ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ขอนำส่ง มุมมองการลงทุนประจำสัปดาห์ ประจำวันที่ 30 ส.ค.- 3 ก.ย.64

51
มิติหุ้น –  ตลาดหุ้นไทยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นตลอดทั้งสัปดาห์ โดยปิดที่ระดับ 1,611.20 จุด ซึ่งยังคงได้รับแรงหนุนจากนักลงทุนสถาบันที่ซื้อสุทธิเข้ามาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงจำนวนผู้ติดเชื้อภายในประเทศที่เริ่มปรับตัวลดลง ส่งผลให้หุ้นในกลุ่ม Re-opening ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่ทางบริษัทมูดี้ส์ยังได้คงอันดับความเชื่อถือของประเทศไทยไว้ที่ระดับ  Baa1 หรือเทียบเท่า BBB+ และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทยไว้ที่ระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องจับตามอง รวมถึงความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนที่เป็นปัจจัยสำคัญในการกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างเป็นปกติอีกครั้ง ดังนั้นแม้ว่าตลาดหุ้นไทยจะมีแรงซื้อจากนักลงทุนสถาบันอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ยังคงมีมุมมองที่ปรับตัวดีขึ้นเรื่อยๆ แต่ยังคงต้องจับตามองสถานการณ์อย่างใกล้ชิดหลังจากที่เริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ โดยยังคงแนะนำให้ติดตามดูสถานการณ์และชะลอการลงทุนในตลาดหุ้นไทยออกไปก่อน
ตลาดหุ้นต่างประเทศ

ภาพรวมตลาดหุ้นฟื้นตัวทั่วโลกในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ตอบรับคำแถลงการคงนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) โดยนายเจอโรม พาวเวลล์ ได้กล่าวว่าทางเฟดอาจจะมีการประกาศปรับลดวงเงินการเข้าซื้อพันธบัตรภายในสิ้นปีนี้แต่ยังคงยืนยันว่าจะยังไม่รีบปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเร็วๆ นี้ ทำให้ตลาดคลายความกังวลต่อการปรับเปลี่ยนนโยบายทางการเงินและเริ่มกลับมาเข้าซื้อสินทรัพย์เสี่ยงอีกครั้ง ในขณะที่ทางฝั่งยุโรปเองตัวเลขเศรษฐกิจยังคงส่งสัญญาณการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม เราเชื่อว่าการพักฐานน่าจะเกิดขึ้นในระยะสั้นและยังคงแนะนำให้ทะยอยสะสมในหุ้นขนาดใหญ่และหุ้นกลุ่มเติบโตที่น่าจะกลับมาทำได้ดีในช่วงหลังจากนี้

ตลาดตราสารหนี้

ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุคงเหลือ 10 ปี ในสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการปรับตัวขึ้น 5.54 bps สู่ระดับ 1.3087% ในสัปดาห์ที่ผ่านมาผลตอบแทนพันธบัตรมีการปรับตัวขึ้นหลังการเผยการอนุมัติจาก FDA สหรัฐฯ ในด้านการใช้งานอย่างเต็มรูปแบบของวัคซีน Pfizer/BioNTech ซึ่งคาดว่าจะช่วยลดความกังวลของผลข้างเคียงหลังการฉีดวัคซีน ซึ่งเป็นประเด็นที่ชาวอเมริกันบางส่วนยังกังวลอยู่ รวมถึงการแถลงการณ์ของประธานเฟดในงานประชุม Jackson Hole ที่ยังคงจะดำเนินนโยบายแบบผ่อนคลายต่อไปและคาดว่าจะเริ่มทำการลดวงเงินการเข้าซื้อพันธบัตรในช่วงปลายปี แต่ในด้านการปรับอัตราดอกเบี้ยนั้นจะยังไม่มีการพิจารณาชัดเจนในระยะนี้ ยังคงแนะนำรักษาสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้เพื่อกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนและสร้างผลตอบแทนที่มั่นคง โดยแนะนำลงทุนในหุ้นกู้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในระดับ Investment Grade เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้ที่ต่ำ
ตลาดสินทรัพย์ทางเลือก

สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือน ธ.ค. ปิดที่ 1,816.52 ดอลลาร์ สรอ./ออนซ์ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.01% เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อน ราคาทองคำเคลื่อนไหวในกรอบแคบตลอดทั้งสัปดาห์ โดยตลาดการเงินเริ่มคลายความกังวลต่อประเด็นการใช้นโยบายการเงินของสหรัฐฯ ที่อาจเข้มงวดขึ้นหลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) หลังทาง FED แถลงว่าอาจจะเริ่มปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE Tapering) ในปีนี้แต่ยังคงยืนยันไม่รีบเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แนะนำคงสัดส่วน โดยระยะสั้นคาดว่าราคาทองคำน่าจะยังปรับตัวบวกได้ แต่ยังคงต้องใช้ความระมัดระวังเนื่องจากระยะยาวราคาทองอาจถูกกดดันจาก bond yield ที่ปรับตัวขึ้น

สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน ต.ค. ปิดที่ 68.65 ดอลลาร์ สรอ./บาร์เรล ปรับตัวลดลง 10.38% เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อน ราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้นตลอดทั้งสัปดาห์ ราคาปรับตัวบวกขึ้นมาท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับภาวะน้ำมันตึงตัวจากการที่บริษัทน้ำมันหลายแห่งพากันยุติการผลิตน้ำมันในอ่าวเม็กซิโก ก่อนที่พายุเฮอริเคนจะพัดถล่มในช่วงสุดสัปดาห์นี้ โดยแท่นขุดเจาะน้ำมันในอ่าวเม็กซิโกผลิตน้ำมันดิบคิดเป็นสัดส่วนราว 17% ของสหรัฐฯ ขณะที่โรงกลั่นน้ำมันตามแนวชายฝั่งอ่าวเม็กซิโกกลั่นน้ำมันคิดเป็นสัดส่วนราว 45% ของสหรัฐฯ แนะนำให้คงสัดส่วนการลงทุน โดยคาดว่าน้ำมันจะยังวิ่งอยู่ในกรอบ 65-75 ดอลลาร์ สรอ./บาร์เรล ในช่วงที่เหลือของปี

สัปดาห์ที่ผ่านมา Bond Yield ทั่วโลกทรงตัวสอดคล้องกัน โดยถึงแม้ธนาคารกลางสหรัฐฯ คณะกรรมการส่วนใหญ่มีความเห็นตรงกันว่า FED ควรจะเริ่มปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE Tapering) ในปีนี้ แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดยังคงหนุนให้นักลงทุนเข้าซื้อสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างพันธบัตรอยู่ด้าน REIT Yield ส่วนใหญ่ทรง โดยเรายังมองว่าการเร่งฉีดวัคซีนให้ประชาชนในประเทศยังคงเป็นหนึ่งแรงหนุนตลาดในระยะข้างหน้า ขณะที่ Yield Spread ของ REIT ทั่วโลกยังคงมีมูลค่าที่ค่อนข้างแพงเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี มีเพียง TH ที่เริ่มกลับมามีมูลค่าในระดับเหมาะสมอีกครั้ง แนะนำคงสัดส่วนการลงทุนจากอัตราปันผลที่ยังอยู่ในระดับน่าสนใจ (4-5%)

