บล.เคทีบี ประเมินกรอบ SET สัปดาห์นี้้ (23-27 เม.ย.) ที่ 1,780-1,830 จุด

119

มิติหุ้น-รับปัจจัยบวกจากราคาน้ำมัน แต่ต้องจับตาการค้าของสหรัฐฯกับจีนที่อาจทำให้ตลาดผันผวนได้ รวมถึงติดตามการประชุม ECB กับ BOJ เรื่องอัตราดอกเบี้ยและมาตรการ QE  สำหรับกลยุทธ์ลงทุนเน้น 3 กลุ่มใหญ่ ธนาคาร ปิโตรเคมี โทรศัพท์ ที่ยังเดินหน้าต่อได้”

ดร.วิน  อุดมรัชตวนิชย์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด หรือ KTBST เปิดเผยว่าทิศทางตลาดหุ้นสัปดาห์นี้ (23-27 เม.ย.) มีแนวโน้มในทางบวกมากขึ้นหลังปัจจัยลบคลี่คลายลงไป ส่งผลให้แรงกดดันต่อดัชนีฯมีน้อยลง ราคาน้ำมันดิบที่สูงขึ้นเป็นบวกต่อผลการดำเนินงานหุ้นน้ำมัน-ปิโตรเคมี ทำให้ราคาหุ้นกลุ่มนี้ทรงตัวได้ และนักลงทุนจะเข้ามาเก็งกำไรในงบการเงิน อย่างไรก็ตาม หลายตัวแปรที่ผลและอาจทำให้ตลาดผันผวนได้ คือ การตอบโต้ระหว่างสหรัฐฯ-จีน ในเรื่องนโยบายการค้า และสถานการณ์ต่างๆที่มีผลต่อราคาน้ำมันหากน้ำมันปรับตัวขึ้นเป็นบวกต่อตลาดหุ้นไทย รวมไปถึงการประมาณการกำไรของบริษัทต่างๆ จะมีผลตรงต่อราคาหุ้นตัวนั้นๆ

ทั้งนี้ราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้นนั้นเป็นปัจจัยหนุนต่ออัตราเงินเฟ้อและ Bond Yield ของสหรัฐรวมถึงค่าเงินดอลล่าร์ขยับขึ้นด้วย ซึ่งจะมีผลต่อกระแสเงินลงทุน ขณะเดียวกันราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเรื่องมาตรการการค้าของสหรัฐฯ-จีน ที่ตลาดยังให้ความสนใจอยู่ หลังสหรัฐฯเตรียมประกาศจำกัดการลงทุนเทคโนโลยีของจีนในสหรัฐ และป้องกันการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา แม้ว่าในท้ายที่สุดทั้งสองประเทศจะมีการเจรจากัน แต่การตอบโต้กันไปมาลักษณะนี้ จะทำให้นักลงทุนมีความกังวล กระทบต่อตลาดหุ้นทั้งสองประเทศเองและหุ้นกลุ่มส่งออกของไทยด้วย

ดังนั้นกลยุทธ์ลงทุนสัปดาห์นี้ประเมินกรอบเคลื่อนไหวที่ 1,780-1,830 จุด คาดว่า หุ้นกลุ่มใหญ่อย่างกลุ่ม ธนาคาร-ปิโตรเคมี-โทรศัพท์ จะเป็นกลุ่มที่เดินหน้าต่อได้ และจะมีการสลับเข้าลงทุนในแต่ละวัน สำหรับหุ้นกลุ่มธนาคาร KTBST ให้ความสนใจ BBL ที่ประเมินว่าปีนี้ตั้งสำรองไม่มาก กลุ่มปิโตรเคมีมอง IRPC ที่มีความเป็น laggard ในสัปดาห์ที่ผ่านมา  กลุ่มโทรศัพท์ แนะนำหุ้นหลัก ADVANC และ TRUE นอกจากนี้ หุ้นกลุ่มนิคมฯ ที่มีความชัดเจนในการลงทุนในโซน EEC จากอาลีบาบาและโครงการรถไฟความเร็วสูงที่กำลังเดินหน้า หุ้นที่ได้ประโยชน์ในช่วงแรกจะเป็นทั้ง WHA และ AMATA และหุ้นที่มีปัจจัยเฉพาะตัวอย่าง THANI และ HMPRO

สำหรับปัจจัยต่างประเทศที่ต้องติดตาม ในสัปดาห์นี้คือ ติดตามรายงาน GDP (QoQ) ของสหรัฐฯ ล่วงหน้า ในวันที่ 27 เมษายน คาดว่าจะออกมาที่ 2.3% ชะลอตัวลงจากช่วงก่อนหน้าที่ 2.9%  ติดตามการประชุมธนาคารกลางยุโรปในวันที่ 26  คาดว่าจะยังคงดอกเบี้ยไว้ ณ ระดับ 0% จากช่วงก่อนหน้า และแนวทางในการต่อมาตรการ QE หลังจากมาตรการภาษีของทรัมป์ได้บังคับใช้ในช่วง 30 วันที่ผ่านมา โดยล่าสุดความน่าจะเป็นในการปรับขึ้นดอกเบี้ยอยู่ที่ 5.2% และเราคาดว่าจะการปรับขึ้นดอกเบี้ยจะเกิดขึ้นได้ไวที่สุดในช่วงสิ้นปี 2019

ด้านทางเอเชีย ญี่ปุ่นจะมีการประชุมธนาคารกลาง (BOJ) ในวันที่ 27  คาดว่าจะยังคงดอกเบี้ยไว้ ณ ระดับ -0.1% และความน่าจะเป็นในการปรับขึ้นดอกเบี้ยรอบการประชุมนี้อยู่ที่ 10.2%