“เงินติดล้อ”เดินหน้าโรดโชว์ดีล IPO ครั้งประวัติศาสตร์ของหุ้นในกลุ่มธุรกิจเงินทุนและหลักทรัพย์ ชูผลประกอบการแข็งแกร่ง-โตยั่งยืน พร้อมเปิดจองซื้อหุ้นสำหรับนักลงทุนรายย่อยวันที่ 22 – 26 เมษายนนี้

1165

 

บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) หรือ ‘TIDLOR’ เตรียมเสนอขายหุ้น IPO ขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาของหุ้นในกลุ่มธุรกิจเงินทุนและหลักทรัพย์ กำหนดช่วงราคาเสนอขายเบื้องต้นที่ 34.00 – 36.50 บาทต่อหุ้น เปิดโอกาสให้นักลงทุนรายย่อยที่สนใจร่วมเป็นเจ้าของและเติบโตไปกับเงินติดล้อ สามารถจองซื้อหุ้น TIDLOR ผ่านช่องทางออนไลน์ของตัวแทนจำหน่ายหุ้นทั้ง 3 รายในวันที่ 22 – 26 เมษายนนี้ กำหนดจองซื้อขั้นต่ำ 1,000 หุ้นที่ราคาเสนอขายสุงสุดที่ 36.50 บาทต่อหุ้น โดยจะใช้วิธีจัดสรรหุ้นแบบ Small Lot First โดยทีมผู้บริหารชูจุดแข็งด้วยโมเดลธุรกิจที่เป็นเอกลักษณ์ มุ่งเน้นการขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่ไม่หยุดนิ่งรับยุคดิจิทัล เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีและความสะดวกแก่ลูกค้าผ่านช่องทางการให้บริการที่หลากหลาย พร้อมเผยผลประกอบการที่แข็งแกร่งผ่านยอดสินเชื่อและเบี้ยประกันวินาศภัยที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ภายใต้การบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ ตอกย้ำการเป็นผู้นำธุรกิจสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน และหนึ่งในผู้นำธุรกิจนายหน้าประกันภัยเพื่อรายย่อยในประเทศไทย

นายปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ เปิดเผยว่า เงินติดล้อมีความมุ่งมั่นที่จะรักษาความเป็นผู้นำในธุรกิจสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน และก้าวสู่การเป็นผู้นำธุรกิจนายหน้าประกันภัยสำหรับรายย่อย ด้วยความตั้งใจที่จะส่งเสริมและยกระดับคุณภาพชีวิตผู้คนให้เข้าถึงบริการทางการเงินอย่างเท่าเทียม โปร่งใส และเป็นธรรม โดยการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในครั้งนี้ จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งและเพิ่มศักยภาพด้านเงินทุนเพื่อรองรับการเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนในอนาคต

ที่ผ่านมาเงินติดล้อ ได้ผสมผสานความเชี่ยวชาญด้านการให้บริการทางการเงินเข้ากับเทคโนโลยีดิจิทัลที่พัฒนาขึ้นโดยเฉพาะเพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่เรียบง่าย สะดวก รวดเร็ว และเหมาะสมต่อลูกค้า โดยเงินติดล้อมุ่งนำเสนอผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่หลากหลาย เช่น สินเชื่อรถจักรยานยนต์ รถยนต์ รถบรรทุก รถไถ รถแทรกเตอร์ เป็นต้น โดยมีฐานลูกค้าเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ของประเทศที่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่ำกว่า 10,000 บาท มีเงินหมุนเวียนไม่แน่นอนและประวัติข้อมูลทางการเงินจำกัด ผ่านการให้บริการด้วยความจริงใจของพนักงานชาวเงินติดล้อที่ขับเคลื่อนด้วยค่านิยมหลัก 7 ข้อ อาทิ ชาวเงินติดล้อล้วนมีจิตวิญญาณความเป็นเจ้าของ ทำงานด้วยความรู้สึกว่าบริษัทนี้เป็นของพวกเรา มีความตั้งใจที่จะทำในสิ่งที่ดี โดยสำหรับการ IPO ในครั้งนี้ เราให้สิทธิพนักงานของเงินติดล้อกว่า 5,000 คนมีโอกาสจองซื้อหุ้นที่ราคา IPO เพื่อร่วมเป็นเจ้าของและเติบโตไปด้วยกัน นอกจากนี้ ชาวเงินติดล้อยังเป็นผู้กระหายเรียนรู้และไม่หยุดพัฒนาตัวเอง และที่เงินติดล้อ เราสนับสนุนให้พนักงานกล้าคิดกล้าลองทำสิ่งใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการทำงานหรือนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลให้เราสามารถออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการที่ตรงตามความต้องการของลูกค้าได้เป็นอย่างดี

