CIM DPU ชี้ตลาดสมุนไพรโตต่อเนื่อง มูลค่ารวมกว่าหมื่นล้าน

230

มิติหุ้น  –  ปัจจุบัน “สมุนไพร” ถูกใช้เป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง อาทิ อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง อาหารเสริมยาสมุนไพร ดังนั้น ตลาดสมุนไพรจึงเป็นตลาดที่มีการเติบโตสูงอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ  กระทรวงพาณิชย์ เมื่อเดือนก.พ.2564 ได้คาดการณ์ว่าในแต่ละปีมูลค่าการค้าผลิตภัณฑ์สมุนไพรและเครื่องเทศในตลาดโลกสูงถึง 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยตลาดส่งออกที่บริโภคสมุนไพรที่สำคัญของไทย ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน และอเมริกา เป็นต้น

ในยุคที่มีโรคระบาด “โควิด-19” ทำให้ทุกคนหันมาดูแลใส่ใจสุขภาพของตนเองและครอบครัวมากขึ้น อีกทั้งสมุนไพรไทย อย่าง ฟ้าทะลายโจร กระชาย สามารถช่วยรักษาโควิด-19 ได้ ยิ่งทำให้ “สมุนไพรไทย” เป็นที่นิยมและต้องการมากขึ้นเรื่อยๆ ทว่าการใช้สมุนไพรนั้น ไม่ใช่ว่าใครก็สามารถหยิบมาทานได้ทันที เพราะไม่ว่าจะเป็นยาหรือสมุนไพรชนิดไหน หากนำมาใช้ไม่ถูกวิธี ไม่เหมาะสม จากคุณก็กลายเป็นโทษได้เช่นเดียวกัน การมีความรู้เกี่ยวกับการใช้สมุนไพร จึงมีความสำคัญอย่างมาก

แพทย์แผนไทยอภิรัช ประชาสุภาพ หัวหน้าหลักสูตรการแพทย์แผนไทย วิทยาลัยการแพทย์บูรณาการ (CIM) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เปิดเผยว่าการบริโภคของคนรุ่นใหม่ที่นิยมใช้พืชสมุนไพรนั้นเพราะมองว่าเป็นการดูแลสุขภาพที่ปลอดภัยและมาจากธรรมชาติ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญอย่างมากในการเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ที่มาจากสมุนไพร อีกทั้งนโยบายของภาครัฐก็ได้มีการส่งเสริมอุตสาหกรรมสมุนไพรมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ฟ้าทะลายโจร กระชาย ขิง หรือพืชตระกูล ก. ไม่ว่าจะเป็นกัญชา กัญชง กระท่อม ซึ่งได้ปลดล็อคจากสารเสพติด และได้รับการส่งเสริมให้เป็นพืชเศรษฐกิจ สามารถนำมาใช้ทางการแพทย์ได้ ทำให้พืชสมุนไพรตอนนี้มีการเติบโตขึ้นอย่างมาก

“ตลาดสมุนไพรขยายตัวมากขึ้น ซึ่งหมายความว่าความต้องการบุคลากร ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ก็ต้องมากขึ้นเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะบุคลากรด้านแพทย์แผนไทย เพราะต้องยอมรับว่าพืชสมุนไพร หากนำมาใช้อย่างไม่เหมาะสมอาจจะมีโทษมากกว่ามีคุณ และการเรียนแพทย์แผนไทยในปัจจุบัน ไม่ใช่เพียงเรียนเพื่อรู้พืชสมุนไพรเท่านั้น แต่ยังต้องสามารถทำการวินิจฉัยอาการต่างๆ ที่ผิดปกติของร่างการและเลือกใช้สมุนไพรต่างนั้นมาใช้ให้เหมาะสม รวมถึงกระบวนการสกัดสารภายในพืชนั้นๆออกมาใช้ได้ ทั้งนี้ ยังสามารถนำสารสกัดต่างๆ ที่ได้จากพืชนั้นไปใช้ในเชิงพาณิชย์ได้อีกด้วย ฉะนั้น ประเทศไทยจำเป็นอย่างมากในการผลิตแพทย์แผนไทย และแพทย์ทางเลือกที่มีความรู้ด้านสุขภาพและต้องดูแลสุขภาพแบบองค์รวมได้” แพทย์แผนไทยอภิรัช กล่าว

จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19  พบว่ามูลค่าของผลิตภัณฑ์สมุนไพรภายในประเทศ มีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 10.3% ภายหลังประกาศใช้แผนแม่บทแห่งชาติ ว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย ฉบับที่ 1 พ.ศ.2560 – 2564 เป็นอัตราการเติบโตมากกว่าจีน ที่เติบโตเฉลี่ย 5.06% ญี่ปุ่น 0.85% และเกาหลีใต้ 5.43% ขณะที่ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า แนวโน้มการบริโภคสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรในไทยตั้งแต่ปี 2560 – 2563 มีอัตราการเติบโตประมาณ 10% ต่อปีทีเดียว

แพทย์แผนไทยอภิรัช กล่าวอีกว่า ขณะนี้มีหลายสถาบันการศึกษาที่ได้เปิดเกี่ยวกับการผลิตบุคลากรแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก เพราะต้องยอมรับว่าบุคลากรด้านนี้ของไทยมีจำนวนจำกัด ดังนั้น ระบบการเรียนการสอนในปัจจุบันจึงมีการเปิดรับทั้งในระดับปริญญาตรี/โท และหลักสูตรสำหรับบุคคลทั่วไป เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกคนได้เข้ามาเรียนรู้เกี่ยวกับสมุนไพร นำไปต่อยอดในการทำงานหรือธุรกิจ ซึ่งสมุนไพร ถือเป็นภูมิปัญญา รากเหง้าของคนไทยที่อยู่มาอย่างยาวนาน

“หลักสูตรการแพทย์แผนไทย วิทยาลัยการแพทย์บูรณาการ เปิดรับทั้งนักศึกษาในระดับปริญญาตรี และบุคคลทั่วไป โดย2 กลุ่มนี้ จะได้รับเพียง40 คนต่อปี และการเรียนการสอนเกี่ยวกับแพทย์แผนไทยที่นี่ ไม่ใช่เรียนเกี่ยวกับสมุนไพรเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่จะต้องเรียนรู้การวินิจฉัยอาการต่างๆ เรียนรู้การนำสมุนไพรต่างๆมาปรุงเป็นตำรับยาสมุนไพร การนำสมุนไพรไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ เช่น การใช้สมุนไพรประกอบอาหารเพื่อสุขภาพ หรือการทำอาหารให้เป็นยา การแปรรูปสมุนไพรเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพในรูปแบบต่างๆ รวมถึงการใช้สมุนไพรเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพในรูปแบบต่างๆ รวมถึงการใช้สมุนไพรในกลุ่มสารเสพติด และเรียนรู้เรื่องศาสตร์แห่งการชะลอวัยเป็นต้น เพื่อให้ผู้เรียนได้บูรณาการศาสตร์ต่างๆ และนำไปใช้ในการดูแลสุขภาพได้จริง และในการเรียนนั้นต้องเรียนพร้อมกับปฏิบัติ เพื่อให้มีองค์ความรู้และต้องปฏิบัติได้ อีกทั้งต้องรู้จักสกัดสมุนไพรมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ เพื่อช่วยเหลือผู้บริโภคได้” แพทย์แผนไทยอภิรัช กล่าว

