CWT เฮ!! ยื่นอุทธรณ์เทคนิคโรงไฟฟ้าชุมชนผ่าน 10 โครงการ มั่นใจเต็มที่พร้อมรอลุ้นเปิดซองประมูล หวังตุน PPA รู้ผล 23 ก.ย. นี้

123

มิติหุ้น-บมจ.ชัยวัฒนา แทนเนอรี่ กรุ๊ป (CWT) เผยบริษัทในเครือ “ชัยวัฒนา กรีน” ยื่นอุทธรณ์คุณสมบัติและคำเสนอขอขายไฟฟ้าด้านเทคนิคในโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนผ่าน 10 โครงการ จากรอบแรกผ่าน 2 โครงการ รวมปริมาณเสนอขายไม่เกิน 36 เมกะวัตต์ ทั้งหมด 12 โครงการ ลุ้นเปิดซอง 20 กันยายน – ประกาศผล 23 กันยายนนี้ ด้านบิ๊กบอส “วีระพล ไชยธีรัตต์” คาดหวังตุนสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเพิ่มเพื่อเป็นปัจจัยสนับสนุนผลประกอบการเติบโตแข็งแกร่ง พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมและสนับสนุนเศรษฐกิจฐานรากเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ระบุว่าตามที่ผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมากจำนวน 118 รายได้ยื่นอุทธรณ์ผลการพิจารณาคุณสมบัติและคำเสนอขายไฟฟ้าด้านเทคนิค โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง) เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2564 ได้ประกาศรายชื่อผู้ผ่านการพิจารณาอุทธรณ์จำนวน 74 ราย

นายวีระพล ไชยธีรัตต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชัยวัฒนา แทนเนอรี่ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (CWT) เปิดเผยว่า บริษัทในกลุ่มของ บริษัท ชัยวัฒนา กรีน จำกัด ได้ผ่านการพิจารณาอุทธรณ์ มีทั้งหมด 10 โครงการ ได้แก่ บริษัท กุสุมาลย์ เพาเวอร์ จำกัด , บริษัท ยางชุมน้อย เพาเวอร์ จำกัด , บริษัท ศรีรัตนะ เพาเวอร์ จำกัด , บริษัท กันทรารมย์ เพาเวอร์ จำกัด , บริษัท ปรางค์กู่ เพาเวอร์ จำกัด , บริษัท อุทุมพรพิสัย เพาเวอร์ จำกัด , บริษัท โซง เพาเวอร์ จำกัด , บริษัท เก่าขาม เพาเวอร์ จำกัด , บริษัท โดมประดิษฐ์ เพาเวอร์ จำกัด และ บริษัท กุดรัง เพาเวอร์ จำกัด ด้วยปริมาณเสนอขาย 3 เมกะวัตต์ต่อโครงการ โดยชัยวัฒนา กรีน ถือหุ้นในสัดส่วน 60% ทั้งหมดทุกโครงการ

ก่อนหน้านี้  CWT มีบริษัทที่ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติและคำเสนอขอขายไฟฟ้าทางเทคนิค รอบแรก จำนวน 2  โครงการ จากการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล ได้แก่ 1.บริษัท ทุ่งศรีอุดม เพาเวอร์ จำกัด และ 2. บริษัท เบญจลักษ์ เพาเวอร์ จำกัด ปริมาณเสนอขายไม่เกิน 3 เมกะวัตต์ต่อโครงการ โดยชัยวัฒนา กรีน ถือหุ้นในสัดส่วน 60% ทั้ง 2 โครงการ

นอกจากนี้ มีกำหนดประกาศเปิดซองพิจารณาด้านราคาในวันที่ 20 กันยายน 2564 และ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) พิจารณาต่อในวันที่ 22 กันยายน 2564  โดยสำนักงาน กกพ. จะประกาศรายชื่อผู้ผ่านการพิจารณาคัดเลือกเข้าร่วมโครงการฯ อย่างเป็นทางการ ภายในวันที่ 23 กันยายน 2564 นี้

“เราได้ยื่นเรื่องอุทธรณ์ไปทั้งหมด 11 โครงการ ผ่านเกณฑ์พิจารณา 10  โครงการ โดยก่อนหน้านี้เข้าผ่านเทคนิครอบแรก 2 โครงการ ส่งผลทำให้บริษัทมีโครงการที่ผ่านเกณฑ์เทคนิค และอยู่ระหว่างรอลุ้นผลการเปิดซองเสนอราคารวม 12 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งรวมทั้งสิ้น 36 เมกะวัตต์  และคาดหวังผลการผ่านพิจารณาคัดเลือกในครั้งนี้มากกว่า 4 โครงการ ทั้งนี้หากได้งานดังกล่าวเพิ่มเติม จะเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยผลักดันผลการดำเนินงานของ CWT เติบโตอย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งยังมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนเศรษฐกิจในระดับฐานรากเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนในอนาคต” นายวีระพล กล่าวในที่สุด

ปัจจุบัน CWT มีโรงไฟฟ้าที่ขายไฟเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว 2 โรง รวม 14 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าชีวมวล ขนาดกำลังการผลิต 9.9 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ ขนาดกำลังการผลิต 5 เมกะวัตต์ อีกทั้งยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างพัฒนา คือ โรงไฟฟ้าขยะชุมชน จังหวัดนครสวรรค์ขนาดกำลังการผลิต 9.9 เมกะวัตต์ ปัจจุบันได้สัญญาบริหารจัดการขยะแล้ว 25 ปี และอยู่ระหว่างขอ PPA

@mitihoonwealth

https://lin.ee/cXAf0Dp