ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ขออนุญาตส่ง มุมมองการลงทุนประจำสัปดาห์ 7-11 กค 64 โดย Wealth Advisory by CIMB Thai Bank

77
มิติหุ้น –  ตลาดหุ้นไทยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแม้ว่าจะมีการชะลอตัวลงในช่วงปลายสัปดาห์ โดยได้ปิดที่ระดับ 1,611.53 จุด เนื่องจากตลาดหุ้นไทยยังคงได้รับแรงสนับสนุนจากความคืบหน้าของวัคซีนต้านโรคโควิด-19 ที่มีความชัดเจนเพิ่มมากขึ้น ในขณะเดียวกันแรงซื้อของนักลงทุนต่างชาติเริ่มกลับมาหลังจากที่มีการขายสุทธิออกมาอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ประกอบกับได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการผ่านร่างงบประมาณปี 2565 ซึ่งคิดเป็นจำนวนราว 3.1 ล้านล้านบาท และการปรับตัวเพิ่มขึ้นของหุ้นในกลุ่มใหญ่อย่างเช่น น้ำมัน ได้ส่งผลให้ตลาดมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ทั้งนี้จำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศที่อยู่ในระดับสูงยังคงเป็นประเด็นที่กดดันตลาดหุ้นไทยซึ่งต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ดังนั้นแม้ว่าตลาดหุ้นไทยจะเริ่มมีปัจจัยสนับสนุนเข้ามาแต่ยังคงเป็นปัจจัยที่ไม่ได้มีความชัดเจนมากนัก ประกอบกับยังคงได้รับแรงกดดันจากจำนวนผู้ติดโรคโควิด-19 ที่ค่อนข้างสูง ทำให้นักลงทุนที่ลงทุนในตลาดหุ้นไทยอยู่อาจอาศัยจังหวะที่ตลาดหุ้นไทยมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นในการทยอยขายเพื่อทำกำไรออกมา และสำหรับนักลงทุนที่ยังไม่มีการลงทุนและสนใจในตลาดหุ้นไทยอาจชะลอการลงทุนและจับตาดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป
ตลาดหุ้นต่างประเทศดัชนี S&P 500 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาด้วยปริมาณการซื้อขายที่ค่อนข้างเบาบาง ตลาดปรับตัวเพิ่มขึ้นนำโดยหุ้นกลุ่มพลังงานหลังราคาน้ำมันขึ้นไปแตะระดับสูงสุดในรอบ 2 ปี ในขณะที่หุ้นกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย (Consumer Discretionary) ถูกกดดันจากหุ้น Tesla ที่ปรับตัวลดลงหลังยอดขายในจีนลดลงกว่าที่คาด ด้านตลาดแรงงานของสหรัฐฯ ยังคงมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องโดยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรเพิ่มขึ้น 559,000 ตำแหน่งและอัตราการว่างงานลดลงมากกว่าที่คาดอยู่ที่ระดับ 5.8% บ่งชี้เศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและอาจจะทำให้ FED กลับมาพิจารณานโยบายที่เข้มงวดเร็วขึ้น ส่วนทางฝั่งยุโรปนั้นเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องจากการฉีดวัคซีนที่ทำได้เร็วกว่าที่คาด ทำให้เงินเฟ้อออกมาที่ระดับ 2% สูงกว่ากรอบเป้าหมายกดดันการลดนโยบายเชิงผ่อนคลาย ตลาดหุ้นเอเชียยังคงถูกกดดันจากจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้นในบางภูมิภาค แนะนำกระจายการลงทุนในหุ้นกลุ่มวัฏจักรขนาดใหญ่ที่ได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและหุ้นในฝั่งยุโรปเนื่องจากมูลค่าพื้นฐานยังอยู่ในระดับที่น่าสนใจ
ตลาดตราสารหนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุคงเหลือ 10 ปี มีการปรับตัวลงสู่ระดับ 1.554 % เป็นระดับต่ำที่สุดนับจากช่วงต้นเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งระหว่างสัปดาห์ผลตอบแทนพันธบัตรมีการปรับตัวขึ้นแตะระดับกว่า 1.640% ก่อนจะปรับตัวลงอย่างแรงในวันศุกร์จากการเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร (Non-farm payroll) นอกจากนี้ ปริมาณการซื้อขายสินทรัพย์ตราสารหนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น อยู่ในระดับที่ค่อนข้างเบาบาง โดยคาดว่านักลงทุนมีการชะลอการซื้อขายเพื่อจับตาดูผลการประชุมของทางคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) ที่จะมีขึ้นในกลางเดือนนี้ ซึ่งอาจส่งผลให้อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรมีความผันผวนสูงขึ้นได้ สำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ต่ำยังคงแนะนำคงสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้เพื่อกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนและสร้างผลตอบแทนที่มั่นคง
