มิติหุ้น-PLANET ปักธงปี 64 ก้าวสู่การเป็นผู้ให้บริการเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Technology Provider) เต็มตัว ชู 4 กลุ่มเทคโนโลยีเมกะเทรนด์ ประกอบด้วย Telecom, Cyber Security, Digital และ5จี ตั้งเป้าเจาะ 4 ตลาดอัจฉริยะ ที่กำลังมีความต้องการสูงในสังคมยุคใหม่ อาทิ ระบบเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ระบบโรงงานอุตสาหกรรมอัจฉริยะ (Smart Factory) ระบบสำนักงานอัจฉริยะ (Smart Office) และ ระบบการดูแลสุขภาพอัจฉริยะ (Smart Healthcare) ตั้งเป้าภายใน 3 ปี (2564-2566) รายได้โตก้าวกระโดดแตะ 2 พันลบ. ด้านบิ๊กบอส “ประพัฒน์ รัฐเลิศกานต์” ตั้งเป้ารายได้ปี 64 เติบโตประมาณ 25%
นายประพัฒน์ รัฐเลิศกานต์ กรรมการผู้อำนวยการและหัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แพลนเน็ต คอมมิวนิเคชั่น เอเชีย จำกัด (มหาชน) หรือ PLANET ผู้ให้บริการเทคโนโลยีดิจิทัลแบบครบวงจร เปิดเผยว่า ในปี 2564 บริษัทฯ จะก้าวสู่การเป็น Digital Technology Provider อย่างเต็มตัว โดยจะขับเคลื่อนองค์กรด้วยเทคโนโลยีหลัก 4 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มธุรกิจเดิมที่บริษัทดำเนินงานมากว่า 25 ปี มี 2 กลุ่มหลัก และ กลุ่มธุรกิจใหม่ที่มุ่งขยายตลาดสินค้า New S Curve อีก 2 กลุ่มหลัก
โดยกลุ่มธุรกิจเดิม 2 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มที่หนึ่ง เทคโนโลยีกลุ่มสื่อสารโทรคมนาคม (Telecom) ซึ่งเป็น ประกอบด้วย ระบบโครงข่ายสื่อสารผ่านดาวเทียม ระบบสื่อสารมีสายและไร้สาย และระบบสื่อสารผ่านไฟเบอร์ออฟติก กลุ่มที่สอง เทคโนโลยีกลุ่มระบบรักษาความปลอดภัยทางด้านไซเบอร์ (Cyber Security) สำหรับการรักษาความปลอดภัยข้อมูลทางด้านธุรกรรมทางการเงินออนไลน์ การรักษาความปลอดภัยทางด้าน IT และ OT รวมทั้งการรักษาความปลอดภัยข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) มีลูกค้าทั้งภาคเอกชน ธนาคาร หน่วยงานราชการและความมั่นคง รวมทั้งผู้ให้บริการสาธารณะ
ส่วน 2 กลุ่มธุรกิจใหม่ที่เน้นการมุ่งขยายตลาดสินค้าเมกะเทรนด์ที่มีการขยายตัวสูงมากในอีก 10 ปีข้างหน้า และเป็นสินค้า New S Curve ของบริษัทฯ ประกอบด้วย กลุ่มสินค้าด้านเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Technology) และกลุ่มสินค้าด้านเทคโนโลยี 5จี อาทิ Cloud Computing, IoT Platform, CCTV/Video Analytics, Data Center, Telemedicine และ Energy ผ่านโครงข่ายสื่อสาร 5จี
โดยในปี 2564 บริษัทฯ จะเน้นเจาะ 4 ตลาดใหม่ ที่กำลังมีแนวโน้มต้องการเทคโนโลยีอัจฉริยะสูง ประกอบด้วย อันดับแรก ตลาดในกลุ่มเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ซึ่งมีเป้าหมายคือ หน่วยงานเทศบาลและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีความต้องการยกระดับการให้บริการประชาชนในพื้นที่ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สุขภาพแข็งแรง และมีความปลอดภัย อันดับที่สอง ตลาดในกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมอัจฉริยะ (Smart Factory) เป็นกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการพัฒนาด้านการผลิตด้วยหุ่นยนต์และเครื่องจักรอัตโนมัติ มีความต้องการใช้เทคโนโลยี IoT Platform และ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อลดต้นทุน ขณะเดียวกันก็เพิ่มผลผลิต และปรับปรุงการบำรุงรักษาเครื่องจักรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
