คณะกรรมการ ก.ต.ท. เห็นชอบหลักเกณฑ์รองรับการระดมุทนของเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ

51

มิติหุ้น – คณะกรรมการกำกับตลาดทุน (ก.ต.ท.) มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์เพื่อรองรับการระดมทุนของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) และวิสาหกิจเริ่มต้น (สตาร์ทอัพ) พร้อมส่งเสริมให้เอสเอ็มอีเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดรองสำหรับเอสเอ็มอี (SME Board) และเตรียมเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อหลักเกณฑ์จากประชาชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่อไป

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ก.ต.ท. ครั้งที่ 6/2564 เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 มีมติเห็นชอบการออกหลักเกณฑ์เพื่อรองรับการระดมทุนในวงกว้างและเข้าจดทะเบียนในตลาดรองสำหรับเอสเอ็มอี เพื่อเพิ่มทางเลือกการเข้าถึงแหล่งทุนในตลาดทุนให้กับกิจการ โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลผู้ลงทุนให้ได้รับความคุ้มครองที่เหมาะสมทั้งในตลาดแรกและตลาดรอง

ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ประสานความร่วมมือในการพิจารณาหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องตั้งแต่การระดมทุนตลาดแรก การทำหน้าที่ภายหลังจากการเสนอขาย และการเข้าจดทะเบียนในตลาดรอง ตลอดจนการจัดตั้งตลาดรองสำหรับ SME (SME Board) โดยจะกำหนดให้เอสเอ็มอีที่จะระดมทุนในวงกว้างและเข้าจดทะเบียนในตลาดรองต้องมีสถานะเป็นบริษัทมหาชนจำกัดซึ่งมีกลไกตามกฎหมายในการคุ้มครองผู้ถือหุ้นรายย่อยที่เหมาะสมและมีความสอดคล้องกับรูปแบบการระดมทุนจากบุคคลในวงกว้าง ทั้งนี้ จะผ่อนปรนหลักเกณฑ์ทั้งในตลาดแรกและตลาดรองเพื่อให้ไม่เป็นภาระต่อภาคธุรกิจมากเกินไป เช่น ไม่ต้องยื่นคำขออนุญาต ไม่กำหนดให้มีที่ปรึกษาทางการเงิน และไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียม เป็นต้น โดยกิจการยังคงต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ดังนี้

             (1) ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลเพื่อเปิดเผยข้อมูลของกิจการและงบการเงินที่ผ่านการตรวจสอบจากผู้สอบบัญชีที่สังกัดสำนักงานสอบบัญชีที่ผ่านการตรวจคุณภาพจาก ก.ล.ต.

              (2) กำหนดให้มีการจัดส่งงบการเงินครึ่งปีและงบปีที่ผ่านการสอบทานหรือตรวจสอบโดยผู้สอบบัญชีที่สังกัดสำนักงานสอบบัญชีที่ผ่านการตรวจคุณภาพจาก ก.ล.ต. และรายงานประจำปี

             (3) มีกรรมการและผู้บริหารสูงสุดของแต่ละสายงานที่ไม่มีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจ และต้องมีหน้าที่ความรับผิดชอบในฐานะที่เป็นกรรมการและผู้บริหาร (fiduciary duty)

             (4) ขายหุ้นผ่านตัวกลาง ซึ่งมีหน้าที่ในการทำความรู้จักลูกค้า (KYC) และแนะนำการลงทุนที่เหมาะสม (Suitability)

ทั้งนี้ การลงทุนในหุ้นของเอสเอ็มอีมีความเสี่ยงที่สูงกว่าการลงทุนในหุ้นของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ผู้ลงทุนที่จะสามารถลงทุนได้จึงจะต้องเป็นผู้ลงทุนที่มีความรู้ความเข้าใจในผลิตภัณฑ์การลงทุน มีประสบการณ์และมีสินทรัพย์สูงในระดับหนึ่งที่สามารถรับความเสี่ยงได้ ได้แก่ ผู้ลงทุนสถาบัน กิจการเงินร่วมลงทุน นิติบุคคลร่วมลงทุน ผู้ลงทุนที่มีลักษณะเฉพาะ กรรมการและพนักงานของเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ หรือบริษัทในเครือ

ด้านการจัดตั้งตลาดรองสำหรับเอสเอ็มอี (SME Board) ปัจจุบันอยู่ระหว่างพิจารณาหลักเกณฑ์ในส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยหลักเกณฑ์ในเบื้องต้นจะกำหนดประเภทผู้ลงทุนให้มีคุณสมบัติตามที่กำหนดเช่นเดียวกับในตลาดแรก และส่งคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ผ่านตัวกลาง รวมทั้งมีการกำกับดูแลในเรื่องการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์เช่นเดียวกับ SET และ mai

“การออกหลักเกณฑ์ในครั้งนี้จะช่วยให้เอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพที่ต้องการระดมทุนในวงกว้าง แต่ยังไม่พร้อมที่จะเข้าไประดมทุนผ่านตลาด SET หรือ mai มีทางเลือกในการเข้าถึงแหล่งทุนที่หลากหลายมากขึ้น โดยผ่อนปรนหลักเกณฑ์เพื่อลดภาระหน้าที่และต้นทุนของกิจการ ก.ล.ต. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลและพัฒนาตลาดทุนมุ่งหวังให้กิจการมีโอกาสระดมทุนและนำเงินที่ได้ไปใช้ในการพัฒนาและต่อยอดกิจการให้เติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ ในขั้นตอนต่อไป ก.ล.ต. จะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทั่วไปและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยคาดว่าหลักเกณฑ์ดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ได้ภายในปี 2564” นางสาวรื่นวดี กล่าว

www.mitihoon.com