ตารางราคาน้ำมันเฉลี่ยรายสัปดาห์ [เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ] | |||||
น้ำมันดิบ | น้ำมันสำเร็จรูป | ||||
เบรนท์ (ICE Brent) |
เวสท์เท็กซัสฯ (NYMEX WTI) |
ดูไบ (Dubai) | เบนซิน ออกเทน 95 |
ดีเซล | |
ราคา | 71.53 | 69.47 | 71.21 | 83.81 | 78.42 |
เปลี่ยนแปลง | -3.51 | -3.23 | -1.78 | -2.09 | -1.62 |
สถานการณ์ตลาดน้ำมันสัปดาห์ที่ 2-6 ส.ค. 64 และแนวโน้ม 9-13 ส.ค. 64
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
- ปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่านที่ยังคงตึงเครียด ล่าสุดสหรัฐฯ และอังกฤษ กล่าวหาอิหร่านว่าอยู่เบื้องหลังการใช้โดรนโจมตีเรือบรรทุกน้ำมัน Mercer Street (ดำเนินการโดยอิสราเอล) บรรทุกน้ำมันดีเซลปริมาณ 370,000 บาร์เรล บริเวณนอกชายฝั่งโอมานเมื่อวันที่ 29 ก.ค. 64 เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย เป็นชาวอังกฤษ 1 ราย และชาวโรมาเนีย 1 ราย โดยสหรัฐฯ และอังกฤษแถลงจะทำการตอบโต้ ขณะที่รัฐบาลอิหร่านปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา
- บริษัท Chevron ของสหรัฐฯ ปรับลดประมาณการงบประมาณลงทุนในปี 2564 มาอยู่ที่ 1.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ จากเดิมที่ตั้งไว้ 1.4-1.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อเพิ่มสภาพคล่อง ทำให้บริษัทสามารถชำระหนี้และซื้อหุ้นคืนได้ โดยตั้งเป้าซื้อคืน 2-3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี ขณะที่บริษัท Exxon ของสหรัฐฯ ปรับลดงบประมาณลงทุนในปี 2564 มาอยู่ที่ 1.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ จากเดิมที่ตั้งไว้ 1.6-1.9 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งนี้ งบลงทุนที่ลดลงอาจทำให้การขุดเจาะน้ำมันลดลงในอนาคต
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
- นักลงทุนวิตกต่อการแพร่กระจายของเชื้อ COVID-19 สายพันธุ์ Delta ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในจีนและสหรัฐฯ ล่าสุด COVID-19 สายพันธ์ Delta ระบาดอย่างรวดเร็วในจีน รุนแรงที่สุดนับแต่การระบาดในเมือง Wuhan ต้นปี 2563 เนื่องจากสายพันธ์ Delta ที่ติดต่อได้อย่างรวดเร็วและกำลังขยายตัวไปทั่วประเทศ ซึ่งบุคคลากรทางการแพทย์จีนยอมรับว่าการควบคุมโรคครั้งนี้ซับซ้อน และยากลำบากมากกว่าสายพันธ์เดิมที่จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสู่ระดับ 100 ล้านรายในเวลา 1 ปี แต่สายพันธ์ Delta ใช้เวลาเพียง 6 เดือน
- EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ค. 64 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 6 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 439.2 ล้านบาร์เรล สวนทางกับนักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลงจากสัปดาห์ก่อน 3.1 ล้านบาร์เรล
- นักเศรษฐศาสตร์ของบริษัทหลักทรัพย์ Nomura ปรับลดประมาณการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของจีนไตรมาส 3/64 มาอยู่ที่ +5.1% จากไตรมาส 3/63 (ลดลงจากคาดการณ์ครั้งก่อนที่ +6.4%) และไตรมาส 4/64 มาอยู่ที่ +4.4% จากไตรมาส 4/63 (ลดลงจากคาดการณ์ครั้งก่อนที่ +5.3%) และคาดว่า GDP ของปี 2564 จะอยู่ที่ +8.2% จากปี 2563 (ลดลงจากคาดการณ์ครั้งก่อนที่ +8.9%)
แนวโน้มราคาน้ำมัน
ทีมวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้วิเคราะห์ทางเทคนิคราคาน้ำมันดิบ ICE Brent สัปดาห์นี้อยู่ระหว่าง 68 – 72 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำเฉลี่ยมันดิบ ICE Brent สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 6 ส.ค. 64 ลดลง 6% ลดลงมากสุดในรอบ 4 เดือน และ NYMEX WTI ลดลง 7% ลดลงมากสุดในรอบ 9 เดือน จากการแพร่กระจายของ COVID-19 สายพันธ์ Delta ทำให้นักลงทุนกังวลว่าอาจกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมันและการฟื้นตัวทั่วโลก กอปรกับในด้านการเคลื่อนย้ายเงินทุน (Fund Flows) เงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้นกดดันต่อราคาน้ำมัน โดยดัชนีดอลลาร์สหรัฐฯ ปิดตลาดเพิ่มขึ้น 0.59% สู่ระดับ 92.80 จุด สูงสุดในรอบ 2 สัปดาห์
ทางด้านเศรษฐกิจ กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ รายงานยอดจ้างงานนอกภาคการเกษตร (Nonfarm Payroll) ในเดือน ก.ค. 64 เพิ่มขึ้น 943,000 รายจากเดือนก่อน สูงกว่าที่ผลสำรวจนักวิเคราะห์โดย Bloomberg คาดการณ์ว่าเพิ่มขึ้น 870,000 ราย อีกทั้ง รายงานอัตราว่างงาน ในเดือน ก.ค. 64 ลดลง 0.5% จากเดือนก่อน อยู่ที่ 5.4% ต่ำสุดตั้งแต่เดือน มี.ค. 63 ทำให้นักลงทุนกังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วกว่ากำหนด
🚩🚩ห้อง Official Line ห้องไลน์ฟรี มิติหุ้น ทันทุกสถานการณ์การลงทุน หุ้นเด่น หุ้นเด็ดตลอดวัน กับห้องไลน์ @mitihoonwealth ห้องไลน์ที่นักลงทุนเข้าเป็นสมาชิกฟรี ไม่มีเงื่อนไข เพียงคลิกลิงค์นี้ก็เข้าได้เลย และสามารถส่งต่อให้เพื่อนได้