LEO สตรอง! กำไร Q4 ปี 63พุ่ง 95.8%

96

มิติหุ้น – บมจ.ลีโอ โกลบอล โลจิสติกส์ (LEO) ฟอร์มดีกำไร Q4 ปี63 พุ่ง 95.8% จากปีก่อน รวมทั้งปีแตะ 57.8 ล้านบาท สร้างสถิติสูงสุดนับแต่จัดตั้งบริษัทมา   รับผลดีจากสถานการณ์โควิด-19 ดันค่าระวางทางเรือและอากาศยานสูงหนุนรายได้ทะลัก บอร์ดอนุมัติจ่ายเงินปันผลเป็นเงินสดตอบแทนผู้ถือหุ้นในอัตราหุ้นละ 0.07 บาท กำหนดขึ้นเครื่องหมายรับสิทธิวันที่ 21 เม.ย. 64 พร้อมจ่ายวันที่ 7 พ.ค. 64  ฟาก”เกตติวิทย์ สิทธิสุนทรวงศ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เปิดแผนงานปี64 เดินหน้าขยายธุรกิจตามแผนการใช้เงินที่ได้มาจาก IPO เพื่อให้บริษัทฯเติบโตอย่างต่อเนื่อง และสร้างรายได้เพิ่มมั่นใจธุรกิจโลจิสติกส์ยังขยายตัวต่อเนื่อง จากธุรกรรมอีคอมเมิร์ซสดใส ผลักดันผลงานโตติดปีก  

นายเกตติวิทย์ สิทธิสุนทรวงศ์  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ลีโอ โกลบอล โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือLEO เปิดเผยว่า ในไตรมาส 4/63 บริษัทฯ และบริษัทย่อย ทำรายได้ กำไรขั้นต้นและกำไรสุทธิสูงกว่ารอบเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นถึง 95.8% โดยภาพรวมผลการดำเนินงานในงวดปี 2563 บริษัทฯมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 57.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24% จากงวดเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิเท่ากับ 47 ล้านบาท ขณะที่รายได้รวมอยู่ที่ 1,129.1  ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8% จากงวดเดียวกันปีก่อน มีรายได้รวมเท่ากับ 1,047.2  ล้านบาท   

ปัจจัยที่สนับสนุนให้ผลประกอบการเพิ่มขึ้น เนื่องจากบริษัทฯ มีกลุ่มฐานลูกค้าที่หลากหลายและสามารถบริการได้อย่างครบวงจรที่คลอบคลุมทั่วโลก ทำให้ได้รับผลกระทบในเชิงบวกจากวิกฤตโควิด-19   การขนส่งสินค้าประเภท E-commerce/Electronics/Foods มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นอย่างมากในปี 2563   กอปรกับปริมาณการขนส่งสินค้าทางทะเลมีการเติบโตสูงขึ้นอย่างมากในช่วง Q4/63 จึงทำให้มีความต้องการในการจองพื้นที่สำหรับขนส่งสินค้าทางเรือเพิ่มสูงและอัตราค่าระวางก็สูงเพิ่มมากขึ้น จึงทำให้บริษัทฯ มีโอกาสในการทำกำไรได้สูงขึ้น และสถานการณ์ดังกล่าวก็จะคงอยู่ต่อไปในปี 2564 และด้วยเหตุที่ประเทศต่างๆ ในยุโรปและสหรัฐอเมริกาเริ่มมีการฉีดวัคซีน ทำให้การแพร่ระบาดของโควิด-19 ดูเหมือนกับจะถูกควบคุมได้ในระดับหนึ่ง และประเทศต่างๆก็ออกมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นผลทำให้ความต้องการในการบริโภคทั่วโลกสูงขึ้นอีกมากในปีนี้  และจะส่งผลให้ปริมาณการส่งออก นำเข้าทั่วโลกจะยังคงคึกคักจนถึงสิ้นปี 64 และลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ปิโตรเคมี และอุปกรณ์ก่อสร้างและตกแต่งบ้าน ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าหลักของบริษัทฯ อีกกลุ่มหนึ่งที่มีการชะลอตัวไปในปี 63  เริ่มส่งสัญญาณว่าจะมีการส่งออกเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา

