ธ.ทิสโก้ชี้หุ้นใกล้ถึงจุดต่ำสุดแล้ว แนะช้อนซื้อหุ้นประเทศเด่น และ 2 กลุ่มธุรกิจ สู้เงินเฟ้อ

68

มิติหุ้น   –   นายณัฐกฤติ เหล่าทวีทรัพย์ ผู้อำนวยการอาวุโสที่ปรึกษาการลงทุนทิสโก้เวลธ์ ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) (Mr.Nattakrit Laotaweesap, Head Of Wealth Advisory of TISCO Bank Public Company Limited) เปิดเผยว่า จากการประเมินข้อมูลในอดีตช่วง 80 ปีที่ผ่านมาของศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU) พบว่า ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ (S&P 500) ซึ่งมักชี้นำทิศทางการลงทุนของตลาดหุ้นอื่นๆ ทั่วโลกนั้น จะปรับตัวลดลงรับข่าวในระยะสั้นเฉลี่ย 5% ในเวลาประมาณ 20 วัน

นอกจากนี้ ข้อมูลในอดีตยังพบว่า ตลาดหุ้นมักจะฟื้นตัวขึ้นได้ภายในกรอบระยะเวลา 10 วัน ก่อนหรือหลังการบุกโจมตี ทำให้ธนาคารทิสโก้มองว่า ตลาดหุ้นได้มีการตอบสนองต่อเหตุการณ์ในปัจจุบันไปมากพอสมควรแล้ว และมีแนวโน้มที่จะเริ่มฟื้นตัวขึ้นแล้วในเร็วๆ นี้

 “ถึงแม้สถานการณ์ในปัจจุบันจะยากที่จะคาดการณ์ แต่เมื่อพิจารณาการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้น (S&P 500) ในอดีต พบว่า ตลาดหุ้นมักจะปรับตัวลงราว 5 – 10% ในช่วงที่มีความขัดแย้งระหว่างประเทศ ซึ่งตลาดหุ้นได้ปรับตัวลงมาแล้ว 8% จากระดับในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ สะท้อนว่าตลาดหุ้นมีการตอบสนองต่อเหตุการณ์ไปพอสมควรแล้ว นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาวันที่เป็นจุดกลับตัวของตลาดหุ้น พบว่า ดัชนี S&P 500 มักจะฟื้นตัวขึ้นในช่วง 10 วัน ก่อนหรือหลังวันที่มีการเข้าบุกรุก เช่น ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนในรอบก่อน ซึ่งตลาดหุ้นรีบาวน์ขึ้น 15 วัน ก่อนที่รัสเซียจะส่งกำลังทหารเข้าไครเมีย หากนับวันที่รัสเซียโจมตีเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ว่า เป็นวันที่บุกรุก ก็ชี้ว่า ตลาดหุ้นอาจจะเริ่มฟื้นตัวเร็วๆ นี้นายณัฐกฤติกล่าว

ดังนั้น จากสถานการณ์ข้างต้น ธนาคารทิสโก้จึงประเมินว่า หุ้นได้เข้าสู่ช่วงจุดต่ำสุดแล้ว ตลาดจะกลับมาให้น้ำหนักที่ประเด็นเรื่องของเงินเฟ้อ จึงแนะนำให้ ซื้อด้วยกลยุทธ์ Buy the Dip ในหุ้นกลุ่มที่สามารถหลีกเลี่ยงปัญหาเงินเฟ้อที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก คือ หุ้นกลุ่มเทคโนโลยี และหุ้นกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยที่มีแบรนด์แข็งแกร่ง รวมทั้งประเทศที่ยังคงเดินหน้านโยบายการเงินแบบผ่อนคลายและมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ กลุ่มยุโรป ญี่ปุ่น จีน และเวียดนาม

