TBCSD โชว์ผลงานปี 63-เปิดแผนปฏิบัติการปี 64  รวมพลังองค์กรหลักร่วมขับเคลื่อนธุรกิจไทยสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

118

 

มิติหุ้น-องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) อวดผลงานปี 2563 จับมือพันธมิตรและภาคีเครือข่าย ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาสำคัญของประเทศ (Country Issue) ทั้งในประเด็น PM2.5 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ขยะพลาสติก และขยะอิเล็กทรอนิกส์ พร้อมประกาศแผนดำเนินงานปี 2564 เดินหน้าส่งเสริมภาครัฐและภาคเอกชนร่วมแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ตอบโจทย์ทิศทางการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ด้าน 3 องค์กรพันธมิตร “สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย-สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย-ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย” แนะกลยุทธ์การเติบโตของธุรกิจในยุค New Normal

นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) เปิดเผยว่า TBCSD ก่อตั้งขึ้นในปี 2536 จากการรวมตัวกันของภาคธุรกิจระดับแนวหน้าของประเทศไทยที่เป็นผู้นำด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อส่งเสริมและขับเคลื่อนให้ภาครัฐและภาคธุรกิจมีบทบาทสำคัญในการร่วมแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายระดับประเทศ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนสร้างสรรค์กิจกรรมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร และแนวทางปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อม อันจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน โดยปัจจุบัน TBCSD มีสมาชิกกว่า 40 องค์กร ครอบคลุมกลุ่มอุตสาหกรรมหลักของประเทศไทย ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม กลุ่มอุตสาหกรรมธุรกิจการเงิน กลุ่มอุตสาหกรรมบริการ กลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยี กลุ่มอุตสาหกรรมสินค้าอุตสาหกรรม กลุ่มอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง กลุ่มอุตสาหกรรมทรัพยากร กลุ่มอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภค และกลุ่มอื่นๆ 

“ในปี 2563 ทุกประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยได้เผชิญกับความท้าทายในรูปแบบใหม่ จากการแพร่ระบาดของโควิด19 ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนทุกภาคส่วน ทั้งระบบเศรษฐกิจ สังคม การเมือง รวมถึงวิถีการดำเนินชีวิต โดยมีผู้ติดเชื้อทั่วโลกมากกว่า 50 ล้านคนและผู้เสียชีวิตทะลุ 1 ล้านคน ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะสามารถรับมือกับโควิด19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และได้รับการจัดอันดับดัชนี Global COVID-19 Index (GCI) เป็นอันดับ 1 ที่ฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด19 จาก 184 ประเทศทั่วโลก แต่สถานการณ์ทั่วโลกยังมีความน่าเป็นห่วงและภาคธุรกิจได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง ทั้งรายได้ที่ลดลงและความไม่แน่นอนของธุรกิจ ภาคธุรกิจจึงต้องวิเคราะห์โอกาส ปรับตัวด้วยการปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจตาม New Normal หรือชีวิตวิถีใหม่ มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อช่วยลดต้นทุน ปรับปรุงคุณภาพการผลิตและสินค้าให้ตรงกับความต้องการของตลาด พัฒนายุทธศาสตร์เพื่อการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน และบริหารความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต”

·      TBCSD จับมือภาคีเครือข่ายรวมพลังเข้มแข็งเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ดร.วิจารย์ สิมาฉายา เลขาธิการ TBCSD และผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า ในปี 2563 TBCSD ได้ทำงานร่วมกับสมาชิกในการแก้ไขปัญหาสำคัญของประเทศ (Country Issue) ด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศ ในประเด็นหลักๆ ได้แก่ ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน(PM2.5)
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (
Climate Change) ขยะพลาสติก ขยะอิเล็กทรอนิกส์ และความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นต้น โดยความร่วมมือจากสมาชิก อาทิ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด และธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) โดยร่วมกันวางแผนการดำเนินงานสำหรับภาคเอกชนไทยเพื่อเป็นต้นแบบที่ดีและทำงานร่วมกับภาคส่วนอื่นๆ เพื่อนำเสนอแผนการรับมือกับปัญหาต่างๆ และแนวทางปฏิบัติให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม  และการดำเนินงานร่วมกับเครือข่ายและพันธมิตร 3 องค์กร ได้แก่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อยกระดับการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

