โดย ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย
เศรษฐกิจไทยเลี่ยงล็อกดาวน์ แต่เสี่ยงซึมยาว
มิติหุ้น-การกลับมาระบาดของไวรัสโควิดรอบใหม่ได้ส่งผลกระทบต่อการบริโภคภาคเอกชนอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการท่องเที่ยวในประเทศที่มีโอกาสลดลงต่อเนื่องไปถึงกลางปีหน้า ส่งผลกระทบธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร ขนส่ง และธุรกิจอื่นที่เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว ประชาชนในพื้นที่ที่มีการระบาดมากก็จะระมัดระวังการเดินทางออกจากบ้าน ธุรกิจและโรงเรียนต่างๆ อาจเริ่มให้ทำงานและเรียนหนังสือจากที่บ้านในช่วงไตรมาสแรก ซึ่งจะกระทบกิจกรรมทางเศรษฐกิจในกลุ่มค้าปลีก โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่มีช่องทางการขายออนไลน์ แม้เศรษฐกิจไทยจะไม่หดตัวรุนแรงเหมือนที่เราเผชิญการล็อกดาวน์ในช่วงไตรมาสสอง เพราะภาครัฐมีการผ่อนคลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจตามพื้นที่บ้าง แต่จากการระบาดที่ยังมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ซึ่งมีผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค อีกทั้งผู้ประกอบการที่ขายสินค้าและอาหารได้ลดลงในช่วงที่คนจำนวนมากเลี่ยงการเดินทางออกนอกบ้านทำให้ขาดรายได้ และอาจกระทบการจ้างงาน แม้การว่างงานอาจไม่เพิ่มขึ้นมากนัก แต่ชั่วโมงการทำงานอาจลดลง ส่งผลให้รายได้นอกภาคเกษตรยังคงอ่อนแอในปี 2564 การบริโภคภาคเอกชนจึงมีโอกาสอ่อนแอลงกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้าและมีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจไทยจะยังคงซึมยาวตลอดทั้งปี
ทุเรียนโมเดล – กรอบนอก นุ่มใน
แม้การบริโภคในประเทศมีความเสี่ยงหดตัวมากกว่าที่คาดในช่วงไตรมาสแรกและอาจฟื้นตัวช้า แต่เศรษฐกิจไทยน่าจะได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการส่งออกสินค้าในปีหน้า โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลในต่างประเทศออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและจ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการว่างงานหรือรายได้ที่ลดลงจากโควิด-19 ประกอบกับสภาพคล่องในตลาดการเงินที่มีสูงจากการออกมาตรการคิวอีและดอกเบี้ยต่ำ ได้ส่งผลให้การบริโภคและการลงทุนในต่างประเทศฟื้นตัวได้เร็วแม้มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มสูงก็ตาม ทั้งนี้ อุปสงค์ต่างประเทศที่ฟื้นตัวเร็วโดยเฉพาะในสหรัฐและจีน จะช่วยสนับสนุนการส่งออกสินค้ากลุ่มอาหาร อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ชิ้นส่วนได้ในปีหน้า นอกจากนี้ สินค้ากลุ่มเคมีภัณฑ์และกลุ่มสินค้าเกษตรน่าจะราคาสูงขึ้นกว่าปีนี้ตามราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น จะช่วยให้การส่งออกของไทยไปอาเซียนดีขึ้น โดยเรามองว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับไปสู่โมเดลทุเรียนอีกครั้ง คือ อุปสงค์ข้างนอกแข็งแกร่งสนับสนุนการส่งออกสินค้า แต่อุปสงค์ในประเทศอ่อนแอกระทบการบริโภคและการจ้างงาน นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังเผชิญปัญหาการฟื้นตัวที่ไม่เสมอภาคกัน หรือ uneven recovery หรือ K-shaped recovery กล่าวคือ คนมีรายได้ระดับกลาง-บน และมนุษย์เงินเดือน และธุรกิจขนาดใหญ่ น่าจะยังสามารถเป็นกำลังหลักในการประคองเศรษฐกิจได้ มีสภาพคล่องล้น แต่อีกด้านคือคนมีรายได้น้อย ผู้ประกอบการอาชีพอิสระ และธุรกิจขนาดเล็ก น่าจะยังคงประสบปัญหาทางเศรษฐกิจลากยาวไปในปีหน้าจากรายได้ที่ยังคงอ่อนแอตามกำลังซื้อในประเทศ
