มิติหุ้น – อิชิตัน โชว์งบปี 63 กำไร 515.5 ลบ. โต 26.5% รายได้จากการขาย 5,099.3 ลบ. ท่ามกลางวิกฤตการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้อิชิตันเร่งปรับกลยุทธ์ชาพร้อมดื่ม เน้นการขยายตลาด Traditional Trade จนเติบโตขึ้น ส่วนเครื่องดื่มวิตามินมาแรง ตั้งเป้าเป็นผู้นำตลาด ด้วยยอดขายภายใน 1 ปีแรก 1,000 ล้านบาท ขณะที่ปี 64 เปิดเกมตลาดเครื่องดื่มรับกระแสกัญชง(Hemp) เตรียมวางจำหน่ายสินค้าใหม่ “อิชิตัน กรีน แลป” เครื่องดื่มเทอร์พีน สารสกัดธรรมชาติที่มีกลิ่นชนิดเดียวกับ CBD ในกัญชง เทอร์พีนทำหน้าที่ช่วยรีแลกซ์และบรรเทาอาการนอนไม่หลับ โดยจะวางจำหน่ายในช่วงต้นเดือนเมษายนนี้ เพื่อขึ้นแท่นเป็นผู้นำตลาด หนุนเป้ารายได้รวมปี 64 ที่ 6,200 ล้านบาท โตจากปีก่อน 22% และประกาศไฟเขียวจ่ายปันผล 0.50 บ./หุ้น 21 พฤษภาคม 64 นี้
นายตัน ภาสกรนที กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท อิชิตันกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ICHI เปิดเผยถึง ผลประกอบการงวดประจำปี 2563 (สิ้นสุด 31 ธันวาคม 2563) มีกำไรสุทธิ 515.5 ล้านบาท เติบโต 26.5% จากปีก่อนอยู่ที่ 407.5 ล้านบาท มีอัตรากำไรขั้นต้น 19.7% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ 18.6% อัตรากำไรสุทธิ 10.1% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ 7.6% ขณะที่ รายได้จากการขาย 5,099.3 ล้านบาท ลดลง จากปีก่อนอยู่ที่ 5,334.2 ล้านบาท เนื่องจาก ผลกระทบสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และการล็อกดาวน์ปิดเมือง
ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ อนุมัติการจ่ายปันผลเป็นเงินสด จากผลการดำเนินงานประจำปี 2563 ในอัตราหุ้นละ 0.50 บาท โดยจ่ายจากกำไรสุทธิและกำไรสะสม กำหนดรายชื่อผู้มีสิทธิได้รับปันผล (Record Date) วันที่ 7 พฤษภาคม 2564 วันที่จ่ายปันผลวันที่ 21 พฤษภาคม 2564
ผลประกอบการปี 2563 ที่ผ่านมา อิชิตัน ประสบความสำเร็จจากการรุกตลาดเครื่องดื่มน้ำด่าง และเครื่องดื่มวิตามินที่วางตลาดตั้งแต่เดือนเมษายน ปัจจุบันมี 3 กลุ่มสินค้า คือ อิชิตัน น้ำด่าง 8.5, อิชิตัน ซี 200 และอิชิตัน วิตซีซี เข้าชิงส่วนแบ่งการตลาดจนอยู่ในระดับ Top5 ของอุตสาหกรรม ตั้งเป้ายอดขายปีแรกกลุ่มน้ำด่างและเครื่องดื่มวิตามินไว้ที่ 1,000 ล้านบาท และเป็นผู้นำตลาดให้ได้ สอดรับเทรนด์ตลาดเครื่องดื่มผสมวิตามิน ณ สิ้นปี 2563 ที่มีอัตราการเติบโต 106% หรืออยู่ที่ 2,195 ล้านบาท ซึ่งเป็นกลุ่มเครื่องดื่มที่มีการเติบโตสูงสุดในตลาดเครื่องดื่มทั้งหมด
แม้ยอดขายกลุ่มชาพร้อมดื่มในปีที่ผ่านมาจะชะลอตัว จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่อิชิตันกลับได้รับแรงสนับสนุนจากปริมาณการขายเครื่องดื่มไซส์เล็กราคา 10 และ 15 บาท ที่มากขึ้น เนื่องจากเหมาะกับกำลังซื้อของผู้บริโภค และสนับสนุนให้อัตราการใช้กำลังการผลิต (Utilization Rate) ในระดับที่น่าพอใจ จนสะท้อนมาที่ความสามารถในการทำกำไรที่ดี
