เมย์แบงก์ กิมเอ็ง กรุ๊ป กำหนดกลยุทธ์ หากเกิดการส่งสัญญาณปรับลดขนาด QE

328

มิติหุ้น – นายธีรเศรษฐ์ พรหมพงษ์ นักกลยุทธ์เศรษฐศาสตร์มหภาค บมจ.หลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) สรุปมุมมองจากงานสัมมนา Captains Speak: Capital Flows & Taper Tantrums เศรษฐกิจสหรัฐฯฟื้นเร็วกว่าคาด Bond Yield พุ่ง ถึงเวลาที่ Fed จะไถ่ถอน QE แล้วหรือยัง? และผลกระทบมากขนาดไหน? จัดโดย เมย์แบงก์ กิมเอ็ง กรุ๊ป

ในช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจสหรัฐฯมีสัญญาณการฟื้นตัวที่เร็วกว่าคาดทั้งภาคการผลิต การบริโภค หนุนให้ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Bond Yield) อายุ 10 เร่งตัวจากระดับต่ำกว่า 1% ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ทำจุดสูงสุดเหนือระดับ 1.6% ซึ่งส่งผลกระทบให้เกิดแรงเทขายตลาดพันธบัตร Asean ทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรพุ่งขึ้นเช่นกัน ฟิลิปปินส์ (+86bps) อินโดนีเซีย (+64bps) ไทย (+60bps) และ มาเลเซีย (+47bps)

สิ่งที่เกิดขึ้นเริ่มสร้างความกังวลต่อโอกาสการถอดถอนนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจ (ลดขนาด QE หรือ QE Tapering) ของสหรัฐฯ ซึ่งข้อมูลจาก Bloomberg Consensus ล่าสุดให้น้ำหนักว่าจะเกิดขึ้นในช่วง 1Q22 หลังจากนั้นจะตามมาด้วยการทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายหลังปี 2023 เป็นต้นไป ซึ่งหากเปรียบเทียบกับกรอบระยะเวลาการถอดถอน QE 3 ในช่วงปี 2013 จะพบว่า ครั้งนั้นประธาน Fed ส่งสัญญาณล่วงหน้าก่อนการทยอยลดขนาดประมาณ 6 เดือน (ส่งสัญญาณครั้งแรกเมื่อ 22 พ.ค. 2013 และเริ่มลดขนาดจริง 18 ธ.ค. 2013)

ทั้งนี้หากประเมินในแง่ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อตลาดหุ้นไทย พบว่า ณ วันที่ Fed เริ่มส่งสัญญาณลดขนาดการทำ QE 3 เป็นวันที่ SET Index ทำจุดสูงสุดของรอบที่ระดับดัชนีแตะ 1650 จุด และเริ่มเข้าสู่รอบขาลงหลังจากนั้น จนกระทั่งต้นปี 2014 หลัง Fed เริ่มลดการซื้อพันธบัตรจริง ดัชนีจบรอบขาลงทำจุดต่ำสุดที่ระดับประมาณ 1205จุด และเริ่มฟื้นตัว สะท้อนภาพตลาดหุ้นไทยที่เล่นบน “ความคาดหวัง หรือ Expectation” ทั้งด้านบวกและด้านลบ และจบเมื่อความจริงปรากฏ (Buy on Fact) ซึ่งสามารถนำมาเป็นจุดกำหนดกลยุทธ์หากเกิดการส่งสัญญาณปรับลดขนาด QE รอบนี้ได้เช่นเดียวกัน นั่นคือ ทยอยลดพอร์ตการลงทุน ล็อคกำไร เมื่อ Fed ส่งสัญญาณ และรอจังหวะซื้อกลับหลังจากนั้น อย่างไรก็ตาม QE Tapering ครั้งนี้หากเกิดขึ้นจริงในช่วงปี 2022 จะมีความแตกต่างอยู่หลายประการเมื่อเทียบกับ QE Tapering ที่เกิดขึ้นในปี 2013 ดังนี้

  • Fund Flow ไม่ได้ไหลเข้าสู่ตลาดหุ้นไทย รวมถึงภูมิภาค Asean มากเท่ากับการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบที่ผ่านมา (ปี 2020 Fund flow ขายสุทธิในตลาดหุ้นไทย 8,287 ล้านเหรียญฯ ต่างกับปี 2012 ที่ซื้อสุทธิ 2,504 ล้านเหรียญฯ)
  • ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย อยู่ในระดับที่แข็งแกร่งกว่าครั้งที่ผ่านมา (ใน 2Q13 อยู่ที่ -2.1% ของ GDP ในขณะที่ 4Q20 อยู่ที่ระดับ -0.8% ของ GDP)
  • อัตราเงินเฟ้อ ยังไม่ได้เร่งตัวสูงมากเหมือนครั้งที่ผ่านมา (คาดการณ์เงินเฟ้อปี 2021-2022 ของไทยอยู่ที่ระดับ 0.8% – 1.2% เทียบกับช่วงปี 2012 – 2014 ที่อย่ที่ระดับ 1.9% – 3.1%)

ดังนั้น จากเหตุผลดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Fund flow ที่ไหลออกจากตลาดหุ้นไทยช่วงที่สหรัฐฯกระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นปัจจัยสำคัญจำกัดการไหลออกของ Fund flow หลังการถอดถอนมาตรการผ่อนคลายของสหรัฐฯได้ และทำให้ตลาดหุ้นไทยรอบนี้แม้จะเลี่ยงยากที่จะโดนผลกระทบเชิงลบ แต่จะไม่รุนแรงเหมือน QE Tapering ครั้งที่ผ่านมา

www.mitihoon.com