ก.ล.ต. – คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ คิกออฟ “สัมมนากลุ่มย่อย

58

มิติหุ้น-  ก.ล.ต. ร่วมกับคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ จัดสัมมนากลุ่มย่อย (Focus Group) ครั้งแรก ในโครงการธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนสำหรับภาคธุรกิจในตลาดทุนไทย (ระยะที่ 1) เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการและการจัดทำข้อมูลด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน และเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และระดมความคิดเห็นจากบริษัทจดทะเบียนในหลายอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 และเตรียมจัดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น (CEO Dialogue) สำหรับผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน ในงานครบรอบ 10 ปี หลักการชี้แนะฯ UNGPs ในวันที่ 14 มิถุนายน 2564 

ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ) ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MoU) ความร่วมมือในการจัดทำหลักสูตรอบรมธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนสำหรับภาคธุรกิจในตลาดทุนไทย เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2563 และร่วมกันจัดทำ “โครงการธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนสำหรับภาคธุรกิจในตลาดทุนไทย (ระยะที่ 1)” เพื่อสร้างความตระหนักรู้แก่ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน อันนำไปสู่วัฒนธรรมองค์กรและการจัดทำนโยบาย รวมถึงแผนปฏิบัติงานในเรื่องสิทธิมนุษยชนให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล จนนำไปสู่ภาคปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม และสามารถนำมาเปิดเผยในแบบรายงานเดียว (56-1 One Report) ได้ ตามกรอบการดำเนินการที่กำหนดโดยคณะทำงานจัดทำหลักสูตรอบรมธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนสำหรับภาคธุรกิจในตลาดทุน*

การจัดสัมมนากลุ่มย่อย (Focus Group) ในครั้งนี้ ถือเป็นกิจกรรมแรกภายใต้โครงการดังกล่าว โดยมีคณาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมบรรยายหลักการและความสำคัญของการดำเนินธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชน พร้อมทั้งผู้บริหารระดับสูงและผู้แทนจากบริษัทจดทะเบียนทั้งในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) หลายภาคส่วนอุตสาหกรรม เช่น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) บริษัท ฟอร์จูน พาร์ท อินดัสตรี้ จำกัด (มหาชน) และบริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความคิดเห็น

ทั้งนี้ ผู้ร่วมสัมมนาส่วนใหญ่เห็นความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงประเด็นสิทธิมนุษยชน และได้นำหลักการตรวจสอบและประเมินผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน (Human Rights Due Diligence: HRDD) ตามที่ระบุไว้ในหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UNGPs) มาปรับใช้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งนอกจากจะช่วยลดประเด็นความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจแล้ว ยังได้รับการยอมรับจากชุมชนโดยรอบ และยังตอบสนองความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในวงกว้างได้อีกด้วย

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า นอกจากนี้ ก.ล.ต. ในฐานะเป็นหน่วยงานหนึ่งของรัฐที่ได้รับมอบหมายพันธกิจตามแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2562 – 2565) หรือ National Action Plan on Business and Human Rights: NAP ได้ปักหมุดเพื่อจัดงานครบรอบ 10 ปี หลักการชี้แนะฯ UNGPs ในวันที่ 14 มิถุนายน 2564 ร่วมกับคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ และพันธมิตร เช่น สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย และสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UNDP Thailand) ที่ร่วมกันขับเคลื่อน โดยจะจัดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น (CEO Dialogue) สำหรับผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน เพื่อให้เกิดความมุ่งมั่นในเชิงนโยบายของคณะกรรมการและผู้บริหาร นำไปสู่วัฒนธรรมองค์กรและการจัดทำนโยบายที่สนับสนุนการดำเนินการดังกล่าวของภาคธุรกิจในตลาดทุนไทยต่อไป

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ คณบดี คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า แผนดำเนินการในช่วงต้นจะเริ่มจากการจัดสัมมนากลุ่มย่อยเพื่อระดมความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของผู้บริหารจากบริษัทจดทะเบียน เพื่อนำไปศึกษาเปรียบเทียบกับแนวทางของหลักสากลและของประเทศต่างๆ จากนั้นจะจัดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น (CEO Dialogue) ซึ่งจะนำไปสู่การจัด “หลักสูตรอบรมธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน” เพื่อขยายองค์ความรู้ แนวคิด และประเด็นการเคารพสิทธิมนุษยชนสำหรับภาคธุรกิจที่จะเปิดเผยข้อมูลในแบบ 56-1 One Report และอาจต่อยอดไปถึงการวางแนวทางที่นำไปสู่การตรวจสอบการเคารพสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้านสำหรับภาคธุรกิจในอนาคต

www.mitihoon.com