มิติหุ้น – ในรายงาน Economics and Portfolio Strategy (EPS) เดือนมิถุนายน 2021 SCBS Chief Investment Office (CIO) ประเมิน 3 ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการจัดพอร์ตการลงทุนในสินทรัพย์ทั่วโลกประกอบด้วย อัตราการเติบโตเศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังจะผ่านจุดสูงสุด ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกกำลังเร่งตัวขึ้นจากปัจจัยด้านอุปทานและฐานต่ำจากปีที่แล้ว ซึ่งจะมีผลทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกยังเกิด sector rotations อยู่อย่างต่อเนื่อง
โดยในรายละเอียด เศรษฐกิจสหรัฐฯเติบโตต่อเนื่องแต่กำลังจะผ่านจุดที่อัตราการเติบโตสูงสุด (growth peak) ในไตรมาส 2/2021 หลังกระตุ้นเศรษฐกิจไปอย่างมหาศาล การขึ้นภาษีกำลังจะเริ่มขึ้น โดยเฉพาะในสหรัฐฯ ที่น่าจะออกเป็นกฎหมายได้ในไตรมาส 3/2021 เช่น ภาษีนิติบุคคล (จาก 21% เป็น 28%) ภาษีที่เก็บบน Capital gain สำหรับกลุ่มผู้มีรายได้สูงที่ลงทุนในหุ้นเกิน 1 ปี (จาก 23.8% เป็น 43.4%) และภาษี GILTI (Global Intangible Low Tax income จาก 10.5% เป็น 21%) โดยจากการวิเคราะห์ของทีมงาน SCBS CIO พบว่ากลุ่มธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีเหล่านี้ค่อนข้างมากประกอบด้วย กลุ่ม Communication Service, Tech, และ Healthcare สำหรับนโยบายการเงินแม้ Fed จะพยามสื่อสารว่าจะไม่รีบปรับนโยบายการเงิน แต่ตัวเลขการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะตัวเลขตลาดแรงงานและอัตราเงินเฟ้อจะยังทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสูงขึ้น เราคาดว่า Fed น่าจะเริ่มมีการส่งสัญญาณ QE tapering ในการประชุมเดือนมิถุนายน (วันที่ 15-16) และเริ่มทำจริงในช่วงปลายไตรมาส 4/2021 เป็นอย่างเร็วที่สุด
ส่วนเศรษฐกิจยุโรป ซึ่งแม้จะประสบภาวะ technical recession ในไตรมาส 1/2021 ที่ผ่านมา แต่กำลังมีการฟื้นตัวต่อเนื่องเป็นลำดับหลังทยอยเปิดเมือง พร้อมด้วยความเสี่ยงเงินเฟ้อที่ต่ำกว่า ทำให้สามารถเก็บนโยบายการเงินผ่อนคลายไว้ได้นานกว่าเมื่อเทียบกับสหรัฐฯ ในขณะที่เศรษฐกิจจีนซึ่งฟื้นตัวได้ก่อนประเทศอื่นๆ จากความสามารถในการควบคุมสถานการณ์ COVID-19ได้ก่อน เริ่มมีสัญญาณชะลอตัวลง ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลจีนที่มีความต้องการแตะเบรคการเติบโตของเศรษฐกิจผ่านการชะลอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยปัจจัยเงินเฟ้อเร่งตัวในหลายประเทศมาจากปัจจัยฐานต่ำจากปีที่แล้วและปัจจัยอุปทาน (ราคาสินค้าโภคภัณฑ์สูงขึ้น) ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อกำไรของผู้ผลิตที่ไม่สามารถส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้นไปให้ผู้บริโภคได้ โดยบริษัทที่อยู่ในประเทศที่ฟื้นตัวช้าน่าจะได้รับผลกระทบนี้ค่อนข้างมาก