โดยล่าสุดเราได้นำเสนอบัตรติดล้อซึ่งเป็นบัตรกดเงินสดหมุนเวียนที่ช่วยให้ลูกค้าสามารถกดเงินสดเพิ่มเติมตามวงเงินสินเชื่อที่ได้รับการอนุมัติโดยไม่ต้องยื่นเอกสารใหม่ ผ่านตู้ ATM ของธนาคารพาณิชย์ชั้นนำที่เป็นคู่ค้าตลอด 24 ชั่วโมง เป็นต้น ดัวยวัฒนธรรมองค์กรของเงินติดล้อที่โดดเด่นและแตกต่าง ส่งผลให้เงินติดล้อเป็นผู้นำธุรกิจสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกันครบวงจร ที่มีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 1 เมื่อคำนวณจากยอดหนี้คงค้างในปี 2562 (อ้างอิงข้อมูลจากโอลิเวอร์ ไวแมน) ส่วนธุรกิจนายหน้าประกันภัยมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ได้แก่ ประกันวินาศภัยแก่ลูกค้ารายย่อย ประกันชีวิตแก่ลูกค้าสินเชื่อ ประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับและภาคสมัครใจ ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล โดยเงินติดล้อ เป็น 1 ใน 3 ผู้นำธุรกิจนายหน้าประกันวินาศภัยที่จำหน่ายแก่ลูกค้ารายย่อย และในปี 2562 – 2563 เบี้ยประกันวินาศภัยที่จัดเก็บได้มีอัตราเติบโตสูงกว่าการเติบโตของภาพรวมเบี้ยประกันวินาศภัยทั้งตลาด 12.5 เท่า โดยมีความเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า ด้วยปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง เงินติดล้อจะสามารถสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนได้ในอนาคต

นางสาวภคมน ตุลยาพิศิษฐ์ชัย ผู้อำนวยการอาวุโส แผนก Digital Transformation กล่าวว่า เงินติดล้อให้ความสำคัญกับการนำนวัตกรรมทางเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้เพื่อเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัล อาทิ โปรแกรมถามตอบอัตโนมัติ (Chatbot), กระบวนการทำงานอัตโนมัติโดยหุ่นยนต์ (Robotic Process Automation), ระบบการแสดงสถานะ (Dashboard) แบบเรียลไทม์ เป็นต้น เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีแก่ลูกค้า ช่วยลดอัตราการเพิ่มบุคลากร และเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน ส่งผลให้เงินติดล้อมีลูกค้าที่ทำธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัลเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมีลูกค้าชำระเงินกู้และค่างวดเบี้ยประกันรถยนต์ทางออนไลน์กว่า 1.1 ล้านรายการ ในปี 2563 ที่ผ่านมา และเว็บไซต์ของเงินติดล้อมีการเข้าถึงมากกว่า 3 เท่าของผู้ให้บริการรายอื่นในธุรกิจใกล้เคียง ระยะเวลาช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ถึงเดือนกรกฎาคม 2563 นอกจากนี้ เงินติดล้อยังได้พัฒนาแพลตฟอร์มอารีเกเตอร์ (Areegator) ซึ่งสามารถเข้าถึงได้โดยบริษัทประกันวินาศภัยที่เป็นคู่ค้า 16 ราย ทำให้ลูกค้าของเราสามารถเปรียบเทียบเบี้ยประกันภัยและความคุ้มครองเพื่อตอบสนองความต้องการเฉพาะของลูกค้าแต่ละราย เพื่อให้นายหน้าประกันภัยอิสระสามารถเข้าถึงคู่ค้าบริษัทประกันภัยของเงินติดล้อ เพื่อความสะดวกและยังสามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์ประกันภัยให้กับลูกค้าได้อย่างมีมาตรฐาน และหลากหลายทางเลือก

