มิติหุ้น – นายอิชิโร ฮาระ กรรมการผู้จัดการ บริษัทเอบีม คอนซัลติ้ง (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ณ สภาวะปัจจุบันที่ปัญหาด้าน สิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และ บรรษัทภิบาล (Corporate Governance) ได้รับความสนใจมากขึ้น จึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งที่บริษัทจะนำแนวความคิด ESG มาเป็นส่วนหนึ่งของแผนธุรกิจ โดยมีทีมผู้บริหารที่มีความคิดเชิงระบบและมุ่งมั่นที่จะลงทุนระยะยาวเพื่อสร้างสรรค์คุณค่าธุรกิจเพื่อสังคม
การที่มูลค่าของบริษัทเทสล่าแซงโตโยต้าถึงหกแสนล้านดอลลาร์สหรัฐ แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มของสินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตน (Intangible assets) กำลังมีมูลค่าสูงกว่าสินทรัพย์ที่มีตัวตน (Tangible assets) ข้อมูลจากนิตยสาร สแตรททิจิกไฟแนนซ์ เมื่อปี 2560 แสดงให้เห็นถึงอัตราส่วนของสินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตนกับสินทรัพย์ที่มีตัวตนเป็น 87:13 โดยอีเอสจีเป็นส่วนหนึ่งของการประเมินมูลค่าทางธุรกิจด้วย
อีเอสจีมีหลักสำคัญสามประการที่วัดความยั่งยืน และผลกระทบทางสังคมของการลงทุนโดยบริษัท หรือธุรกิจ โดยเฉพาะในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีหลักฐานแสดงให้เห็นว่าบริษัทที่มีมาตรฐานอีเอสจีสูงสามารถดำเนินผลทางธุรกิจได้ดีกว่า ทั้งในด้านยอดขาย อัตราผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้น (return on equity) เป็นต้น
งานวิจัยยังแสดงให้เห็นอีกว่า การนำอีเอสจีเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของแผนกลยุทธ์ ทำให้ธุรกิจมีรายได้เติบโต ขยายฐานลูกค้า ลดต้นทุน และลดความเสี่ยงด้านชื่อเสียงและกฎข้อบังคับ อีกทั้งยัง เพิ่มผลิตภาพของพนักงาน และมีค่าใช้จ่ายที่คุ้มค่าในการลงทุน ตามที่ Global Sustainable Investment Review ได้ระบุไว้ว่า การลงทุนที่มุ่งเน้นด้านอีเอสจีเพิ่มขึ้นสูงถึง 68% เมื่อเทียบระหว่างปี 2557 ถึง 2561 บ่งชี้ให้เห็นถึงเทรนด์ของความสนใจด้านอีเอสจีที่เพิ่มมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้แนวคิดของอีเอสจีจะเป็นที่เข้าใจโดยทั่วไป แต่เพราะการเชื่อมโยงอีเอสจีกับผลลัพธ์ที่จับต้องได้
มักจะทำได้ยาก ทำให้ไม่สามารถใช้ศักยภาพของอีเอสจีได้อย่างเต็มที่ หลายๆ บริษัทยังพบอีกว่าการวัดผลลัพธ์ของอีเอสจีเป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างมาก เนื่องจากขาดระบบที่น่าเชื่อถือในการช่วยรวบรวม แสดงจำนวน รวมถึงการประเมินข้อมูลอีเอสจีที่กระจัดกระจายอยู่ในส่วนต่างๆ
“แนวคิดอีเอสจี เป็นส่วนประกอบที่สำคัญที่จะช่วยสร้างมูลค่าให้กับบริษัทในระยะยาว แต่ละส่วนของอีเอสจีนั้นสำคัญยิ่งต่อธุรกิจและควรเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับวิสัยทัศน์ขององค์กร รวมถึงการตัดสินใจของผู้บริหาร กลยุทธ์ และแผนธุรกิจอีกด้วย” นายฮาระ กล่าว
เพื่อตอบโจทย์ดังกล่าว ABeam ได้เปิดตัวแพลทฟอร์ม “การจัดการดิจิทัลอีเอสจี” หรือ “Digital ESG Management”
ซึ่งเป็นดิจิทัลโซลูชั่นที่สมบูรณ์แบบ โดยครอบคลุมทั้งการติดตามและตรวจสอบ การเก็บรวบรวมข้อมูล แสดงจำนวนการวิเคราะห์และทำให้ข้อมูลที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเงินของอีเอสจี กลายเป็นเรื่องที่จับต้องและวัดผลได้ เพื่อให้ทีมบริหารและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสามารถวางแผนธุรกิจได้แม่นยำและชัดเจนยิ่งขึ้น
บริการดิจิทัลอีเอสจีนี้เปิดตัวครั้งแรกที่ประเทศญี่ปุ่น โดยมีองค์ประกอบสามส่วน คือ “การเชื่อมโยงข้อมูลอีเอสจี” (Data Connection) การจัดเก็บข้อมูลที่อยู่กระจัดการจายทั่วทั้งบริษัทมาไว้ในที่เดียวกันอย่างสม่ำเสมอ “การวิเคราะห์” (Analytics) เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูลอีเอสจีและผลลัพธ์ทางการเงิน โดยนำฐานข้อมูลที่ได้รวบรวมมาหาความเชื่อมโยงของเหตุและผล รวมถึง “ค็อกพิท” (Cockpit) ที่เสนอการวิเคราะห์เชิงปริมาณ ในรูปแบบภาพ เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าถึงและเข้าใจ
จากประสบการณ์ของเราที่ประเทศญี่ปุ่น แพลทฟอร์มดิจิทัลอีเอสจี ช่วยนำแนวคิดทางอีเอสจีมารวมกับข้อมูลที่ไม่ใช่ข้อมูลทางการเงินมาวิเคราะห์เพื่อให้บริษัทสามารถดำเนินธุรกิจและตัดสินใจการลงทุนได้ดียิ่งขึ้น ผลวิจัยยังพบว่าการเพิ่มการลงทุนตามแนวคิดอีเอสจีขึ้น 10% เช่น การพัฒนาทรัพยากรบุคคลหรือทรัพย์สินทางปัญญา สามารถส่งผลให้มูลค่าธุรกิจโดยรวมเพิ่มสูงขึ้น 13.8% การมีระบบที่ติดตามและตรวจสอบข้อมูลตามแนวคิดอีเอสจีที่มีประสิทธิภาพจะช่วยรักษาความยืดหยุ่นในการปฏิบัติการ และการปกป้องชื่อเสียงขององค์กรในระยะยาวได้อีกด้วย” นายฮาระกล่าวทิ้งท้าย
www.mitihoon.com