ALT ตอกย้ำยุทธศาสตร์ปี64 เดินหน้าขยายฐานธุรกิจครั้งใหญ่ หวังสร้างโอกาสเติบโตยั่งยืนระยะยาว ดันธุรกิจโครงข่ายสื่อสารข้ามแดนและใยแก้วนำแสงเป็นกลไกหลักให้บริการ ลูกค้า OTT ต่างประเทศระดับโลก โดยพร้อมเปิดให้บริการไตรมาส2/65 รุกคืบธุรกิจพลังงานทางเลือกและเมืองอัจฉริยะสอดคล้องนโยบายภาครัฐ พร้อมโชว์สิ้นไตรมาส 3/64 มี Backlog กว่า1.3 พันล้านบาท พร้อมเงินสดในมือ 532 ล้านบาท
นายสมบุญ เศรษฐ์สันติพงศ์ รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานการเงินและบัญชี บริษัท เอแอลที เทเลคอม จำกัด (มหาชน) หรือ ALT เปิดเผยถึงทิศทางธุรกิจ ในปี 2564 ว่า เป็นปีที่บริษัทมีการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ครั้งใหญ่ เพื่อขยายฐานธุรกิจให้กว้างขวางขึ้นกว่าเดิมไม่จำกัดอยู่แค่เพียงโครงสร้างพื้นฐานสำหรับกิจการด้านโทรคมนาคม แต่จะสามารถต่อยอดการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมที่มีอยู่แล้ว เพื่อให้บริการแก่กิจการต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงขยายขอบการให้บริการไปถึงลูกค้าในต่างประเทศอีกด้วย
โดยในส่วนของธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคม โครงข่ายไฟเบอร์ใยแก้วนำแสง ซึ่งเป็นธุรกิจหลักแต่เดิม บริษัทได้วางโครงข่ายหลัก ลงทุนครอบคลุมพื้นที่ทั่วทั้งประเทศเรียบร้อยแล้ว รวมถึงมีการสร้างสถานีฐานเพื่อเชื่อมต่อกับโครงข่ายของผู้ประกอบการในประเทศเพื่อนบ้าน ทั้ง เมียนมาร์ ลาว กัมพูชา และมาเลเซีย โดยมีการลงทุนผ่านกิจการร่วมค้า คือบริษัท สมาร์ท อินฟราเนท จำกัด (SIC) และ บริษัท อินฟอร์เมชั่น ไฮเวย์ จำกัด (IH) เพื่อให้บริการแก่ลูกค้าภายในประเทศ และลงทุนผ่าน บริษัทย่อย คือ บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล เกทเวย์ จำกัด (IGC) เพื่อให้บริการแก่ลูกค้าในต่างประเทศ รวมถึง ลงทุนผ่าน บริษัทร่วมคือ เมียนมาร์ อินฟอร์เมชั่น จำกัด (MIH) ที่เป็นกิจการในเมียนมาร์ให้บริการอินเทอร์เน็ตแก่ลูกค้าในเมืองย่างกุ้ง
นายสมบุญกล่าวว่าการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้ความต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นอย่างมากโดยเฉพาะในเมียนมาร์เพิ่มสูงขึ้นกว่า 30% ส่งผลให้ IGC ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่เป็นผู้ให้บริการแบนด์วิดท์ระหว่างประเทศแก่ลูกค้าที่เป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่และผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตรายใหญ่ที่อยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน มีรายได้สูงขึ้น จากปริมาณการใช้งานแบนด์วิทด์ที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว ซึ่งบริษัทได้ตั้งเป้าที่จะช่วยส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็น ASEAN Digital Hub จากความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ของไทยที่มีความเหมาะสมในการเป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อของภูมิภาคอาเซียน ทำให้ประเทศไทยสามารถวางโครงข่ายโทรคมนาคมเชื่อมต่อไปยังประเทศที่เป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต (Internet Hub) ที่สำคัญๆ ของโลกและเชื่อมต่อโดยตรงไปยังภูมิภาคอื่นๆ ได้ด้วยระบบเคเบิลใยแก้วนำแสงภาคพื้นดินและระบบเคเบิลใต้น้ำ
บริษัท IGC ได้พัฒนาปรับปรุงโครงข่ายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศลดระยะเวลาในการรับ-ส่งข้อมูลให้สั้นมากที่สุด ซึ่งจะทำให้เกิดการเข้าถึงข้อมูลได้ครอบคลุมและรวดเร็วมากยิ่งขึ้นรองรับมาตรฐานการเชื่อมต่อให้บริการโครงข่ายกับลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ นอกเหนือจากกลุ่มลูกค้าเดิม เช่น OTT (Over The Top) โดย IGC ได้เริ่มก่อสร้างระบบเคเบิลใต้น้ำและสถานีเชื่อมต่อเคเบิลใต้น้ำในพื้นที่จังหวัดสตูลเป็นโครงการแรกของ IGC เพื่อเชื่อมต่อในส่วนของเส้นทางประเทศไทยฝั่งทะเลอันดามันไปยังจุดเชื่อมต่อในมหาสมุทรอินเดียเพื่อรองรับการเชื่อมโยงระบบสื่อสารระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอินเดีย
