นายสุรชัย โฆษิตเสรีวงค์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานบัญชีและการเงิน บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บางจากฯ ร่วมกับ บริษัท บีซีไอ (ประเทศไทย) จำกัด ในการนำนวัตกรรมการให้บริการหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์บนเทคโนโลยีบล็อกเชน (Letter of Guarantee on Blockchain) ประเภท Common Node (Website) ที่สามารถใช้บริการผ่านช่องทาง Web application มาปรับใช้ในกระบวนการตรวจสอบหนังสือค้ำประกันจากคู่ค้าและลูกค้าของบริษัท บางจากฯ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ ช่วยให้กระบวนการพิจารณาดำเนินต่อเนื่องได้สะดวกรวดเร็วขึ้นควบคู่ไปกับการลดขั้นตอนการทำงาน และลดค่าใช้จ่าย
โดยมีบริษัท บีซีไอ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม Blockchain สำหรับภาคธนาคาร ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย การรับหนังสือค้ำประกันผ่านระบบ Blockchain ได้เริ่มทดลองใช้ตั้งแต่เดือนกันยายน 2563
ทำให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในระบบการทำงาน เสริมศักยภาพและความคล่องตัวในการทำงาน ช่วยลดต้นทุนในการจัดการเอกสารและข้อมูล เนื่องจากทำงานผ่านระบบ Cloud Technology ตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ ป้องกันการปลอมแปลง รองรับการทำธุรกรรม และการตรวจสอบสถานะได้ตลอด 24 ชั่วโมง เป็นการเชื่อมต่อเครือข่ายของทุกธนาคารที่เข้าร่วมภายใต้แพลตฟอร์มเดียวกันนี้ ซึ่งเป็นผลดีต่อการพัฒนาและต่อยอดระบบให้เป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เข้าถึงทุกกลุ่มธุรกิจ และช่วยยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันให้ธุรกิจไทยได้
นายสิริวัฒน์ เกียรติเจริญสิน ผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีซีไอ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า บีซีไอ มุ่งมั่นที่จะพัฒนาแพลตฟอร์มหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ Blockchain ให้มีประสิทธิภาพ ปลอดภัยได้มาตรฐานระดับสากล ส่งเสริมให้ผู้ใช้บริการสามารถบริหารจัดการและอำนวยความสะดวกให้แก่คู่ค้าในการดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง แม้ในช่วงการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัสหรือไวรัสโควิด-19 (COVID-19) แพลตฟอร์มหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบบล็อกเชนได้มีบทบาทสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนธุรกิจไม่ให้หยุดชะงัก
โดยช่วยลดขั้นตอนที่ยุ่งยาก ช่วยลดเวลาในการจัดการเอกสาร ลดเอกสารจำนวนมาก ประหยัดเวลาดำเนินการและช่วยลดต้นทุนบนพื้นฐานของความถูกต้อง แม่นยำและโปร่งใส ทั้งนี้ บีซีไอ ยังได้นำศักยภาพทางด้านเทคโนโลยีขององค์กรร่วมวางโครงสร้างพื้นฐานทางด้านระบบ Blockchain ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ระบบการเงินใหม่ๆ ภายใต้โครงการ Financial Use Cases for Digital Business in Thailand เพิ่มขึ้นในอนาคตอีกด้วย
ทั้งนี้ จากการเปิดเผยข้อมูลของ บีซีไอฯ ระบุว่า เทคโนโลยี Blockchain ดังกล่าว ก่อตั้งจากความร่วมมือ ระหว่างบริษัท บีซีไอ (ประเทศไทย) จำกัด และ 6 ธนาคารพาณิชย์ไทย ประกอบด้วย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารทหารไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ เพื่อให้บริการหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านเทคโนโลยีบล็อกเชน
โดยนำศักยภาพทางด้านเทคโนโลยีขององค์กรมาร่วมพัฒนาให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนและขับเคลื่อนธุรกิจทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน ลดต้นทุนในกระบวนการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจ ส่งเสริมพัฒนาให้พร้อมที่จะเติบโตสร้างความสามารถในการแข่งขันบนโลกยุคดิจิทัล ซึ่งจะร่วมใช้งานระบบพร้อมกับธนาคารอื่นอีก โดยมีผู้เชี่ยวชาญที่ช่วยสนับสนุนด้านเทคโนโลยี ให้คำปรึกษาในการจัดตั้งบริษัท รวมถึงด้านกฎหมาย ทั้ง 7 บริษัท ได้แก่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กสิกร บิซิเนส เทคโนโลยี กรุ๊ป บริษัท เอคเซนเชอร์ โซลูชั่นส์ บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด บริษัท ศูนย์ประมวลผล จำกัด บริษัท ทีบีเอ็น ซอฟต์แวร์ จำกัด และบริษัท แม็คเค็นซี่ จำกัด
ซึ่งล่าสุด คือการร่วมพัฒนาโครงการ Bank Confirmation on Blockchain คาดว่าจะใช้งานได้จริงในไตรมาส 3 ปี 2564 โดยความร่วมมือของธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และบริษัท บีซีไอ (ประเทศไทย) จำกัด ในการนำกระบวนการออกหนังสือรับรองทางการเงิน มาผนวกเข้ากับเทคโนโลยี Blockchain ทำให้การจัดการธุรกรรมและข้อมูลของสถาบันการเงินมีประสิทธิภาพสูง รวดเร็ว ปลอดภัย และน่าเชื่อถือ เป็นประโยชน์ต่อภาคธุรกิจการเงินและบัญชี
นอกจากนี้ นายสุรชัย โฆษิตเสรีวงค์ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2564 นี้ บางจากฯ มีแผนจะต่อยอดการใช้ LG on Blockchain ของกลุ่มบริษัทบางจากฯ และจะเข้าร่วมในการพัฒนาโครงการ Bank Confirmation on Blockchain ด้วย ซึ่งที่ผ่านมานั้น นอกเหนือจากเทคโนโลยี Blockchain กลุ่มงานบัญชีและการเงิน บริษัท บางจากฯ ได้นำเทคโนโลยี Robotic Process Automation หรือ RPA มาพัฒนาระบบงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
โดย RPA เป็นระบบซอฟต์แวร์ที่เปรียบเสมือนเป็นหุ่นยนต์ซอฟต์แวร์ (Robot) ทำหน้าที่แทนมนุษย์ มีความสามารถในการบริหารจัดการข้อมูลที่มีรูปแบบต่างๆจำนวนมาก และประเภทงานที่ต้องทำซ้ำๆ ด้วยรูปแบบเหมือนเดิม เช่น การตรวจสอบการบันทึกข้อมูลการรับ-จ่ายเงิน และตรวจสอบยอดฝากธนาคาร การนำส่งข้อมูลให้กับราชการด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ช่วยให้กระบวนการทำงานรวดเร็ว ถูกต้อง และสามารถทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง
www.mitihoon.com