Asset Allocation

การจัดสรรสินทรัพย์ลงทุนและกองทุนที่แนะนำในสัปดาห์นี้
ตลาดตลาดหลักทรัพย์ส่วนใหญ่ปรับตัวสูงขึ้นในสัปดาห์ก่อน ซึ่งเร่งตัวขึ้นในช่วงท้ายสัปดาห์หลัง โดยเฉพาะหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็ก และดัชนีสำคัญปรับตัวสูงขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่อีกครั้ง หลังจากประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) แถลงในการประชุมสัมมนาวิชาการประจำปี Jackson Hole ว่า FED จะไม่รีบร้อนลดวงเงินการเข้าซื้อพันธบัตร (QE Taper) รวมถึงการขึ้นดอกเบี้ย โดยต้องรอดูจนกว่าเศรษฐกิจจะกลับเข้าสู่ภาวะการจ้างงานเต็มที่ และไม่ได้กังวลเงินเฟ้อเนื่องจากเกิดขึ้นจากปัจจัยชั่วคราวเท่านั้น ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณที่ค่อนข้างผ่อนคลายกว่าที่นักวิเคราะห์บางส่วนกังวลในช่วงก่อนหน้า หลังจากกรรมการ FED หลายรายออกมาสนับสนุนให้มีการเร่งลดวงเงินในช่วงก่อนหน้า รวมทั้งประเด็นที่สำนักงานอาหารและยา (FDA) ของสหรัฐฯ อนุมัติการใช้งานวัคซีน Pfizer-BioNTech อย่างเต็มรูปแบบ ส่งผลให้ภาคเอกชนสามารถเข้าถึงวัคซีนได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านหน่วยงานของรัฐฯ ในขณะที่หุ้นในฝั่งเอเชียส่วนใหญ่ปรับตัวสูงขึ้นตาม Sentiment ของตลาดโลกจากข่าวการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมูลค่ากว่า 5 หมื่นล้านหยวน อีกทั้งกองทุนชื่อดัง ARK Investment กลับมาซื้อหุ้นจีนอีกครั้ง นำโดยหุ้นเทคโนโลยีอย่าง JD.COM เนื่องจากมองว่ายังคงน่าสนใจในระยะยาว และขอบเขตของการกำกับดูแลที่เริ่มเห็นชัดเจนมากขึ้น ทำให้หุ้นเทคโนโลยีของจีนฟื้นตัวแรงในช่วงต้นสัปดาห์ อย่างไรก็ตาม สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ (SEC) ได้ออกข้อกำหนดใหม่ที่ระบุว่าบริษัทจีนที่ต้องการจดทะเบียนเพื่อซื้อขายในตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะต้องเปิดเผยข้อมูลการดำเนินกิจการในต่างประเทศซึ่งรวมถึงข้อมูลการเสนอขายหุ้น IPO ข้อมูลที่อาจส่งผลกระทบต่อนักลงทุน รวมถึงความเสี่ยงที่หน่วยงานกำกับดูแลของจีนจะเข้ามาแทรกแซงการดำเนินงานของบริษัท ซึ่งอาจส่งผลลบได้ในอนาคตและต้องจับตาดูต่อไป ทั้งนี้หุ้นเวียดนามปรับตัวลดลงสวนทางกับดัชนีอื่นๆ หลังจากเริ่มมาตรการ Lockdown ในเมืองโฮจิมินห์และกำชับให้ประชาชนอยู่กับบ้าน หลังจากเผชิญกับการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง ทำให้นักลงทุนกังวลและเทขายหุ้นออกมาหลังจากปรับตัวสูงขึ้นอย่างโดดเด่นในช่วงปีนี้
โดยเรายังมองว่าความเสี่ยงต่อการปรับฐานยังคงไม่หายไป เนื่องจากสภาพคล่องในตลาดการเงินน่าจะค่อยๆ ลดลง ในขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจโดยรวมยังส่งสัญญาณชะลอตัวเมื่อเทียบกับครึ่งปีแรก และเรื่องของการระบาดของ Delta Variant ก็ยังคงมีอยู่ ทั้งนี้ยังคงเน้นการสะสมการลงทุนเมื่อราคามีการปรับลดลงมา ซึ่งเน้นไปที่กองทุนที่ให้ผลตอบแทนดีในระยะยาว เช่น กองทุนเปิด วรรณ อัลติเมท โกลบอล โกรว์ธ (ONE-UGG-RA) กองทุนเปิดเคแทม ยูโรเปียน อิควิตี้ ฟันด์ (KT-EURO) และอาจเสริมด้วยการลงทุนในจีนเช่นกองทุนเปิดเอ็มเอฟซี ไชน่า อิควิตี้ (MCHINAGD) และกองทุนเปิดพรินซิเพิล เวียดนาม อิควิตี้ (PRINCIPAL VNEQ-A)

สัปดาห์นี้ติดตามตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร (Nonfarm Payrolls) อัตราการว่างงานของสหรัฐฯ และกลุ่มดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (Manufacturing PMI) ในกลุ่มประเทศหลัก ได้แก่ สหรัฐฯ ยุโรป และจีน รวมถึงแนวโน้มการแพร่ระบาดโดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย และประเด็นระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ที่อาจยังมีประเด็นเพิ่มเติมขึ้นมา

🚩🚩ห้อง Official Line ห้องไลน์ฟรี มิติหุ้น ทันทุกสถานการณ์การลงทุน หุ้นเด่น หุ้นเด็ดตลอดวัน กับห้องไลน์ @mitihoonwealth ห้องไลน์ที่นักลงทุนเข้าเป็นสมาชิกฟรี ไม่มีเงื่อนไข เพียงคลิกลิงค์นี้ก็เข้าได้เลย และสามารถส่งต่อให้เพื่อนได้

https://lin.ee/cXAf0Dp