สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จัดประชุมคณะทำงานจัดทำหลักสูตรอบรม “ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน สำหรับภาคธุรกิจในตลาดทุน”* เพื่อหารือหลักสูตรอบรมด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนให้แก่ภาคธุรกิจในตลาดทุนไทยตามที่ได้รับมอบหมายพันธกิจตามแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2562 – 2565) หรือ National Action Plan on Business and Human Rights (แผน NAP)โดยใช้หลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UNGPs) เพื่อช่วยให้บริษัทจดทะเบียนสามารถผนวกเรื่องสิทธิมนุษยชนเข้ากับการดำเนินธุรกิจ และจัดทำรายงานในแบบ 56-1 One Report ได้ภายในปี 2565 โดยคณะทำงานเห็นชอบหลักสูตรตามที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสนอ
เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2563 ก.ล.ต. จัดประชุมคณะทำงานจัดทำหลักสูตรอบรม “ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน สำหรับภาคธุรกิจในตลาดทุน” (คณะทำงาน) ครั้งที่ 2/2563 โดยมีนางสิริวิภา สุพรรณธเนศ รองเลขาธิการ ก.ล.ต. เป็นประธาน พร้อมทั้งที่ปรึกษาและคณะทำงาน อาทิ ศาสตราจารย์กิตติคุณวิทิต มันตาภรณ์ รองศาสตราจารย์ทองทิพภา วิริยะพันธุ์ ดร.เนติธร ประดิษฐ์สาร รองเลขาธิการสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย นางพิมพรรณ ดิศกุล ณ อยุธยา ผู้อำนวยการเครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย เพื่อหารือหลักสูตรอบรมด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ให้แก่ ภาคธุรกิจในตลาดทุนไทยตามที่ได้รับมอบหมายพันธกิจตามแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2562 – 2565) หรือ แผน NAP โดยใช้หลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UNGPs) ซึ่งหลักสูตรดังกล่าวจะช่วยให้ภาคธุรกิจสามารถไปปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจได้
การประชุมครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ คณบดี คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของคณะทำงาน เป็นผู้นำเสนอหลักสูตรดังกล่าว ในฐานะหัวหน้าโครงการธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนสำหรับภาคธุรกิจในตลาดทุนไทย (ระยะที่ 1) โดยที่แผนการดำเนินการในช่วงต้นจะเริ่มจากจัดสัมมนากลุ่มย่อยผู้บริหารระดับสูง – กลาง เพื่อระดมความคิดเห็นเพื่อรับทราบข้อมูลที่เหมาะสมกับแนวทางปฏิบัติของธุรกิจภายใต้กรอบ UNGPs และเพื่อใช้สำหรับจัดทำแนวทางสำหรับบริษัทจดทะเบียนเพื่อให้สามารถจัดทำข้อมูลด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนในแบบรายงานเดียว (แบบ 56-1 One report) ได้ พร้อมทั้งจะจัดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น (CEO Dialogue) เพื่อให้เกิดความมุ่งมั่นในเชิงนโยบาย (Policy commitment) ของคณะกรรมการและผู้บริหาร เพื่อนำไปสู่วัฒนธรรมองค์กรและการจัดทำนโยบายที่สนับสนุนการดำเนินการดังกล่าว และจะจัดให้มีหลักสูตรอบรม “หลักสูตรธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนสำหรับบริษัทจดทะเบียน” สำหรับบริษัทจดทะเบียนทุกแห่งต่อไป
ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะทำงานเห็นชอบให้คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้จัดทำและกำหนดโครงสร้างหลักสูตรอบรมและสัมมนา โดยคาดว่าจะเริ่มจัดอบรมให้แก่บริษัทจดทะเบียนได้ตั้งแต่ไตรมาส 1 ของปี 2564 เป็นต้นไป และไม่มีค่าใช้จ่าย
www.mitihoon.com