ทั้งนี้โครงการระบบเคเบิลใต้น้ำที่ IGC เข้าไปมีส่วนร่วมในการให้บริการเป็นโครงการร่วมกันระหว่างผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคมและOTT มีความยาวกว่า 8,000 กิโลเมตรมีจุดการเชื่อมต่อโดยเริ่มต้นจากประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย เมียนมาร์และไปสิ้นสุดที่ประเทศอินเดียระบบเคเบิ้ลใยแก้วนำแสงมีจำนวนคู่ใยแก้วนำแสงตามแนวเส้นทางหลักทั้งสิ้น 12 คู่ใยแก้วนำแสง (fiber pairs) โดยระบบรองรับความจุในการสื่อสารข้อมูลได้มากกว่า200เทราบิทต่อวินาที (Tbps) ซึ่งคาดว่าจะก่อสร้างในส่วนโครงสร้างหลักของสถานีเชื่อมต่อเคเบิลใต้น้ำเสร็จพร้อมรับรู้รายได้ในไตรมาส 2 ปี 2565
ทั้งนี้ ALT ตั้งเป้าให้ IGC เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ธุรกิจและได้เริ่มให้บริการแก่ลูกค้าต่างประเทศในระดับ World Class ซึ่งเป็นผู้ให้บริการแนวหน้าในกลุ่มอุตสาหกรรมประเภท OTT โดยมีสัญญาให้บริการระยะยาวทั้งการให้บริการโครงข่ายโทรคมนาคมและบริการสถานีเชื่อมต่อเคเบิลใต้น้ำในพื้นที่จังหวัดสตูลซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในธุรกิจให้บริการระบบเคเบิลใต้น้ำที่ได้รับความไว้วางใจและเชื่อมั่นในประสิทธิภาพโครงข่ายโทรคมนาคมของบริษัท
โครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมด้านโครงข่ายใยแก้วนำแสง ที่บริษัทได้ลงทุนผ่านกิจการร่วมค้า SIC เพื่อร่วมส่งเสริมการจัดระเบียบสายสื่อสารบนถนนสายหลักทั่วประเทศ มีความคืบหน้าเป็นลำดับ ซึ่งเป็นพื้นฐานของการพัฒนาเมืองไปสู่เมืองอัจฉริยะต่อไป
นายสมบุญยังกล่าวถึง ธุรกิจพลังงานอัจฉริยะ (Smart Grid & Smart Energy) ว่า จากงานให้บริการวางระบบและติดตั้งโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรีให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ซึ่งเป็นโครงการนำร่องของประเทศไทยและมีความเป็นไปได้สูงที่รัฐจะขยายให้ครอบคลุมหัวเมืองสำคัญทั่วทั้งประเทศ จึงเป็นธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตสูง
นอกจากนี้บริษัทได้ขยายธุรกิจเข้าสู่ธุรกิจบริการจัดการพลังงาน โดยเป็นผู้ลงทุนและติดตั้งระบบและอุปกรณ์ Solar Rooftop ให้กับภาครัฐและภาคเอกชน เช่น ผู้ประกอบการกลุ่มธุรกิจโรงงานและอุตสาหกรรมขนาดกลาง เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าให้กับลูกค้าเพื่อใช้งาน โดยบริษัทได้รับค่าตอบแทนเป็นค่าบริหารจัดการพลังงานซึ่งมีราคาถูกว่าค่ากระแสไฟฟ้าที่ลูกค้าต้องจ่าย และมีส่วนร่วมในการรักษาสิ่งแวดล้อม ด้วยการใช้พลังงานทดแทน
ส่วนธุรกิจเมืองอัจฉริยะ (Smart City) บริษัทได้มีการนำสายไฟฟ้าและสายสื่อสารลงใต้ดินเพื่อให้เมืองมีความสวยงามและปลอดภัย โดยบริษัทจะมีการติดตั้งเสาไฟอัจฉริยะ (Smart Pole) รองรับการเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่างๆ รวมถึงเป็นจุดชาร์จไฟสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า เช่นเดียวกับธุรกิจแพลตฟอร์มอัจฉริยะพัฒนาซอฟท์แวร์เพื่ออ่านป้ายทะเบียนรถยนต์
นายสมบุญยังกล่าวถึงผลการดำเนินงานไตรมาส 3/2564 ว่าบริษัทมีรายได้รวม 282.42 ล้านบาท ลดลง 43.7% เทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวม 501.59 ล้านบาท โดยเป็นการลดลงของธุรกิจจำหน่ายสินค้าและงานบริการรับเหมาติดตั้งวางระบบ 86.9% และ 43.6% ตามลำดับ
ขณะที่รายได้จากการให้บริการโครงข่ายมียอดเพิ่มขึ้น 18.4% เป็น 86.31 ล้านบาท จากงวดเดียวกันของปีก่อนที่ 72.91ล้านบาท ซึ่งยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตามผลการดำเนินการในไตรมาส3/64 บริษัทขาดทุนสุทธิ33.50ล้านบาท เทียบกับกำไรสุทธิ67.25ล้านบาทในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ขณะที่มีงานในมือ (Backlog) จำนวน1,347ล้านบาท
“สิ้นไตรมาส 3/2564 บริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนลดลงเหลือ 0.70 เท่า จาก 0.75 เท่าเมื่อเทียบกับ ณ สิ้นปี 2563 ขณะที่สภาพคล่องของบริษัทยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี มีเงินสดในมือ 532.25 ล้านบาท” นายสมบุญกล่าว
@mitihoonwealth
https://lin.ee/cXAf0Dp