มิติหุ้น – SAMART เปิดแผนธุรกิจปี 2021 ท่ามกลางความท้าทายรอบด้าน ทั้งโรคระบาด ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจภายในและภายนอกประเทศ แต่ในความไม่แน่นอนที่มีอยู่รอบด้าน เป้าหมายสำคัญคือต้องเติบโตอย่างยั่งยืนให้ได้ กลุ่มสามารถจึงกำหนดให้ปีนี้เป็นปีแห่งการพลิกฟื้นและเจาะลึกในธุรกิจที่มีความเชี่ยวชาญและมีโอกาสสร้างรายได้ประจำ (Recovery & Reform) โดยเน้น 2 สายธุรกิจหลัก ได้แก่ สายธุรกิจ Digital ICT Solutions และ สายธุรกิจ Utilities & Transportation เพราะมีรากฐานที่แข็งแกร่งและมีธุรกิจที่สร้างรายได้ประจำ ตั้งเป้ารายได้ปีนี้ที่ 15,000 ล้านบาท
วัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.สามารถคอร์ปอเรชั่น เปิดเผยว่า “SAMART ได้เตรียมความพร้อมและมีการปรับตัวมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการบริหารธุรกิจ การพัฒนาคน การพัฒนาโซลูชั่นต่างๆ เพื่อรองรับการเข้าสู่ยุค Digital อย่างเต็มรูปแบบ โดยเน้นการสร้างรายได้ผ่านโมเดลธุรกิจ B2G2C มากขึ้น จากความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและสถานะทางการเงินของบริษัท ทำให้เรามีความพร้อมในการลงทุนและให้บริการระบบ Digital Public Services ก่อน เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐสามารถให้บริการประชาชนผ่านระบบออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และไม่ต้องรองบประมาณ ทั้งนี้ รัฐสามารถจัดเก็บค่าธรรมเนียมจากบริการออนไลน์ที่เพิ่มขึ้นและนำมาแบ่งจ่ายเป็นค่าบริการให้แก่บริษัท
Recovery & Reform
ผลจากโรคระบาดโควิด-19ในปีที่ผ่านมา ทำให้ธุรกิจ CATS ที่ให้บริการควบคุมการจราจรทางอากาศที่ประเทศกัมพูชาและเป็นแหล่งรายได้ประจำของบริษัท ได้รับผลกระทบอย่างมากจากการลดลงของจำนวนเที่ยวบิน แต่ก็เป็นที่คาดการณ์ว่า เมื่อมีการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในวงกว้าง สถานการณ์จะเริ่มคลี่คลาย และธุรกิจที่เกี่ยวโยงกับการท่องเที่ยวและการเดินทาง ก็จะสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว ส่วนธุรกิจอื่นๆของกลุ่ม ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เช่น สายธุรกิจ Digital ICT Solutions ซึ่งแม้จะมีการเลื่อนการใช้งบประมาณภาครัฐออกไปบ้างในบางโครงการ แต่ก็ยังคงเก็บงานโครงการใหม่ๆ เข้ามาในพอร์ตได้พอสมควร โดยในปีที่ผ่านมา กลุ่มสามารถเทลคอม ได้เซ็นสัญญาโครงการมูลค่ารวม 4,000 ล้านบาท และล่าสุด ประเดิมต้นปี 2021 ด้วยการเซ็นสัญญาติดตั้งอุปกรณ์การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมมูลค่า 380 ล้านบาท และสัญญาซื้อขายชุดเข้าถึงข้อมูลข่าวสารอิเล็กทรอนิกส์ในระบบ Cyber Intelligence มูลค่า 189 ล้านบาท ทำให้กลุ่มสามารถเทลคอม มีมูลค่าโครงการในมือ ประมาณเกือบ 8 พันล้านบาทในปัจจุบัน ส่วนธุรกิจภายใต้ สามารถดิจิตอล ก็มีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจน โดยจะมีรายรับที่เพิ่มขึ้นจากบริการ Digital Trunk Radio และรายได้ใหม่จากบริการ Mobile Security Application ซึ่งมีแผนจะเปิดให้บริการในเดือนมีนาคมนี้
นอกจากนี้ เรายังมีการปรับโครงสร้างการบริหารจัดการภายในองค์กรให้กระชับ พร้อมผลักดันให้ผู้บริหารรุ่นใหม่ขึ้นมารับผิดชอบการบริหารงานมากขึ้น โดยผมจะขยับบทบาทไปเน้นการวางกลยุทธ์ และการพัฒนาธุรกิจใหม่อย่างเต็มตัว เพื่อรองรับการแข่งขันและความท้าทายใหม่ๆ ยิ่งไปกว่านั้น เรายังเปิดกว้างในการพิจารณาลงทุนใน Start up ที่มีความโดดเด่น ซึ่งผ่านการคัดกรองจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ในโครงการ Angel Fund 2021 และอีกหลายผลงานจาก สวทช.
