มิติหุ้น – TPLAS ชูกลยุทธ์อัพมาร์จิ้น เร่งเครื่องเพิ่มกำลังผลิตสินค้าใหม่กล่องกระดาษบรรจุอาหารเกือบ 2 เท่าตัว แตะ 31 ล้านใบต่อปี เพิ่มมูลค่าสินค้าตอบโจทย์ดีมานด์ผู้บริโภครักษ์สิ่งแวดล้อม เตรียมรีแบรนด์ชื่อสินค้าใหม่ภายใต้ “Beat box” กลางเดือน ก.พ. นี้ ด้านผลิตภัณฑ์ถุงบรรจุอาหารดีมานด์ยังพุ่งต่อเนื่อง ดันรายได้รวมทั้งปี 64 โตไม่ต่ำกว่า 10% จากปีก่อน
นาย อภิรัตน์ ธีระรุจินนท์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยอุตสาหกรรมพลาสติก (1994) จำกัด (มหาชน) หรือ TPLAS ผู้นำด้านการผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ถุงบรรจุอาหาร และ ถุงหูหิ้ว ภายใต้ตราสินค้า “หมากรุก” และฟิล์มยืดห่อหุ้มอาหาร ภายใต้ตราสินค้า “Vow Wrap” และบรรจุภัณฑ์กล่องกระดาษบรรจุอาหาร ภายใต้แบรนด์ “B-LEAF” เปิดเผยว่า บริษัทฯ วางกลยุทธ์การดำเนินงานเชิงรุกในปี 2564 โดยมุ่งเน้นเพิ่มสัดส่วนยอดขายสินค้าบรรจุภัณฑ์กล่องกระดาษบรรจุอาหาร ที่มีอัตรากำไรขั้นต้นที่ดีกว่าบรรจุภัณฑ์พลาสติก รวมถึงเน้นกระตุ้นการจัดกิจกรรมทางการตลาดมากขึ้น เพื่อตอบโจทย์นโยบายบริษัทฯ ที่ต้องการยกระดับศักยภาพการทำกำไรของบริษัทฯ ให้มีประสิทธิภาพ ให้สอดคล้องไปกับแผนการขยายกำลังการผลิตสินค้าบรรจุภัณฑ์กล่องกระดาษบรรจุอาหาร ที่เร่งเดินหน้าลงทุนซื้อเครื่องจักรใหม่เพิ่มเป็น 10 เครื่องจากปัจจุบันมีอยู่ 4 เครื่อง ใช้งบลงทุนประมาณ 2-3 ล้านบาท ส่งผลให้กำลังการผลิตสินค้าบรรจุภัณฑ์กล่องกระดาษบรรจุอาหาร จะเพิ่มขึ้นเป็น 31 ล้านใบต่อปีจากปัจจุบัน 12 ล้านใบต่อปี โดยคาดว่าจะสามารถเริ่มทดสอบและเดินเครื่องได้เต็มกำลังการผลิตได้ช่วงกลางเดือน ก.พ. นี้
นอกจากนี้ บริษัทฯ เตรียม Rebranding ชื่อสินค้าบรรจุภัณฑ์กล่องกระดาษบรรจุอาหาร ภายใต้ชื่อ “B e a t B o x” จากเดิม “B-LEAF” ซึ่งคาดว่าจะเปิดตัวในช่วงกลางเดือน ก.พ. นี้เช่นกัน เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคที่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ และตอบสนองในการเข้าถึงความต้องการของลูกค้าที่หลากหลายมากขึ้น
“จากแผนการมุ่งเน้นเพิ่มสัดส่วนยอดขายสินค้าบรรจุภัณฑ์กล่องกระดาษบรรจุอาหาร ทำให้ล่าสุดบริษัทฯ ก็อยู่ระหว่างศึกษาแผนเพิ่มไลน์ผลิตใหม่ ที่เป็นบรรจุภัณฑ์กระดาษประเภท จาน ถ้วย และถาด เพื่อเพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ พร้อมกับนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยต่อยอดลดต้นทุนด้านแรงงานคนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้มากขึ้นด้วย” นาย อภิรัตน์ กล่าว
สำหรับภาพรวมอุตสาหกรรมด้านบรรจุภัณฑ์รูปแบบกล่องบรรจุอาหาร และบรรจุภัณฑ์พลาสติก รูปแบบถุงอาหารในปีนี้ รองกรรมการผู้จัดการ TPLAS กล่าวเพิ่มเติมว่า ความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ยังมีความต้องการใช้อย่างต่อเนื่อง โดยจะเห็นได้จากแนวโน้มการเติบโตตามความต้องการของตลาดอาหารแบบบริการส่งถึงบ้าน (Delivery) ที่ได้รับความนิยมมากขึ้น เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อโควิด – 19 (COVID – 19) ในประเทศไทยทำให้ยอดความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์ดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ภายใต้โครงการคนละครึ่ง ส่งผลให้ดีมานด์การใช้บรรจุภัณฑ์รูปแบบกล่องบรรจุอาหาร และ ถุงอาหาร (ถุงร้อน – ถุงหูหิ้ว) เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มกลับมาจับจ่ายใช้สอยคึกคักมากขึ้น ทำให้ความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ประเภทบรรจุภัณฑ์ต่างๆ มีความต้องการต่อเนื่อง โดยจะเห็นได้จากยอดประมาณการดีมานด์ ที่รอจ่อเข้ามาในปัจจุบันซึ่งไม่น้อยกว่า 700 – 800 ตันต่อเดือน
ทั้งนี้ จากแผนการวางกลยุทธ์ดังกล่าว ส่งผลให้บริษัทฯ ประเมินการอัตราการเติบโตในปี 2564 ไว้ไม่ต่ำกว่า 10% จากปี 2563 โดยแบ่งเป็นรายได้จากยอดขายสินค้าถุงบรรจุภัณฑ์ที่ 82% ฟิล์มยืดห่อหุ้มอาหาร 10% และบรรจุภัณฑ์กล่องกระดาษ 8%
www.mitihoon.com