ในด้านของตลาดการเงินโลก การเร่งตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรและ sector rotation ยังคงดำเนินต่อไป แม้การฟื้นตัวมากกว่าคาดของเศรษฐกิจและกำไรในตลาดสหรัฐฯ เริ่มชะลอลง แต่ยังคงมีอยู่มากในตลาดพัฒนาแล้วอื่นๆ โดยเฉพาะยุโรป โดย SCBS CIO ยังประเมินว่า หุ้นในกกลุ่ม value and cyclicals จะเติบโตได้ตามเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวและได้รับผลกระทบน้อยกว่ากลุ่มอื่นๆ จากปัจจัยการเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรและการขึ้นภาษี อย่างไรก็ตามในจังหวะที่หุ้นในกลุ่ม high-quality tech stocks ปรับตัวลงค่อนข้างมาก เรามองว่าเป็นจังหวะที่จะเข้าไปทยอยสะสมหุ้นในกลุ่มนี้
สำหรับกลยุทธ์ในการจัดพอร์ตการลงทุนสินทรัพย์ทั่วโลก (Asset Allocation Portfolio Strategy) SCBS CIO มีมุมมองต่อสินทรัพย์ต่างๆ ดังนี้
- ด้วยดอกเบี้ยที่แม้แนวโน้มอยู่ในระดับต่ำมากต่อไปอีกนาน และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่เร่งขึ้น เราชอบหุ้นมากกว่าเงินสดและพันธบัตร
- เรามีมุมมองหุ้นยุโรปเป็น Positive จากแนวโน้มฟื้นตัวมากกว่าคาดของกำไรบริษัทจดทะเบียน ความเสี่ยงเงินเฟ้อต่ำกว่าและการเก็บนโยบบายการเงินแบบผ่อนคลายได้นานกว่าและราคาหุ้นที่ยังไม่แพงเท่ากับในกรณีของสหรัฐฯ; มุมมองตลาดหุ้นจีน เป็น slightly positive จากความเสี่ยงด้านกฎเกณฑ์ภาครัฐที่ถูก priced-in ไปแล้วและ valuation ที่น่าสนใจขึ้น
- Slightly positive ตลาดหุ้นสหรัฐและญี่ปุ่น การปรับลดของตลาดถือเป็นจุดเข้าสะสมหุ้นกลุ่ม value, cyclicals, และ high-quality tech stocks.
- มุมมองตลาดหุ้นไทยเป็น Neutral จาก valuation ที่เริ่มตึงตัว โดยเน้นกลยุทธ์ selective buy การระบาดระลอกใหม่ในไทยที่มีแนวโน้มยืดเยื้อและรุนแรงกว่าคาด ส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและกำไรของบริษัทจดทะเบียน แม้ GDP โดยรวมจะยังฟื้นตัวได้ แต่มาจากการฟื้นตัวของภาคส่งออกเป็นหลัก ในขณะที่การบริโภคภาคเอกชนอาจเข้าสู่ภาวะ technical recession ในไตรมาส 2/2021
- ในตลาดหุ้น ASEAN เราชอบตลาดหุ้นเวียดนาม จากการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจและกำไรบริษัทจดทะเบียน รวมถึง valuation ที่ยังไม่แพงเมื่อเทียบกับในอดีตและตลาดหุ้นอื่นในภูมิภาค
- เพื่อจัดการกับความเสี่ยงเงินเฟ้อเราชอบน้ำมันซึ่งจะได้แรงหนุนจากการเปิดเมืองมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง มากกว่าทองซึ่งน่าจะถูกกระทบจากการขยับขึ้นต่อเนื่องของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรและเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่กำลังผ่านจุดต่ำสุด รวมถึงระยะหลังทองคำเหมือนถูกใช้เป็นหลุมหลบภัยในช่วงที่สินทรัพย์ประเภท crypto มีราคาผันผวน ซึ่งนำมาสู่ความผันผวนที่สูงของราคาทองเช่นกัน สุดท้าย เรามีมุมมอง REITs เป็น Slightly positive จาก valuation ที่ตึงตัวและการขยับขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตร
ในรายละเอียดท่านสามารถติดตามรายงาน Economics and Portfolio Strategy (EPS) เดือนมิถุนายน 2021 ของทาง SCBS Chief Investment Office (CIO) ได้ที่ https://bit.ly/3x1Mj7z
www.mitihoon.com