“ในปีที่ผ่านมา ธุรกิจโลจิสติกส์เติบโตมากขึ้น จากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้ธุรกรรมอีคอมเมิร์ซคึกคัก ความต้องการขนส่งสินค้าเพิ่มมากขึ้น บริษัทฯจึงได้รับผลดี และมองว่าแนวโน้มยังคงมีทิศทางที่ดีต่อเนื่องได้ในระยะยาว” นายเกตติวิทย์ กล่าว

ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์  ได้มีการอนุมัติให้จ่ายเงินปันผลงวดประจำปี 2563 ให้กับผู้ถือหุ้นในอัตราหุ้นละ 0.07 บาท โดยกำหนดวันประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2564 เพื่อพิจารณาอนุมัติ ในวันที่ 9 เมษายน 2564  ซึ่งวันกำหนดรายชื่อผู้มีสิทธิได้รับปันผล (Record date)ในวันที่ 22 เมษายน 2564 และกำหนดวันที่จ่ายปันผลเป็นวันที่ 7 พฤษภาคม 2564

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกล่าวอีกว่า ในปี2564 คาดว่าจะยังสามารถรักษาการเติบโตได้ต่อเนื่องประมาณ 20-25%    เนื่องจากยังได้รับแรงหนุนจากธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่มีการเติบโตมากขึ้นในยุคนิวนอร์มอล และ demand การส่งออกสินค้าไปยังประเทศหลักๆ ใน  ASIA  USA และ EUROPE ยังคงมีเพิ่มขึ้น  และการเติบโตดังกล่าวนี้ ยังไม่รวมรายได้จากแผนธุรกิจใหม่ตามแผนการใช้เงินที่ได้จาก IPO ที่ทุกโครงการมีความคืบหน้าอย่างมาก บริษัทฯ คาดว่าจะสามารถสรุปพื้นที่และเซ็นสัญญาเช่าพื้นที่เพื่อเริ่มธุรกิจ Self Storage และ Container Depot ได้ภายในไตรมาสแรกของปีนี้ และจะสามารถเริ่มดำเนินธุรกิจและมีรายได้เข้ามาภายในปลายไตรมาส 3 หรือต้นไตรมาส 4 ของปีนี้ทั้ง 2 โครงการ    รวมถึงการ M&A ธุรกิจภายในประเทศเพื่อมาต่อยอดธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศก็มีความคืบหน้าไปอย่างมาก และคาดว่าจะสามารถสรุปผลได้ภายในปีนี้  บริษัทฯประเมินว่า บริษัทฯใหม่ที่เกิดขึ้นจากการ M&Aจะสามารถสร้างรายได้เพิ่มต่อปีประมาณ100-200 ล้านบาท และมีกำไรอย่างสม่ำเสมอโดยคาดว่าในปีนี้จะเห็นความชัดเจนของข้อตกลงซื้อ และควบรวมกิจการอย่างน้อย 1 บริษัท  และในขณะนี้บริษัทฯก็ยังมีการพูดคุยเรื่อง M&A กับบริษัทภายในประเทศอีก 2-3 บริษัท หากทางบริษัทฯ  สามารถสรุปได้ว่าเป็นบริษัทที่ดี มีโอกาสในการเติบโตสูงและทำกำไรอย่างต่อเนื่อง  มีเงื่อนไขที่เหมาะสม และที่สำคัญคือสามารถมาต่อยอดกับธุรกิจและฐานลูกค้าของบริษัทฯได้ดี ก็อาจจะมี Surprise ของการ M&A บริษัทภายในประเทศที่มากกว่า 1 บริษัทในปีนี้ 

นอกจากนี้ กลยุทธ์ที่จะใช้ในการดำเนินธุรกิจจะเน้นสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งขัน ซึ่งจะไม่แข่งขันใน Red Ocean แต่จะหา Product Champion  ที่อยู่ใน Blue Ocean ที่มีความเชี่ยวชาญและแข็งแกร่งเพื่อนำเสนอแก่ลูกค้า สร้างความแตกต่างในการให้บริการ ขณะเดียวกันรักษาความสัมพันธ์กับลูกค้ารายหลักของบริษัทฯอย่างต่อเนื่อง ทั้งจัดกิจกรรม CRM และ CSR  เพื่อกระชับความสัมพันธ์กับลูกค้า  รวมถึง ใช้ Software และโปรแกรมใหม่ๆ เข้ามาใช้ในกระบวนการขายและให้บริการลูกค้า เพื่อลดขั้นตอนการทำงานและลดต้นทุนให้กับลูกค้าได้มากขึ้นอีกด้วย

www.mitihoon.com