ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคงประมาณการอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 2564 ไว้ที่ 2.6% ในกรณีพื้นฐาน แต่ปรับกรอบประมาณการจากเดิมที่ 0.0-4.5% มาที่ 0.8%-3.0%
นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ระบุว่า กรอบประมาณการใหม่สะท้อนความเสี่ยงขาลงต่อเศรษฐกิจที่ลดลง ตามความคืบหน้าของการกระจายวัคซีนและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในเศรษฐกิจหลัก คาดว่าแนวโน้มเศรษฐกิจโลกจะผ่านจุดต่ำสุดแล้วและส่งผลบวกต่อภาพการส่งออกไทยมากขึ้น ขณะที่การปรับลดกรอบบนสะท้อนภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในภาพรวมที่ยังใช้เวลา และช้ากว่าเศรษฐกิจโลก เนื่องจากมีการพึ่งพิงรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติสูง ทำให้แปรผันตามความก้าวหน้าของการกระจายวัคซีนและการเปิดรับนักท่องเที่ยวของไทยเป็นสำคัญ
ด้านนางสาวเกวลิน หวังพิชญสุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ มองว่าจากอัตราการฉีดวัคซีนของตลาดสำคัญ 10 แห่งไปถึงช่วงเดือนกันยายน ประเมินได้ว่านักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยจาก 10 ตลาดสำคัญ (ได้แก่ จีน ยุโรปตะวันตก สหรัฐฯ รัสเซีย เอเชียและอาเซียนบางประเทศ) อาจทำได้ราว 1.9 ล้านคน ซึ่งเมื่อรวมกับช่วง 9 เดือนแรกของปี จึงเห็นว่าตัวเลข 2 ล้านคนในปี 2564 ยังมีความเป็นไปได้ ภายใต้เงื่อนไขวัคซีนพาสปอร์ตสามารถดำเนินการได้ หรือการเดินทางระหว่างประเทศมีข้อจำกัดน้อยลง
ดังนั้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้าไทย จำเป็นที่ผู้เกี่ยวข้องในภาคการท่องเที่ยวจะต้องได้รับวัคซีน หากประเมินจากการจ้างงานในธุรกิจโรงแรมในพื้นที่ 20 จังหวัดที่พึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติ อาจต้องการวัคซีนอย่างน้อย 2.2 แสนโดส ก่อนเดือนตุลาคม ซึ่งเบื้องต้นทางการก็อยู่ระหว่างพิจารณาและคงเกิดขึ้นได้หากวัคซีนมาตามแผน
ส่วนประเด็นติดตามที่จะมีผลต่อทิศทางเศรษฐกิจในระยะถัดไป ได้แก่ การกระจายวัคซีนในประเทศและแนวทางเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก และแรงกดดันเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมจากภาครัฐ แม้ว่าการทยอยเริ่มฉีดวัคซีนในประเทศจะยังไม่ครอบคลุมประชากรจำนวนมาก จนทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ แต่ก็คาดว่าหากมีการแพร่ระบาดอีกระลอกในประเทศจะไม่รุนแรงเท่ากับที่ผ่านมา
นางสาวธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ กล่าวเพิ่มเติมว่า ยังมีประเด็นเฉพาะหน้าเรื่องภาระหนี้ โดยเฉพาะหนี้ครัวเรือนที่จะยังค้างอยู่ในระดับสูง ทั้งนี้ ผลสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทยล่าสุดชี้ว่า ครัวเรือนยังกังวลกับสถานการณ์รายได้ลด ปัญหาค่าครองชีพ และภาระหนี้สูง อันทำให้มี 10.8% ของผู้ตอบแบบสอบถาม มีภาวะทางการเงินเสี่ยงต่อวิกฤต จึงยังจำเป็นต้องมีการต่ออายุมาตรการดูแลให้กับครัวเรือนเหล่านี้ เช่นเดียวกับธุรกิจเอสเอ็มอี ขณะที่มาตรการฯ สามารถทำได้เฉพาะเจาะจงมากขึ้น ตามพัฒนาการของระยะหนี้ที่ขอรับความช่วยเหลือทางการเงินจากสถาบันการเงิน ที่น่าจะผ่านจุดที่แย่ที่สุดมาแล้วเช่นเดียวกับทิศทางเศรษฐกิจ