ในหลักสูตรแพทย์แผนไทยจะมีทั้งหมด 4 สาขา คือ สาขาเวชกรรมไทย เรียนเกี่ยวกับการวินิจฉัยอาการต่างๆและจ่ายยาหรือ นำตำรับยาไทยมาใช้ สาขาเภสัชกรรมไทย จะเรียนเกี่ยวกับสมุนไพร การปฏิบัติและการควบคุมโรงงานผลิตยาสมุนไพรไทย การสกัดสารในกระบวนวิธีทางแพทย์แผนไทยและแบบใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ หรือผลิตยาสมุนไพรในรูปแบบต่างๆ  สาขาการนวดไทย  จะเรียนเกี่ยวกับการนวดรักษาโรคแบบแพทย์แผนไทยและสาขาผดุงครรภ์ไทย เป็นการเรียนเกี่ยวกับการดูแลแม่หลังคลอด ซึ่งในทุกหลักสูตรของที่นี่ วิทยาลัยการแพทย์บูรณาการ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์จะได้เรียนรู้การแพทย์ทางเลือกต่างๆ แบบบูรณาการศาสตร์เข้าร่วมกัน

แพทย์แผนไทยอภิรัช  กล่าวต่อว่าการรักษาโรคในขณะนี้ บางโรคจำเป็นที่ต้องนำศาสตร์หลายๆ ศาสตร์เข้ามาช่วยดูแลผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็น ศาสตร์แพทย์แผนไทยผสมผสานกับแพทย์แผนปัจจุบันประยุกต์ใช้กับการดูแลผู้ป่วย เพื่อให้ความรู้สามารถดูแลสุขภาพที่เหมาะสมกับตัวเองได้  ตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด19 มีคนสนใจเข้ามาเรียนในหลักสูตรแพทย์แผนไทยมากขึ้น ทั้งในส่วนของเด็กรุ่นใหม่ และบุคคลทั่วไป เพราะต้องการเรียนรู้ว่าสมุนไพรใช้อย่างไร และบางคนสนใจเรียนรู้การสกัดสมุนไพร นำมาใช้ในการรักษา หรือทำเครื่องสำอางต่างๆ ดังนั้น ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะตอนนี้ต่อให้ตลาดสมุนไพรขยายมากขึ้น เราก็จะมีบุคลากรผู้เชี่ยวชาญรองรับ และสามารถต่อยอดไปสู่เชิงพาณิชย์ได้มากขึ้น

ส่วนในกลุ่มผู้บริโภค แพทย์แผนไทยอภิรัช ฝากทิ้งท้ายว่าก่อนจะซื้อสมุนไพร เพื่อจะนำไปใช้นั้น ขอให้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ หรืออาจจะต้องศึกษาข้อมูลเอกสารต่างๆเพื่อรู้ประโยชน์และโทษ รวมถึงข้อบ่งใช้ และข้อควรระวังต่างๆในการใช้สมุนไพรหรือยาสมุนไพรนั้นๆ และตรวจสอบว่าผลิตภัณฑ์ที่ซื้อถูกต้อง ไม่ใช่ของปลอม แต่หากอยากทำธุรกิจเกี่ยวกับสมุนไพร ขอให้มาเรียนรู้สมุนไพรเป็นศาสตร์รากเหง้าที่อยู่คู่กับประเทศไทยเรามาอย่างยาวนานและเรียนร่วมกับวิทยาศาสตร์ร่วมสมัย ที่มีเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อนำความรู้ที่ได้ไปใช้ได้อย่างถูกต้องรวมถึงวิธีการสกัดสมุนไพรหลายๆชนิด เพื่อมาใช้ในการรักษาดูแลสุขภาพ และยกระดับตลาดสมุนไพรไทยให้เติบโตยิ่งขึ้นด้วยคุณภาพและมาตรฐาน สำหรับผู้สนใจหลักสูตรต่างๆของ CIM DPU สามารถเข้าไปศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่  https://cim.dpu.ac.th/   หรือโทร. 0883901776

🚩🚩ห้อง Official Line ห้องไลน์ฟรี มิติหุ้น ทันทุกสถานการณ์การลงทุน หุ้นเด่น หุ้นเด็ดตลอดวัน กับห้องไลน์ @mitihoonwealth ห้องไลน์ที่นักลงทุนเข้าเป็นสมาชิกฟรี ไม่มีเงื่อนไข เพียงคลิกลิงค์นี้ก็เข้าได้เลย และสามารถส่งต่อให้เพื่อนได้

https://lin.ee/cXAf0Dp