มิติหุ้น – ดร. คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรงศึกษาธิการ ได้รับมอบหมายจากรองนายกรัฐมนตรีที่กำกับการบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการให้เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการดำเนินงานพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ครั้งที่ 38-1/2564 ณ อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ โดยคณะกรรมการฯ มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบายและทิศทางการดำเนินงานพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อสร้างนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย และการผลิตครูวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ทั้งด้านคุณภาพและปริมาณ เพื่อให้ได้นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย ที่มีประสิทธิภาพสูง และได้ครูมืออาชีพสายวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ
ดร. คุณหญิงกัลยา กล่าวว่า ประเด็นที่น่าสนใจในการประชุมครั้งนี้ คือ สืบเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2563 ได้อนุมัติหลักการให้ขยายฐานหน่วยงานปฏิบัติงานตอบแทนทุนด้วยการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ของผู้สำเร็จการศึกษาทุน พสวท. รวมถึงภาคเอกชน เนื่องจากปัจจุบันภาคเอกชนได้ลงทุนเพื่อการวิจัยมากขึ้นและมีตำแหน่งงานที่เหมาะสม และคณะกรรมการกำหนดนโยบายการดำเนินงานพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและเทคโนโลยี ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ ได้มีมติเห็นชอบให้ขยายฐานหน่วยงานเอกชนที่มีหน่วยปฏิบัติงานวิจัยและพัฒนาสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลให้ผู้สำเร็จการศึกษาทุน พสวท. สามารถปฏิบัติงานตอบแทนทุนได้ในเบื้องต้น 46 แห่งโดยมีผู้สำเร็จการศึกษาจากทุนการพัฒนาและส่งเสริมผู้ความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ทุน พสวท.) เข้าปฏิบัติงานในหน่วยงานเอกชนเป็นกรณีนำร่องแล้ว เช่น บริษัท เอสบีซี อบาคัส จำกัด สถาบันวิทยสิริเมธี บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ทั้งนี้ ผู้สำเร็จการศึกษาฯ จะต้องรายงานความก้าวหน้าการทำวิจัยทุก 6 เดือน และในการประชุมครั้งนี้ได้มีมติให้เพิ่มหน่วยงานเอกชนอีก 1 แห่ง คือ บริษัทฮอทิเจนเนติคส์ รีเสิร์ช (เอส.อี.เอเซีย) รวมเป็น 47 แห่ง
“การที่นักวิจัยที่เป็นผู้สำเร็จการศึกษาทุน พสวท. ได้เข้าร่วมในหน่วยปฏิบัติงานวิจัยและพัฒนาที่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในหน่วยงานเอกชนตามมีแผนพัฒนาร่วมกันนับว่าเป็นการขยายฐานการวิจัยเพื่อตอบสนองการพัฒนาพัฒนาประเทศได้ตรงจุด รวมทั้งทำให้นักวิจัยได้รับการสนับสนุนในด้านเทคโนโลยีและทรัพยากรที่เหมาะสม ทันสมัยจากภาคเอกชน ส่งผลให้เกิดขวัญกำลังใจที่จะสร้างงานวิจัยตอบแทนประเทศ โดยสอดคล้องกับวัตถุประสงค์แรกเริ่มของการให้ทุน พสวท. คือ ต้องการสร้างนักวิจัยหรือนักวิทยาศาสตร์ศักยภาพสูงมาร่วมพัฒนาประเทศ”
นอกจากนั้นที่ประชุมยังได้มีมติให้ปรับเพิ่มสาขาวิชาที่สามารถเลือกศึกษาในระดับปริญญาตรีสู่ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล เพื่อตอบโจทย์กลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต ภายใต้แนวคิดที่ว่าประเทศไทยสามารถผลักดันการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจใน 2 รูปแบบ ได้แก่ 5 อุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ และ 5 อุตสาหกรรมอนาคต โดยจากเดิมการรับทุน พสวท. ระดับปริญญาตรี สามารถเลือกศึกษาได้เฉพาะด้านวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ 6 สาขาวิชา (คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา ธรณีวิทยา และพฤกษศาสตร์) จึงได้ปรับเพิ่มให้สามารถเลือกศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ประยุกต์ได้ โดยให้พิจารณาสัดส่วนระหว่างวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์กับวิทยาศาสตร์ประยุกต์ ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของประเทศ อีก 42 หลักสูตร เช่น จุลชีววิทยา เคมีบูรณาการ เคมีอุตสาหกรรม เทคโนโลยีชีวภาพ วัสดุศาสตร์และนาโนเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์การกีฬา วิทยาการข้อมูล วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม วิทยาศาสตร์พอลิเมอร์ วิทยาศาสตร์ชีวภาพรังสี วิทยาศาสตร์นิวเคลียร์
www.mitihoon.com