นายณัฐกฤติกล่าวอีกว่า สำหรับกลุ่มประเทศที่น่าสนใจลงทุนสู้เงินเฟ้อ และ Valuation ม่สูง ประกอบด้วย กลุ่มยุโรป ญี่ปุ่น จีน และเวียดนาม โดยแต่ละประเทศมีปัจจัยสนับสนุนคือ ยุโรปและญี่ปุ่น ยังคงใช้มาตรการทางการเงินที่ผ่อนคลาย ด้วยการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งเมื่อพิจารณาการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ปี 2565 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) พบว่า การเติบโตของยุโรปอยู่ที่ 3.9% และญี่ปุ่นเติบโต 3.3% ด้านประเทศจีนมีความน่าสนใจตรงที่อัตราเงินเฟ้อที่อยู่ระดับต่ำเปิดช่องให้ธนาคารกลางจีนสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการปรับลดอัตราดอกเบี้ยหรือการปรับลด RRR ตามที่ได้เห็นธนาคารกลางจีนเริ่มทำในช่วงต้นปี ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนที่คาดว่า เศรษฐกิจจีนปีนี้จะขยายตัวได้ในระดับ 4.8%

และสุดท้ายคือ ประเทศเวียดนามโดยมีการคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจะเติบโตได้ถึง 6.6% ในปีนี้ และเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อน้อย โดยมีอัตราเงินเฟ้อล่าสุดเดือนมกราคมอยู่ที่ 1.94% ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายถูกปรับลดลงจากระดับ 6% ในปี 2563 มาสู่ 4% ในปี 2565 คิดเป็นการปรับลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจถึง 3 ครั้งด้วยกันยิ่งไปกว่านั้นจีนและเวียดนามนอกจากจะไม่ได้อยู่ในช่วงของการปรับขึ้นดอกเบี้ยแล้ว ยังสามารถดำเนินนโยบายลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกด้วย โดยที่มูลค่าหุ้นของทั้ง 4 ประเทศยังไม่สูงมากเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นสหรัฐฯ (S&P500) ที่มีอัตราปิดต่อกำไรต่อหุ้นล่วงหน้า 12 เดือน (Forward 12m P/E) อยู่ในระดับ 19.2 เท่า ขณะที่ตลาดหุ้นยุโรป (STOXX600) อยู่ที่ 13.9 เท่า ตลาดหุ้นญี่ปุ่น (TOPIX) อยู่ที่ 12.4 เท่า ตลาดหุ้นจีน (CSI300)อยู่ที่ 13.3 เท่า,และตลาดหุ้นเวียดนาม (VN) 13.3 เท่า

สำหรับ 2 กลุ่มอุตสาหกรรมที่น่าสนใจลงทุนสู้เงินเฟ้อ คือ กลุ่มเทคโนโลยี และกลุ่มหุ้นกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยที่มีแบรนด์แข็งแกร่ง (Consumer Discretionary) ซึ่งบ่งบอกความเป็นตัวตนของผู้ใช้สินค้าและบริการมากกว่าเพียงการใช้ประโยชน์เพียงอย่างเดียว ทำให้สามารถปรับราคาสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นตามราคาต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้ ส่งผลให้หุ้นทั้ง 2 กลุ่ม ไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อที่เร่งตัวในปัจจุบัน

โดย TISCO ESU ได้ลองเปรียบเทียบอัตรากำไรสุทธิของกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ในดัชนี S&P 500 ในช่วงไตรมาส 4/2564 และไตรมาส 2/2564 ซึ่งเป็นช่วงที่อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นจาก 5.0% เป็น 7.0% พบว่า หุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีและกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยที่มีแบรนด์แข็งแกร่งมีอัตรากำไรสุทธิที่ 25% และ 8% ตามลำดับ (4/2564) สามารถรักษาระดับความสามารถในการทำกำไร และมีอัตรากำไรสุทธิเพิ่มขึ้นได้บางส่วนในช่วงที่ผ่านมา ต่างจากกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ปรับตัวลดลงราว 3 – 4% ในช่วงเวลาเดียวกัน อาทิ กลุ่มการเงิน (Financial) และหุ้นสาธารณูปโภค (Utilities)

🚩🚩ห้อง Official Line ห้องไลน์ฟรี มิติหุ้น ทันทุกสถานการณ์การลงทุน หุ้นเด่น หุ้นเด็ดตลอดวัน กับห้องไลน์ @mitihoonwealth ห้องไลน์ที่นักลงทุนเข้าเป็นสมาชิกฟรี ไม่มีเงื่อนไข เพียงคลิกลิงค์นี้ก็เข้าได้เลย และสามารถส่งต่อให้เพื่อนได้

https://lin.ee/cXAf0Dp