BGRIM โชว์กำไรปี 63 เติบโตพุ่ง 21% สวนกระแสโควิด-19 ชูกลยุทธ์ผนึกพันธมิตรทุกกลุ่มธุรกิจ รองรับการเติบโตในอนาคต

160

 

มิติหุ้น-ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริม และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM เปิดเผยว่า ผลประกอบการปี 2563 มีกำไรสุทธิจากการดำเนินงาน ส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่เติบโตถึง 21.1% เป็น 2,617 ล้านบาท แม้จะมีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบไปทั่วโลก โดยเป็นผลจากการขยายกำลังการผลิต 162 เมกะวัตต์ ส่งผลให้ปริมาณการผลิตไฟฟ้าเติบโต 6% เป็น 14,451 กิกะวัตต์-ชั่วโมง ในปี 2563 ขณะที่ปริมาณการใช้ไฟฟ้าของลูกค้าอุตสาหกรรมในประเทศไทยมีการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งสู่ระดับที่สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าเป็นเวลา 5 เดือนติดต่อกัน หรือตั้งแต่กันยายน 2563 – มกราคม 2564 และยังมีการขยายฐานลูกค้าอย่างต่อเนื่อง มีการเชื่อมเข้าระบบของลูกค้าอุตสาหกรรมรายใหม่ 15 เมกะวัตต์ ในปี 2563 และคาดว่ามีอีกมากกว่า 40 เมกะวัตต์ ในปี 2564

นอกจากนี้ มีการรับรู้ผลการดำเนินงานเต็มปีของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ในประเทศเวียดนาม และราคาก๊าซธรรมชาติที่ลดลง 10.4% จากปีก่อนหน้า เป็น 244 บาท/ล้านบีทียู โดยประมาณการราคาก๊าซธรรมชาติของ ปตท. คาดการณ์ว่าอยู่ที่ 225 บาท/ล้านบีทียู ในปี 2564

ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ กล่าวว่า นอกจากจากเป้าหมายการขยายกำลังการผลิตสู่ 7,200 เมกะวัตต์ภายในปี 2568 จากกำลังการผลิตติดตั้งที่ 3,058 เมกะวัตต์ในปัจจุบันแล้ว บี.กริม เพาเวอร์ ยังเดินหน้าสู่อีกขั้นของความสำเร็จ ภายใต้ปรัชญา “การดำเนินธุรกิจด้วยความโอบอ้อมอารี” กว่า 143 ปี โดยให้ความสำคัญกับความร่วมมือกับพันธมิตรในทุกกลุ่มธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มศักยภาพความร่วมมือในกลุ่ม บี.กริม ซึ่งมีธุรกิจหลากหลาย ทั้งด้านอุตสาหกรรม อาคาร สุขภาพ และดิจิทัล ฯลฯ หรือความร่วมมือกับพันธมิตรทั้งในประเทศและต่างประเทศ ดังที่ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมามีการประกาศพันธมิตรใหม่ได้แก่ บริษัท ยูนิเวนเจอร์ จำกัด (มหาชน) (UV) ซึ่งดำเนินธุรกิจลงทุนและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มีผลิตภัณฑ์และบริการที่หลากหลาย และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และบริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์ เนชั่นแนล จำกัด (PEA ENCOM)

เพื่อขยายโอกาสทางธุรกิจด้าน โครงการผลิตไฟฟ้าโดยเอกชนที่ผลิตไฟฟ้าใช้เองหรือจำหน่ายให้ลูกค้าโดยตรง (Independent Power Supply: IPS) ระบบไมโครกริด และระบบสมาร์ทไมโครกริด เป็นต้น

ในวันที่ 15 ธันวาคม 2563 บี.กริม เพาเวอร์ ได้สร้างประวัติศาสตร์ การเปิดดำเนินการโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศกัมพูชา ตามกำหนด แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และอุทกภัยครั้งใหญ่ในประเทศกัมพูชา ซึ่งเป็นโครงการโรงไฟฟ้าแห่งแรกของประเทศไทยที่เปิดดำเนินการภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) กับการไฟฟ้ากัมพูชา (EDC) ระยะเวลา 20 ปี และได้รับการค้ำประกันจากรัฐบาลประเทศกัมพูชา

ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ กล่าวว่า อีกหนึ่งแห่งความภาคภูมิใจในปี 2563 นอกจากผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งแล้ว โครงการ Phu Yen TTP ยังได้ลงนามเงินกู้สีเขียว (green bond) เป็นโครงการแรกในประเทศไทยและภูมิภาค CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) ที่ได้รับการรับรองจาก Climate Bonds Initiative และ บี.กริม เพาเวอร์ ได้รับการยกย่องในด้านการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน โดยในเดือนธันวาคม 2563 บี.กริม เพาเวอร์ ได้รับ 5 รางวัลจาก 4 องค์กร ได้แก่

1.สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย สำหรับการประเมินโครงการสำรวจการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียน (CGR) ในระดับ “ดีเลิศ” (5 ดาว) 2. สถาบันไทยพัฒน์ สำหรับการติดอันดับ “รายชื่อ ESG100 ปี 2563” เป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน และ “รางวัลการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนประจำปี 2563” 3. ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สำหรับการได้รับคัดเลือกให้อยู่ใน “รายชื่อหุ้นยั่งยืน (THSI)” ติดต่อกันเป็นปีที่ 3 และ 4. สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย สำหรับการได้รับ “ผลการประเมิน 100 คะแนนเต็ม อยู่ในเกณฑ์ ดีเลิศ ในโครงการประเมินคุณภาพการจัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2563”

สำหรับโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมบ่อทอง วินด์ฟาร์ม 1&2 ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 16 เมกะวัตต์ ในจังหวัดมุกดาหาร มีความคืบหน้าในการก่อสร้าง 80.8% และมีกำหนดการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ ในครึ่งแรกของปี 2564 และโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมเพื่อทดแทน (SPP replacement) 5 โครงการ มีความคืบหน้าในการก่อสร้าง 9-32 % มีกำหนดการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ ในครึ่งหลังของปี 2565

ทั้งนี้ บี.กริม เพาเวอร์ ประกาศจ่ายปันผลงวดครึ่งปีหลัง 0.30 บาทต่อหุ้น (หลังจากจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลไปแล้ว 0.15 บาทต่อหุ้น) คงอัตราการจ่ายปันผลทั้งปีที่ 45% ของกำไรสุทธิจากการดำเนินงาน โดยกำหนดวันที่ไม่ได้รับสิทธิปันผล (XD)  11 มีนาคม 2564 และวันที่จ่ายปันผล 11 พฤษภาคม  2564

www.mitihoon.com