อันดับที่สาม ตลาดสำนักงานอัจฉริยะ (Smart Office) มีเป้าหมายคือหน่วยงานเอกชนและรัฐบาลที่ต้องการพัฒนาการทำงานทั้งในสำนักงานและนอกสำนักงาน (Work from anywhere) ตามเทรนด์ยุควิถีชีวิตใหม่ (New Normal) ด้วยเทคโนโลยี Cloud Computing และ การประชุมออนไลน์ เพื่อลดต้นทุนการเดินทาง อีกทั้งยังเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานอีกด้วย และอันดับสุดท้าย ตลาดกลุ่มการดูแลสุขภาพอัจฉริยะ (Smart Healthcare) มีเป้าหมายคือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสาธารณะสุข เช่น สถานพยาบาล และองค์กรภายใต้กระทรวงสาธารณะสุข ด้วยเทคโนโลยี Telemedicine, Cloud Computing, Data Center และ AI เพื่อยกระดับสุขอนามัยของประชาชนในพื้นที่ห่างไกลให้ดีขึ้น สามารถเข้าถึงบริการการรักษาได้อย่างทั่วถึง
นายประพัฒน์ กล่าวต่อว่า บริษัทฯ ได้นำเทคโนโลยีทั้ง 4 กลุ่มนี้มาวิจัย พัฒนา ออกแบบ และรวมระบบอย่างครบวงจร ให้เกิดเป็น Solution ใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และรองรับตลาดที่เกิดขึ้นใหม่ที่ได้กล่าวไว้ดังข้างต้น โดยมีเป้าหมายลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เพิ่มผลผลิต อีกทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพและความปลอดภัยของประชาชน
บริษัทฯได้วิจัยและพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่เหล่านี้มากว่า 3 ปี ให้เกิดเป็นโซลูชันอัจฉริยะ โดยปัจจุบันได้ร่วมกับพันธมิตรดำเนินการนำร่องไปติดตั้งและประสบความสำเร็จในการทดสอบใช้งานจริงแล้วหลายโครงการ เช่น โครงการ 5G บ้านฉางเมืองต้นแบบ และ โครงการ ภูเก็ตสมาร์ทซิตี้ เป็นต้น ทำให้หน่วยงานเทศบาลและหน่วยงานตำรวจสามารถเห็นข้อมูลทางด้านคุณภาพอากาศ ใช้ประโยชน์จากภาพกล้องวงจรปิดในการแจ้งเตือนเหตุการณ์ผิดปกติ สืบค้นข้อมูลทะเบียนรถ และตามบุคคล รวมทั้งนำมาใช้ในการควบคุมการจราจร ซึ่งจะเป็นโครงการต้นแบบให้กับเทศบาลได้สร้างเมืองอัจฉริยะอื่น ๆ ต่อไป ถือว่ามีแนวโน้มดีมากและมีโอกาสขยายการดำเนินงานหลายเท่าตัวในอนาคต
“ บริษัทฯ ได้วิจัยและพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่เหล่านี้มากว่า 3 ปี โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในองค์กร เพิ่มผลผลิต อีกทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพและความปลอดภัยของประชาชน ขณะนี้เรามีความพร้อมเดินหน้าให้บริการลูกค้า โดยได้นำร่องไปติดตั้งเพื่อทดสอบการใช้งานจริงแล้วหลายโครงการ มั่นใจจากนี้แนวโน้มเติบโตหลายเท่าตัว และจะส่งผลดีต่อผลประกอบการของบริษัทฯในหลังจากนี้อย่างแน่นอน สำหรับในปี 2564 ตั้งเป้าหมายรายได้เติบโต 25% และในอีก 3 ปีข้างหน้าจะสามารถส่งให้รายได้เติบโตแตะ 2 พันล้านบาท ” นายประพัฒน์กล่าว
www.mitihoon.com