นายวีรภัทร์ วิริยะโกวิทยา ผู้บริหารระดับสูงฝ่ายบัญชีและการเงิน เปิดเผยว่า ธุรกิจสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกันของเงินติดล้อมีการเติบโตอย่างแข็งแกร่งโดยมียอดสินเชื่อคงค้าง ณ สิ้นปี 2561 2562 และ 2563 อยู่ที่ 39,724.1 ล้านบาท 47,979.4 ล้านบาท และ 51,331.2 ล้านบาท ตามลำดับ และมีการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วภายหลังเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปีที่ผ่านมา ขณะที่ธุรกิจนายหน้าประกันภัยมีการเติบโตอย่างรวดเร็วและเป็นแรงผลักดันมูลค่าและการเติบโตที่สำคัญ โดยเงินติดล้อมีค่าเบี้ยประกันวินาศภัยที่ขายได้ ณ สิ้นปี 2561 2562 และ 2563 อยู่ที่ 1,917.7 ล้านบาท 2,854.3 ล้านบาท และ 4,010.9 ล้านบาท ตามลำดับ ด้วยอัตราเติบโตร้อยละ 48.8 และ ร้อยละ 40.5 ในปี 2562 และ 2563 ตามลำดับ นอกจากนี้เรายังมีแหล่งเงินทุนที่หลากหลายและมีต้นทุนทางการเงินที่ต่ำจากการได้รับการจัดอันดับเครดิตโดย Tris Rating ในระดับ A- ซึ่งสูงกว่าผู้ให้บริการรายอื่น ในส่วนของการบริหารความเสี่ยง เรามีนโยบายการตั้งสำรองที่รัดกุม มีอัตราส่วน NPL Coverage สูงถึงร้อยละ 325.1 และสามารถรักษาอัตราส่วน NPL ให้อยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 1.7 ณ สิ้นปี 2563 ทั้งหมดนี้ ส่งผลให้เงินติดล้อมีภาพรวมผลการดำเนินงานที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยระหว่างปี 2561 – 2563 มีรายได้รวม 7,569.4 ล้านบาท 9,457.9 ล้านบาท และ 10,558.9 ล้านบาท ตามลำดับ และมีกำไรสุทธิ 1,306.2 ล้านบาท 2,201.7 ล้านบาท และ 2,416.1 ล้านบาท ตามลำดับ โดยมีอัตราเติบโตเฉลี่ยต่อปีของกำไรสุทธิอยู่ที่ร้อยละ 36.0 ในช่วงเวลาเดียวกัน

ทั้งนี้ เงินติดล้อ ได้วางกลยุทธ์รักษาความเป็นผู้นำธุรกิจสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน ผ่านการขยายเครือข่าย
อีกประมาณ 500 แห่งภายในปี 2566 เพิ่มตัวแทนและพนักงานขายทางโทรศัพท์ และการลงทุนด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี พัฒนาแพลตฟอร์มทางการเงินและเปลี่ยนผ่านกระบวนต่างๆ สู่ดิจิทัล (Digital Transformation) โดยการลงทุนอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างประสบการณ์ซื้อสินค้าและบริการจากหลากหลายช่องทางแก่ลูกค้า พร้อมสร้างความแข็งแกร่งให้แพลตฟอร์มนายหน้าประกันภัยและมุ่งสู่การเป็นนายหน้าประกันภัยชั้นนำของประเทศไทย นอกจากนี้ เงินติดล้อยังมองหาโอกาสในการสร้างการเติบโตจากการควบรวมธุรกิจหรือการเข้าซื้อกิจการในเชิงกลยุทธ์เพื่อขยายผลิตภัณฑ์และการให้บริการ และพัฒนาศักยภาพทางเทคโนโลยี ทั้งในประเทศและตลาดอื่นในภูมิภาคอาเซียนหากมีโอกาสที่เหมาะสม

การเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) และการนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ถือเป็นก้าวสำคัญที่จะเสริมความแข็งแกร่งแก่เงินติดล้อ โดยการเสนอขายหุ้น IPO ครั้งนี้ มีจำนวนทั้งสิ้นไม่เกิน 907,428,600 หุ้น ประกอบด้วย 1) การเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนโดยบริษัทฯ ไม่เกิน 210,816,700 หุ้น 2) หุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดยธนาคารกรุงศรีอยุธยา ไม่เกิน 284,144,300 หุ้น และ 3) หุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดย Siam Asia Credit Access Pte. Ltd. ไม่เกิน 412,467,600 หุ้น คิดเป็นสัดส่วนรวมกันไม่เกินร้อยละ 39.1 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการออกและเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนเป็นครั้งแรก นอกจากนี้อาจจัดสรรหุ้นส่วนเกิน (Greenshoe หรือ Over-allotment Option) ไม่เกิน 136,114,200 หุ้น หรือไม่เกินร้อยละ 15.0 ของจำนวนหุ้นที่เสนอขายทั้งหมด เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนและช่วยรักษาเสถียรภาพของราคาหุ้นที่เสนอขายครั้งแรกภายในเวลา 30 วัน นับจากวันแรกที่เข้าซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยได้กำหนดช่วงราคาเสนอขายเบื้องต้นที่ 34.00 – 36.50 บาทต่อหุ้น เมื่อพิจารณาจากความสนใจในการลงทุนอย่างล้นหลามจากนักลงทุนสถาบันชั้นนำทั่วโลก โดยเงินติดล้อและผู้ถือหุ้นเดิมที่เสนอขายหุ้นสามัญในครั้งนี้ได้ร่วมลงนามในสัญญาลงทุนในหุ้นกับนักลงทุนสถาบันคุณภาพที่มีชื่อเสียงทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศที่เป็น Cornerstone Investors รวม 32 ราย โดยคิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 22,800 ล้านบาทที่ราคา 36.50 บาท ซึ่งเป็นราคาสูงสุดของช่วงราคาเสนอขายหุ้นเบื้องต้น หรือคิดเป็นประมาณ 69.0% ของจำนวนหุ้นที่เสนอขายในครั้งนี้ (ไม่รวมการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน) โดย IPO ของหุ้น TIDLOR จะมีมูลค่าการเสนอขายรวมไม่เกิน 35,481 – 38,090 ล้านบาท (รวมการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน) ซึ่งนับเป็น IPO ของหุ้นในหมวดธุรกิจเงินทุนและหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าเสนอขายสูงที่สุด 5 อันดับแรกในประวัติศาสตร์ตลาดทุนไทย