เจาะลึกใน 2 สายธุรกิจ
สายธุรกิจ Digital ICT Solutions เน้นการนำเสนอเทคโนโลยีที่สามารถตอบโจทย์ Digital Transformation แก่องค์กรผู้ใช้บริการอย่างมืออาชีพ ได้แก่
โซลูชั่นเพื่อช่วยยกระดับการบริหารจัดการองค์กรและธุรกิจ อาทิ ระบบการจัดเก็บภาษีสินค้าอุปโภคบริโภคประเภทต่าง ๆ ด้วยเทคโนโลยี Direct Coding & Marking ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในหลากหลายอุตสาหกรรม , โซลูชัน Robotic Process Automation หรือ RPA ที่นำเทคโนโลยี Machine Learning & AI เข้ามาเพิ่มศักยภาพและลดทอนเวลาในกระบวนการทำงานภายในองค์กร ทำให้สามารถบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลเพื่อประสิทธิผลสูงสุด ,โซลูชันด้าน Live Training Platform เป็นโซลูชันที่รองรับการจัดอบรมออนไลน์ที่ใช้งานง่าย ตอบโจทย์ทั้งลูกค้ากลุ่มสถาบันการศึกษา รวมทั้งภาครัฐ และเอกชน ที่ต้องการพัฒนาศักยภาพของบุคลากร และยังมีระบบ AMI (Advance Metering Infrastructure) หรือ โครงสร้างพื้นฐานสำหรับการวัดค่าพลังงานไฟฟ้าขั้นสูง เป็นโครงสร้างหลักของสมาร์ทกริด (เป็นระบบโครงข่ายด้านพลังงานไฟฟ้า ที่นำ ICT มาประยุกต์ในการบริหารการใช้พลังงาน) ที่จะช่วยผู้ใช้ไฟฟ้า สามารถควบคุมค่าไฟ และสามารถบริหารการใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันสมัย
โซลูชั่นด้านการเงิน อาทิ Core Banking System ที่พร้อมยกระดับการให้บริการด้วยเทคโนโลยีทันสมัยด้านธุรกรรมการเงิน การยืนยันตัวตน ที่จะทำให้ผู้ประกอบธุรกิจและลูกค้าสะดวกสบายและมีความปลอดภัยสูงสุด และยังมี Payment Solutions ที่เน้นให้บริการแบบ Omni Channel ครอบคลุมทุกช่องทางธุรกรรมทางการเงิน ทั้ง Online และOffline ต่อยอดความสำเร็จจากธุรกิจ EDC และ POS พร้อมทั้งขยายฐานลูกค้าในหลากหลายอุตสาหกรรมทั้งกลุ่ม B2B และ B2C
โซลูชั่นด้านความปลอดภัยไซเบอร์ เป็นธุรกิจที่น่าจับตามอง โดยปีนี้จะมีการขยายขอบเขตการเฝ้าระวังภัยคุกคามทางไซเบอร์ผ่านทางโมบาย เพื่อขยายฐานลูกค้าให้ครอบคลุมทั้งรายองค์กร และรายย่อย จากนโยบายภาครัฐที่ให้ความสำคัญในด้านการกำกับดูแลความปลอดภัยของข้อมูล ตามพรบ.ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และ พรบ. การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
สายธุรกิจ Utilities & Transportation ยังคงเตรียมการที่จะนำบริษัท SAV (ถือหุ้น CATS ที่ทำธุรกิจด้านการจราจรทางอากาศในประเทศกัมพูชา) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อสถานการณ์ Covid-19 คลี่คลาย และการเดินทางท่องเที่ยวกลับมาคึกคักอีกครั้ง นอกจากนี้ บริษัทยังเน้นขยายธุรกิจที่เกี่ยวโยงกับพลังงาน เช่น Power Substation, การวางระบบสายส่งไฟฟ้า การนำสายไฟลงดิน รวมถึงการศึกษาธุรกิจพลังงานทางเลือกอย่างต่อเนื่อง
มั่นใจที่ตั้งเป้ารายได้ปี 2021 ไว้ที่ 15,000 ล้านบาท
“ในปี 2021 คาดว่าสถานการณ์โควิดและการเมืองในประเทศน่าจะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น อีกทั้งการอัดฉีดงบประมาณจากภาครัฐ และการมาถึงของเทคโนโลยี 5G ที่เกี่ยวข้องกับวิถีชิวิต แบบ new normal จะสามารถสร้างโอกาสทางธุรกิจให้แก่กลุ่มสามารถ ดังนั้น สิ่งที่เรามุ่งเน้นในปีนี้ คือ การขยายฐานลูกค้า การพัฒนา Digital Solutions ใหม่ๆ และความพยายามในการสร้าง New S-Curve ให้กับธุรกิจอย่างจริงจัง” นายวัฒน์ชัย กล่าวทิ้งท้าย
www.mitihoon.com