ความหวัง-ความเสี่ยง เศรษฐกิจไทยปี 2564
ความหวังที่จะช่วยกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศน่าจะมาจากกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการเร่งเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ ทั้งการจ้างงานโดยรัฐบาลผ่านโครงการสร้างสาธารณูปโภคในชนบท การเร่งการลงทุนภาครัฐ การโอนเงินดูแลผู้มีรายได้น้อย หรือมาตรการลดรายจ่าย เช่น โครงการคนละครึ่ง และอาจเห็นการสร้างความเชื่อมั่นให้คนมีรายได้สูงมีส่วนกระตุ้นการบริโภคผ่านมาตรการภาษีเพิ่มเติม ด้านธปท. น่าจะหาทางผ่อนคลายเกณฑ์ในการอัดฉีดสภาพคล่องให้ธุรกิจขนาดเล็กผ่านซอฟท์โลน และอาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมเพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจและลดรายจ่ายด้านดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการและครัวเรือน อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยเผชิญความเสี่ยงต่อเนื่องจากปีนี้จากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดเพิ่มสูงขึ้น และจากความไม่แน่นอนทางการเมืองที่กระทบความเชื่อมั่นนักลงทุนและผู้บริโภค แต่เรามองว่าความเสี่ยงในประเทศยังไม่น่ารุนแรงเท่าความเสี่ยงจากต่างประเทศ เช่น การกีดกันทางการค้าที่อาจมีต่อเนื่องในสมัยไบเดน และจากปัญหาเงินร้อนที่อาจมาทะลักเข้าตลาดทุนไทยตามสภาพคล่องที่ล้นในต่างประเทศส่งผลให้เงินบาทแข็งและกระทบความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออก
สรุปภาพรวมเศรษฐกิจไทย
สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ได้ปรับลดการคาดการณ์เศรษฐกิจปี 2563 ลงเล็กน้อยจาก -6.6% เป็น -6.7% และในปี 2564 จาก 4.1% เป็น 2.6% โดยเพิ่มสมมติฐานสำคัญสามประการ เรื่องแรกคือ การระบาดของโควิด-19 ลากยาวต่อเนื่องในช่วงไตรมาสแรกและการรักษาระยะห่างที่ยังมีความจำเป็นตลอดทั้งปี เรื่องที่สองคือ ปัญหาทางการเมืองที่อาจกลับมากระทบความเชื่อมั่นนักลงทุนและผู้บริโภคในปีหน้าหากรัฐสภาและผู้ประท้วงไม่สามารถหาข้อตกลงร่วมกันได้อย่างรวดเร็ว และประการที่สามคือ ความล่าช้าในการเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศ ทั้งจากการระบาดในต่างประเทศ และการที่คนในประเทศยังไม่ได้รับวัคซีน ด้านอัตราแลกเปลี่ยน เราคงมุมมองการแข็งค่าของเงินบาทไว้ที่ระดับ 28.6 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในปลายปีหน้าจากปัญหาเงินร้อนที่จะทะลักเข้าตลาดทุนไทย ประกอบกับการที่ประเทศไทยยังคงเกินดุลการค้าในระดับที่สูงซึ่งสนับสนุนให้เงินบาทแข็งค่าลากยาว ในส่วนของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย มีโอกาสที่คณะกรรมการนโยบายการเงินจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงสู่ระดับ 0.25% เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไทย ทั้งนี้ เรามองว่าแม้เศรษฐกิจไทยเสี่ยงฟื้นตัวช้าในปี 2564 แต่หลังจากคนไทยได้รับวัคซีนมากขึ้นและมีการควบคุมการระบาดได้ดีขึ้นในต่างประเทศ การท่องเที่ยวน่าจะกลับมาและน่าจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยเร่งตัวได้ดีขึ้นในปี 2565
www.mitihoon.com