ตลาดสินทรัพย์ทางเลือกสัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือน ส.ค. ปิดที่ 1,890.8 ดอลลาร์ สรอ./ออนซ์ ปรับตัวลดลง 0.76% เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อน ราคาทองคำปรับตัวลงแรงระหว่างสัปดาห์ จากการแข็งค่าขึ้นของสกุลเงินดอลลาร์ สรอ. โดยราคาทองคำลงไปทำจุดต่ำสุดระหว่างสัปดาห์ที่ 1,855.6 ดอลลาร์ สรอ./ออนซ์ อย่างไรก็ตาม ราคาทองคำสามารถปรับตัวบวกในช่วงท้ายสัปดาห์หลังกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยข้อมูลการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือน พ.ค. ที่เพิ่มขึ้นอย่างมากจากระดับในเดือน เม.ย. นอกจากนี้การปรับตัวลดลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสนับสนุนราคาทองคำ สำหรับนักลงทุนระยะยาว แนะนำให้คงสัดส่วนการลงทุน 3-5% ของพอร์ตการลงทุน เพื่อกระจายความเสี่ยงโดยรวมของพอร์ตการลงทุน
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน ก.ค. ปิดที่ 69.62 ดอลลาร์ สรอ./บาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.08% เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อน ราคาน้ำมันปรับตัวบวกแรงตลอดทั้งสัปดาห์และปรับตัวขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบกว่า 2 ปี โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากผลการประชุมของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC) และชาติพันธมิตร หรือ OPEC+ ที่จะปรับเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยจะเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมัน 2.1 ล้านบาร์เรล/วัน ระหว่างเดือน พ.ค. – ก.ค. นอกจากนี้ ราคาน้ำมันยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการปรับเพิ่มอุปสงค์ในครึ่งปีหลังของบรรดานักวิเคราะห์หลายแห่ง รวมทั้งการแจกจ่ายวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว จะช่วยให้ตลาดน้ำมันโลกกลับสู่ภาวะสมดุลได้เร็วขึ้น แนะนำให้คงสัดส่วนการลงทุน
สัปดาห์ที่ผ่านมา Bond Yield ทั่วโลกทรงตัวใกล้เคียงระดับเดิมสอดคล้องกัน โดยตลาดการเงินเริ่มกลับมากังวลอีกครั้งหลังจากประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) สาขาฟิลาเดลเฟีย กล่าวว่าอาจถึงเวลาพิจารณาลดวงเงิน QE สะท้อนจากตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ยังคงออกมาดีกว่าคาดการณ์ บ่งบอกถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามผลการประชุมของ FOMC ในช่วงกลางเดือน มิ.ย. นี้ ด้าน REIT Yield ส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงทั่วโลกจากการปรับเพิ่มขึ้นของราคา ขณะที่ TH ทรงตัวใกล้เคียงระดับเดิม อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจาก Yield Spread พบว่า REIT ทั่วโลกค่อนข้างมีมูลค่าที่แพงเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี แนะนำคงสัดส่วนการลงทุน
Asset Allocationการจัดสรรสินทรัพย์ลงทุนและกองทุนที่แนะนำในสัปดาห์นี้
