มิติหุ้น – เอส ไอ จี คอมบิบล็อค ลงนาม MOU กับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เดินหน้างานวิจัยสู่การสร้างศูนย์การเรียนรู้แบบเคลื่อนที่ เพื่อรีไซเคิลกล่องยูเอชทีที่ผ่านการบริโภคแล้ว ให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีคุณค่า ส่งเสริมการตระหนักรู้ให้กับสังคม และสร้างความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อม ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) พร้อมขยับเข้าใกล้เป้าหมายธุรกิจแบบยั่งยืน หรือ Way Beyond Good ของ เอส ไอ จี
ศูนย์การเรียนรู้แบบเคลื่อนที่สำหรับการรีไซเคิลกล่องยูเอชทีที่ผ่านการบริโภคแล้ว มีวัตถุประสงค์ในการนำมาใช้เพื่อสาธิตวิธีการรีไซเคิลกล่องยูเอชที ตั้งแต่การแยกเยื่อกระดาษ แยกชั้นที่มีส่วนผสมของพลาสติกและอลูมิเนียมฟอยล์ ด้วยวิธีการที่ถูกต้องโดยผ่านการวิจัยและพัฒนาร่วมกันกับมหาวิทยาลัยฯ ศูนย์การเรียนรู้นี้ สามารถเคลื่อนที่เข้าไปหาประชาชน ให้เห็นว่าวัสดุที่ได้จากการรีไซเคิล สามารถนำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ที่มีคุณค่าและนำไปใช้ได้จริง
นายซามูเอล แอนเดร้ ซิลวีโอ้ แดมเบรวิลล์ ผู้อำนวยการและกรรมการบริหาร เอเชียแปซิกฟิก บริษัท เอส ไอ จี คอมบิบล็อค กล่าวว่า ศูนย์การเรียนรู้แบบเคลื่อนที่ ได้สะท้อนถึงวิสัยทัศน์ ของ เอส ไอ จี ในการขับเคลื่อนองค์กรด้านความยั่งยืน ตลอดจนสร้างการรับรู้ถึงความสำคัญของการรีไซเคิลกล่องยูเอชที เอส ไอ จี โรดแมพ มีเป้าหมายและวิสัยทัศน์ที่มุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีแนวทางความรับผิดชอบที่เรียกว่า “Way Beyond Good”
นายวัชรพงศ์ อึงศรีสวัสดิ์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท เอส ไอ จี คอมบิบล็อค กล่าวว่า เอส ไอ จี ได้สนับสนุนโครงการรีไซเคิลกล่องยูเอชที หลายโครงการในประเทศไทย ซึ่งศูนย์การเรียนรู้แบบเคลื่อนที่นี้ เป็นโครงการฯที่สร้างความแตกต่าง เพราะเป็นโมเดลที่ให้ความรู้ความเข้าใจในกระบวนการรีไซเคิลกล่องยูเอชทีตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ บริษัทฯ ยืนหยัดในการสนับสนุน โครงการนี้ให้กับทางมหาวิทยาลัยฯ เพื่อผลักดันให้ศูนย์การเรียนรู้แบบเคลื่อนเป็นโครงการต้นแบบ ที่ทำเราสร้างความตระหนักรู้กับสังคมถึงวิธีการรีไซเคิลกล่องยูเอชทีที่ถูกต้อง และสามารถนำวัสดุที่ได้จากการรีไซเคิลกล่องยูเอชที มาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าโดยไม่กระทบกับสิ่งแวดล้อม
กล่องยูเอชที ประกอบด้วย 3 วัสดุหลักคือ เยื่อกระดาษ, พลาสติกและอลูมิเนียมฟอยล์ ผนึกกันเป็นชั้นๆ ซึ่งทั้ง 3 สิ่ง นี้เมื่อเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลจะสามารถนำไปใช้ประโยชน์อื่นได้ นอกเหนือจากนั้น เรายังให้ความรู้เรื่องการคัดแยก รวมไปถึงเทคโนโลยีการรีไซเคิลกล่องยูเอชที นี่เป็นส่วนสำคัญในการสร้างความยั่งยืนอย่างแท้จริง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อนินท์ มีมนต์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี กล่าวว่า การที่ผู้คนในสังคมสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีรีไซเคิลกล่องยูเอชทีที่ผ่านการบริโภคและได้ลงมือทำการรีไซเคิลด้วยตัวเอง เป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะช่วยให้ผู้คนเข้าใจถึงประโยชน์ที่ได้รับกลับคืนมาอย่างถ่องแท้
“เทคโนโลยีเครื่องจักรต่าง ๆ ที่ได้รับการสนับสนุนจาก เอส ไอ จี ล้วนถูกติดตั้งอยู่ในศูนย์การเรียนรู้เคลื่อนที่ เป็นโซลูชั่นขนาดกะทัดรัดที่เข้าใจง่าย ลงมือทำได้จริง และได้ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม สามารถสร้างองค์ความรู้และจิตสำนึกต่อการลดปัญหากล่องยูเอชทีที่ผ่านการบริโภคมาแล้วได้อย่างดี” ดร.อนินท์ กล่าว
เอส ไอ จี ประเทศไทย ทำงานร่วมกับพันธมิตรในหลายโครงการ ในการรีไซเคิลกล่องยูเอชทีที่บริโภคแล้ว โดยมีการแยกกระดาษ พลาสติกและอลูมิเนียมฟอยล์ หรือที่เรียกว่า “พอลิออล” ซึ่งมีกระบวนการรีไซเคิลดังต่อไปนี้
“เยื่อกระดาษ” จะถูกนำไปเข้า ชุดอุปกรณ์รีไซเคิล (Recycling paper equipment) เพื่อปรับปรุงลักษณะและคุณสมบัติให้เป็นกระดาษรีไซเคิลที่นำมาสร้างสรรค์งานได้จริง
“พอลิออล” เริ่มต้นที่การนำไปบดให้เป็นชิ้นเล็กโดย เครื่องบด (Shredder) จากนั้นนำไปเข้า เครื่องอัดขึ้นรูป (Compression molding) และต่อด้วยเครื่องอัดรีด (Extruder) เพื่อให้ได้เส้นพลาสติก นำมาตัดให้เป็นเม็ดพลาสติกให้เกิดความสะดวกสำหรับกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย เพื่อสร้างมูลค่าจากวัสดุรีไซเคิลจากกล่องยูเอชที
ด้วยการเปิดตัว ศูนย์การเรียนรู้แบบเคลื่อนที่นี้ เอส ไอ จี และ มทร.ธัญบุรี คาดหวังว่าจะสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชนทั่วไปได้มีความเข้าใจและให้ความสำคัญด้านการรีไซเคิลกล่องยูเอชทีอย่างถูกต้อง เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง
ห้อง Official Line ห้องไลน์ฟรี มิติหุ้น ทันทุกสถานการณ์การลงทุน หุ้นเด่น หุ้นเด็ดตลอดวัน กับห้องไลน์ @mitihoonwealth ห้องไลน์ที่นักลงทุนเข้าเป็นสมาชิกฟรี ไม่มีเงื่อนไข เพียงคลิกลิงค์นี้ก็เข้าได้เลย และสามารถส่งต่อให้เพื่อนได้
https://lin.ee/cXAf0Dp