“ในปี 2564 TBCSD จะยังคงเดินหน้าขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาและระดมความร่วมมือในประเด็นที่เป็นความท้าทายของประเทศอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเผยแพร่และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถของสมาชิก เพื่อให้มีความเข้าใจที่ดีและดำเนินงานในประเด็นที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงมีกิจกรรมส่งเสริมเยาวชนไทย เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Youth in Charge) และที่สำคัญคือ การผลักดันให้เกิดนโยบายที่เป็นธรรมกับทุกภาคส่วนและการปฏิบัติให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม”

·      3 องค์กรพันธมิตรแนะกลยุทธ์ทำธุรกิจในยุค New Normal

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากวิกฤตด้านทรัพยากรธรรมชาติที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจที่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงด้านอุปทานจากการขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิตและปัญหามลภาวะของสิ่งแวดล้อม รวมทั้งโควิด-19 ทำให้ต้องหันมาให้ความสำคัญกับการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ปรับเปลี่ยนทิศทางการพัฒนาให้หันมาเน้นเรื่องของการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) และการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมสู่การเป็น Thailand 4.0 ซึ่งสภาอุตสาหกรรมฯ ได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้สมาชิกมีการผลิตสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตสู่การเป็นโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ รวมทั้งส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมมีการบริหารจัดการน้ำ สิ่งแวดล้อม ซากผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ภายใต้หลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และการนำระบบ Internet of Things (IoT) มาประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาสู่การเป็น Smart Industry ให้ตอบรับยุค New Normal และดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน

ด้าน นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หอการค้าไทยฯ มุ่งหวังจะใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาและยกระดับความสามารถทางการแข่งขันให้กับสมาชิกและผู้ประกอบการทั่วประเทศ โดยมุ่งเน้นใน 3 Value Chain คือ 1.การค้าและการลงทุน 2.เกษตรและอาหาร
และ 
3.การท่องเที่ยวและบริการ ซึ่งการเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการของผู้ประกอบการจะเป็นคำตอบสำหรับการก้าวผ่านวิกฤตโควิด-19 และขับเคลื่อนธุรกิจต่อไปได้ รวมถึงการรณรงค์และสนับสนุนเรื่องการสร้างความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการเกี่ยวกับ Circular Economy ในเรื่องของ Food Waste Plastic waste และ
อากาศสะอาด โดยที่ทุกคนต้องมีส่วนร่วม ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนต้องร่วมมือกัน มองผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก เพื่อให้ประเทศไทยเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

ดร.ภากร  ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภายใต้บริบทปัจจุบันที่สถานการณ์ต่างๆ เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ภาคธุรกิจของไทยต้องปรับตัวและมุ่งเน้นประเด็นด้านความยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งไม่เพียงแต่ดีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังทำให้ภาคธุรกิจบริหารความเสี่ยงได้ดีและเติบโตอย่างแข็งแกร่งและต่อเนื่อง ในส่วนของตลาดหลักทรัพย์ฯ มุ่งส่งเสริมบริษัทจดทะเบียนให้เห็นถึงความสำคัญในเรื่องของการดำเนินธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี  (Environment, Social and Governance : ESG) โดยผู้ลงทุนทั้งสถาบันและรายบุคคลทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญกับการลงทุนในบริษัทที่มีคะแนน ESG สูง เพราะเชื่อว่าอาจให้ผลตอบแทนการลงทุนที่ดีอีกด้วย

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวในฐานะผู้แทน TBCSD ว่า ผู้ประกอบการต้องรักษาความเข้มแข็งของธุรกิจหลักและสร้างธุรกิจใหม่แทนที่การเติบโตในรูปแบบเดิม โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสู่ทุกภาคส่วน ยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ พร้อมพัฒนาสังคมและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย ยกตัวอย่าง กลุ่ม ปตท. ได้นำแนวคิด 4R (Resilience, Restart, Re-imagination, Reform) มาประยุกต์ใช้บริหารจัดการเพื่อรองรับวิกฤตและลดผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจในช่วงการระบาด ตามกรอบการบริหารจัดการความยั่งยืน ESG ควบคู่กับการดำเนินงานตามภารกิจการสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ และแสวงหาการลงทุนในรูปแบบใหม่เพื่อต่อยอดธุรกิจและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

www.mitihoon.com