ภาพรวมตลาดหลักทรัพย์ในสัปดาห์ที่แล้วแกว่งตัวในกรอบ โดยในช่วงต้นสัปดาห์ตลาดหลักทรัพย์โดยรวมตอบรับในเชิงบวกและคลายความกังวลเกี่ยวกับการลดการผ่อนคลายของนโยบายการเงินลง หลังจากคณะกรรมการ FED ยังคงเน้นย้ำให้ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะยังไม่ลดวงเงินการเข้าซื้อพันธบัตรและการเร่งตัวขึ้นของเงินเฟ้อเป็นเพียงระยะสั้นเท่านั้น โดยแม้ว่าจะมีข่าวว่ามีการดูดซับสภาพคล่องกลับผ่านการทำธุรกรรม Reverse Repo ตลาดการเงินก็ไม่ได้กังวลแต่อย่างใด นอกจากนี้ยังมีความคาดหวังต่อแผนงบประมาณรายจ่ายประจำปีของรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของ ปธน. โจ ไบเดน ที่อาจขาดดุลสูงถึง 6 ล้านล้านดอลลาร์ สรอ. โดยจะมีการปรับขึ้นภาษีจากภาคธุรกิจเพื่อชดเชยการขาดดุลดังกล่าว ในขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจก็ยังสะท้อนให้เห็นถึงการฟื้นตัวต่อเนื่อง นำโดยยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทน (Core Durable Goods) ที่ออกมาดีกว่าคาด และการจ้างงานนอกภาคเกษตร (Nonfarm Payrolls) เดือน พ.ค. ที่เพิ่มขึ้น 559,000 ตำแหน่ง ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้เล็กน้อยที่ 675,000 ตำแหน่ง โดยส่วนใหญ่เป็นการจ้างงานในกลุ่มการบริการ นำโดยร้านอาหารและบาร์ต่างๆ ที่ได้รับผลบวกจากการลดลงของจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่และการเร่งฉีดวัคซีน ในขณะที่หุ้นยุโรปปรับตัวสูงขึ้นทำสถิติใหม่จากความคาดหวังต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ประกอบกับตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อภาคการผลิต (PMI Manufacturing) เดือน พ.ค. ที่ออกมาอยู่ที่ระดับ 63.1 สูงที่สุดตั้งแต่มีการสำรวจตั้งแต่ปี 2540 และปรับตัวสูงขี้นต่อเนื่องมาตลาด 5 เดือนที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่น่าจะดีในช่วงต่อไป อย่างไรก็ตามตลาดหุ้นส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงในช่วงท้ายสัปดาห์จากแรงเทขายทำกำไรและการปรับพอร์ตฟอลิโอของนักลงทุน
เรายังมองว่าแม้ประเด็นเรื่องของแรงกดดันเงินเฟ้อจะยังมีอยู่ หลังจากเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศพัฒนาที่มีการเร่งฉีดวัคซีนน่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปรกติอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดอุปสงค์ต่างๆ และกดดันราคาสินค้าเนื่องจากภาคอุปทานใช้เวลามากกว่าในการกลับเข้าสู่ภาวะปรกติ แต่ด้วยปัจจัยแวดล้อมของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ไม่ใช่เพียงสหรัฐฯ อีกต่อไป นโยบายการเงินที่ยังผ่อนคลาย และนโยบายการคลังแบบขาดดุลน่าจะมีส่วนช่วยทำให้นักลงทุนยังมีมุมมองเชิงบวกต่อการลงทุนในตลาดทุนต่อไป โดยเรายังคงแนะนำสะสมกองทุนในจีนและยุโรป ได้แก่ กองทุนเปิดกรุงศรีไชน่าเอแชร์อิควิตี้ (KFACHINA-A) กองทุนเปิดเอ็มเอฟซี ไชน่า อิควิตี้ (MCHINAGD) และกองทุนเปิดเคแทม ยูโรเปียน อิควิตี้ ฟันด์ (KT-EURO) ในขณะที่นักลงทุนที่คาดหวังผลตอบแทนสูงกว่าตลาดและคุ้นเคยกับหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีเราแนะนำกองทุนเปิดพรินซิเพิล ไชน่า เทคโนโลยี (Principal CHTECH-A) โดยกลยุทธ์หลักยังเป็นการกระจายความเสี่ยงและลดการกระจุกตัวออกจากสหรัฐฯ และกลุ่มเทคโนโลยีในสหรัฐฯ เป็นหลัก
สัปดาห์นี้ติดตามการตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญนำโดยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐฯ (10 มิ.ย.) ซึ่งหากออกมาสูงกว่าคาดที่ 3.6% (YoY) อาจจะทำให้เกิดความผันผวนในตลาดหลักทรัพย์อีกครั้ง รวมถึงการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) โดยคาดว่าจะยังคงวงเงินการเข้าซื้อพันธบัตราตามโครงการ (PEPP) เท่าเดิม แต่นักลงทุนจับตาดูท่าทีเกี่ยวกับการชะลอการซื้อสินทรัพย์ผ่านโครงการ PEPP ในอนาคต ความคืบหน้าของการประชุม G-7 ที่อังกฤษ ซึ่งมีประเด็นเรื่องของการเก็บภาษีของบริษัทขนาดใหญ่ระหว่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีการประชุมประจำปี Worldwide Developers Conference (WWDC21) ของ Apple ที่จะเปิดเผยข้อมูลและแนวการทางพัฒนาใหม่ๆ ซึ่งอาจส่งผลต่อราคาหลักทรัพย์
www.mitihoon.com