืน ทั้งตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond) ตราสารหนี้เพื่อพัฒนาสังคม (Social Bond) หรือตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) มาอย่างต่อเนื่องนั้น ปัจจุบันตลาดทุนในระดับสากลได้พัฒนาตราสารหนี้ด้านความยั่งยืนประเภทใหม่ คือ Sustainability-linked Bond เพื่อเป็นเครื่องมือระดมทุนสำหรับกิจการที่คำนึงถึงความยั่งยืนและผนวกปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) เข้ากับการดำเนินธุรกิจ โดยมีเงื่อนไขให้ผลตอบแทนอ้างอิงกับตัวชี้วัดและเป้าหมายด้านความยั่งยืนที่ผู้ออกตราสารหนี้กำหนดไว้ เช่น การกำหนดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงกับเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งผู้ออกจะให้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นหากไม่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
นอกจากนี้ Sustainability-linked Bond ไม่มีข้อกำหนดเรื่องวัตถุประสงค์การใช้เงินแบบเฉพาะเจาะจง แต่จัดสรรเงินไปใช้เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของกิจการโดยรวม ซึ่งจะต่างจาก Green Bond Social Bond และ Sustainability Bond จึงเหมาะสำหรับกิจการที่อาจมีโครงการเพื่อสังคมหรือสิ่งแวดล้อมมูลค่าไม่มาก และสอดรับกับแนวนโยบายของ ก.ล.ต. ที่ต้องการให้กิจการสามารถผนวกปัจจัย ESG เข้ากับการดำเนินธุรกิจและเปิดเผยข้อมูลในแบบ 56-1 One Report
ก.ล.ต. จึงมีแนวคิดที่จะออกหลักเกณฑ์เพื่อรองรับการออกและเสนอขาย Sustainability-linked Bond ให้มีข้อปฏิบัติตามมาตรฐานสากล เช่น ลักษณะสำคัญของตราสาร โดยอ้างอิงกับหลักเกณฑ์พื้นฐานสำหรับการออกและเสนอขายตราสารหนี้ และมาตรฐานสากลที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งกำหนดให้เปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติม และกำหนดให้มีผู้เชี่ยวชาญภายนอก (external reviewer) เข้ามาช่วยประเมินการดำเนินงานตามตัวชี้วัดและเป้าหมายด้านความยั่งยืนภายหลังการออกและเสนอขายตราสาร การออกหลักเกณฑ์นี้จะช่วยอำนวยความสะดวกและสนับสนุนกิจการที่ต้องการระดมทุนผ่าน Sustainability-linked Bond และยกระดับบทบาทของตลาดทุนที่มีส่วนสำคัญในการแก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนให้แก่กิจการในกลุ่มอุตสาหกรรมได้ครอบคลุมยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ก.ล.ต. มีแนวคิดที่จะยกเว้นค่าธรรมเนียมการยื่นคำขออนุญาตและแบบ filing ให้กับ Sustainability-linked Bond เช่นเดียวกับ Green Bond Social Bond และ Sustainability Bond เนื่องจากผู้ออกตราสารหนี้ในกลุ่มความยั่งยืนจะมีภาระและต้นทุนมากกว่าการออกตราสารหนี้ทั่วไป
ทั้งนี้ ก.ล.ต. ได้เผยแพร่เอกสารรับฟังความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวไว้ที่เว็บไซต์ ก.ล.ต. https://www.sec.or.th/TH/Pages/PB_Detail.aspx?SECID=671 ผู้เกี่ยวข้องและผู้ที่สนใจสามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่เว็บไซต์ หรือทาง e-mail: debt@sec.or.th จนถึงวันที่ 21 ธันวาคม 2563
www.mitihoon.com