ในด้านภาพรวมตลาดชาพรีเมี่ยมปรับตัวลดลง เนื่องจากการ Work From Home ทำให้ผู้บริโภคไม่สามารถเดินทางได้ และฐานลูกค้าหลักในตลาดนี้คือกลุ่มคนทำงานออฟฟิศ อย่างไรก็ตามชาชิซึโอกะ ยังคงรักษาส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับหนึ่ง และพร้อมจะขยายการเติบโตเพื่อรักษาแชมป์ผู้นำตลาดชาพรีเมี่ยม
การปรับกลยุทธ์ช่องทางการจำหน่ายที่เน้นทำตลาดใน Traditional Trade หรือร้านค้าปลีกรายย่อยทั่วประเทศ เป็นอีกกุญแจความสำเร็จในการครองพื้นที่จำหน่าย การล็อกดาวน์ปิดเมือง กลับส่งผลดีต่อระบบร้านค้ารายย่อยที่ผู้บริโภคสบายใจในการเดินซื้อสินค้าในพื้นที่เปิดโล่งมากกว่าพื้นที่ปิด สนับสนุนให้มีสัดส่วนยอดขายอยู่ที่ราว 47% จากปีก่อนอยู่ที่ 41% ขณะที่แคมเปญการตลาดที่เน้นเจาะลูกค้าเฉพาะกลุ่ม และรุกตลาดในประเทศอย่างเข้มข้น ทำให้อิชิตันสามารถขยายฐานลูกค้าได้มากขึ้นและคุมต้นทุนการตลาดได้ดี
รวมไปถึง ธุรกิจรับจ้างผลิตเครื่องดื่ม หรือ OEM ที่มีจุดเด่นในด้านเครื่องจักรที่ทันสมัย ด้วยระบบบรรจุเย็นแบบปลอดเชื้อ (Aseptic Cold Filling) และความเชี่ยวชาญในการบริหารการผลิตภายใต้มาตรฐานการผลิตในระดับโลกของอิชิตัน ที่สามารถผลิตเครื่องดื่มได้หลากหลาย ไม่จำกัดเฉพาะชาพร้อมดื่ม แต่รวมไปถึงน้ำมะพร้าว น้ำผลไม้ กาแฟ และนมถั่วเหลือง ฯลฯ โดยปัจจุบัน อิชิตันได้ทำบันทึกข้อตกลงผลิตสินค้าให้กับลูกค้ารายใหม่ในประเทศอีก 1 ราย ซึ่งจะออกสินค้ากลุ่มน้ำวิตามิน พรีเมี่ยม วางจำหน่ายทั่วประเทศในเดือนเมษายน และลูกค้ารายใหญ่จากต่างประเทศคือ อาซาฮี (Asahi Holding Southeast Asia SDN.BHD.) แบรนด์ชั้นนำจากญี่ปุ่น ก็จะเริ่มเดินสายผลิต เพื่อสร้างการรับรู้รายได้ให้กับอิชิตันกรุ๊ปในไตรมาสที่ 2 เช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ บริษัทร่วม อิชิตัน อินโดนีเซีย มียอดขายเติบโตอย่างต่อเนี่อง โดยในปี 2563 เป็นแบรนด์เดียวในกลุ่มเครื่องดื่มชาในประเทศอินโดนีเซียที่มีการเติบโต โดยเติบโตมากถึง 11.8% จากสินค้าที่เน้นความเป็นไทย อาทิ ชาไทย กาแฟไทย และน้ำนมมะม่วง และความสามารถในการขยายช่องทางการจัดจำหน่ายไปยัง Traditional Trade ครอบคลุมพื้นที่เข้าถึงผู้บริโภคในท้องถิ่นได้มากขึ้น ทำให้สามารถสร้างรับรู้ส่วนแบ่งกำไรในปี 2563 ต่อเนื่องที่ 28 ล้านบาท
สำหรับเป้าหมายปี 2564 อิชิตัน กรุ๊ป เดินหน้าออกผลิตภัณฑ์ใหม่ตอบสนองพฤติกรรม และเทรนด์ใหม่ๆ ของผู้บริโภค อาทิ การนำกัญชงมาต่อยอดในธุรกิจเครื่องดื่ม โดยปัจจุบันอิชิตันได้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตผลิต (ที่มิใช่การปลูก) เรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะได้รับการอนุญาติเป็นรายแรกๆ ในเร็ววันนี้ เพื่อที่ว่าเมื่อกฎหมายรองรับอย่างเป็นทางการ อิชิตัน จะมีความพร้อมในทุกด้านในการเข้าทำตลาดเครื่องดื่ม CBD ทันที และพร้อมเปิดตัวเครื่องดื่มชนิดใหม่ “อิชิตัน กรีน แลป” เครื่องดื่มเทอร์พีน ที่มีลักษณะเด่นพิเศษช่วยในเรื่องการผ่อนคลายและบรรเทาความเครียด โดยจะวางจำหน่ายในเดือนเมษายนนี้ ประกอบกับเทรนด์การเติบโตของตลาดเครื่องดื่มวิตามิน และแผนการนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ในกลุ่มสินค้าเดิม ทำให้วางเป้ารายได้ปีนี้อยู่ที่ 6,200 ล้านบาท หรือโต 22%
www.mitihoon.com