ทั้งนี้ Cornerstone Investors ของ TIDLOR ประกอบด้วยนักลงทุนสถาบันที่มีชื่อเสียงระดับโลก เช่น FIL Investment Management, JP Morgan Asset Management, Lion Global Investors Limited, Neuberger Berman เป็นต้น รวมถึงนักลงทุนสถาบันชั้นนำในประเทศไทย ได้แก่ บลจ. บัวหลวง บลจ. กสิกรไทย บลจ. ไทยพาณิชย์ บลจ. เอไอเอ (ประเทศไทย) บลจ. กรุงไทย บลจ. เอ็มเอฟซี เป็นต้น

ในการเสนอขายหุ้นสามัญของเงินติดล้อในครั้งนี้ มีบริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายร่วม รวมทั้งมีผู้จัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายประกอบด้วย บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบีเอสที จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) จำกัด โดยบริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) จะทำหน้าที่เป็นผู้จัดหาหุ้นส่วนเกินและดำเนินการรักษาเสถียรภาพของราคาหุ้น (Overallotment and Stabilizing Agent)

นักลงทุนรายย่อยที่สนใจสามารถจองซื้อหุ้น TIDLOR ได้ตั้งแต่เวลา 09.00 น. ของวันที่ 22 เมษายน 2564 ถึง เวลา 16.00 น. ของวันที่ 26 เมษายน 2564 ผ่านช่องทางออนไลน์ของตัวแทนจำหน่ายหุ้น 3 ราย ได้แก่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) (สำหรับบุคคลที่เป็นลูกค้าของบริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) เท่านั้น) ตามเวลา วิธีการและเงื่อนไขการจองซื้อที่ตัวแทนจำหน่ายหุ้นแต่ะรายกำหนด โดยการจัดสรรหุ้นจะใช้วิธี Small Lot First โดยต้องจองซื้อหุ้นขั้นต่ำเป็นจำนวน 1,000 หุ้น ที่ราคา 36.50 บาทต่อหุ้น หรือคิดเป็นมูลค่า 36,500 บาท โดยไม่จำกัดจำนวนหุ้นที่จองซื้อต่อหนึ่งใบจอง นักลงทุนรายย่อยที่จองซื้อและชำระเงินครบถ้วนทุกจะได้รับจัดสรรหุ้นในรอบแรกเป็นจำนวนขั้นต่ำที่ 1,000 หุ้น จากนั้นจะได้รับการจัดสรรเพิ่มรอบละ 100 หุ้นต่อราย ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจำนวนหุ้นเบื้องต้นที่เสนอขายต่อผู้จองซื้อรายย่อยจะครบตามจำนวนที่กำหนด ทั้งนี้ การจัดสรรหุ้นจะดำเนินการโดยระบบคอมพิวเตอร์ของบริษัท เซ็ทเทรด ดอท คอม จำกัด โดยคาดว่าจะสามารถประกาศผลการจัดสรรและรายชื่อผู้จองซื้อรายย่อยที่ได้รับการจัดสรรผ่านทาง https://www.settrade.com ได้อย่างช้าภายในวันที่ 28 เมษายนนี้  ในกรณีที่ราคาเสนอขายหุ้นสุดท้ายต่ำกว่า 36.50 บาทต่อหุ้น นักลงทุนที่จองซื้อแต่ละรายจะได้รับคืนเงินส่วนต่างระหว่างราคา 36.50 บาทต่อหุ้น กับราคาเสนอขายสุดท้าย ตามรายละเอียดที่กำหนดไว้ในหนังสือชี้ชวนของ TIDLOR

ผู้สนใจลงทุนสามารถศึกษาข้อมูลจากแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และหนังสือชี้้ชวนของ TIDLOR ที่ได้รับการอนุมัติจากสำนักงาน ก.ล.ต. และมีผลบังคับใช้แล้วได้ที่เว็บไซต์ของสำนักงาน ก.ล.ต. www.sec.or.th และสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมและความเคลื่อนไหวของ TIDLOR ได้ที่ https://www.tidlorinvestor.com/

www.mitihoon.com