TTA รายงานผลประกอบการ ปี 2564 มีกำไรสุทธิสูงเป็นประวัติการณ์ในรอบกว่าทศวรรษ

189

มิติหุ้น  –   บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTA เผยผลประกอบการปี 2564 มีรายได้เติบโตจำนวน 22,128.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 72 เมื่อเทียบกับปีก่อน สาเหตุหลักมาจากผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของเกือบทุกกลุ่มธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจขนส่งทางเรือ ทั้งนี้ กลุ่มธุรกิจขนส่งทางเรือ กลุ่มธุรกิจบริการนอกชายฝั่ง กลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์เพื่อการเกษตร กลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม และกลุ่มการลงทุนอื่น มีสัดส่วนรายได้ร้อยละ 53 ร้อยละ 16 ร้อยละ 18 ร้อยละ 9 และร้อยละ 4 ของรายได้รวมทั้งหมด ตามลำดับ

ในปี 2564 กลุ่มธุรกิจขนส่งทางเรือมีอัตราค่าระวางเรือเทียบเท่า (TCE) เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญร้อยละ 153 เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็นค่าเฉลี่ย 24,074 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน โดยเป็นกำไรทั้งจากเรือที่โทรีเซน ชิปปิ้ง เป็นเจ้าของและเรือเช่า ส่วนกลุ่มธุรกิจบริการนอกชายฝั่งมีกำไรขั้นต้นกลับมาเป็นบวกจากอัตรากำไรขั้นต้นที่เพิ่มขึ้น และมีมูลค่างานให้บริการที่รอส่งมอบ (order book) ที่แข็งแกร่ง จำนวน 292 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์เพื่อการเกษตรมีปริมาณขายปุ๋ยแตะระดับสูงสุดที่ 224.2 พันตัน และทำกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นมากกว่า 3 เท่าตัว เมื่อเทียบกับปี 2562 โดย EBITDA เติบโตร้อยละ 675 เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็น 5,454.7 ล้านบาท ด้วยเหตุนี้ TTA จึงมีผลกำไรสุทธิสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบกว่าทศวรรษ จำนวน 3,858.7 ล้านบาท เนื่องจากค่าระวางเรือที่เติบโตขึ้นอย่างโดดเด่นของกลุ่มธุรกิจขนส่งทางเรือ

ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 TTA มีโครงสร้างเงินทุนแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่องด้วยเงินสดภายใต้การบริหารจำนวน 1.1 หมื่นล้านบาท จากกำไรจากการดำเนินงานที่สูงสุดในรอบกว่าทศวรรษ โดยมีอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบที่ 0.04 เท่า ขณะที่มีอัตราส่วนสภาพคล่องอยู่ที่ 2.83 เท่า ซึ่งสะท้อนถึงสภาพคล่องที่เพียงพอและมีเงินสดภายใต้การบริหารที่มากกว่าหนี้สิ้นที่มีภาระดอกเบี้ย

นายเฉลิมชัย มหากิจศิริ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TTA เปิดเผยว่า “ด้วยแนวโน้มขาขึ้นของอุตสาหกรรมเรือเทกอง ส่งผลให้ TTA มีผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 4 และผลประกอบการทั้งปี 2564 ดีกว่าที่คาดหมายไว้ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดใหญ่ของโควิด-19 ที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ตัวเลขผลประกอบการดังกล่าวเป็นผลมาจากภาวะตลาดที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างมาก ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากค่าระวางเรือที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจากการเติบโตของกองเรือที่จำกัด ความต้องการถ่านหินและสินค้าเทกองย่อย (minor bulk) ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ความแออัดของท่าเรือจากมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 และผลกระทบจากการขาดแคลนเรือคอนเทนเนอร์ เราเชื่อว่าแนวโน้มในปี 2565 และปีต่อๆ ไปเป็นไปในทางบวก เนื่องจากความต้องการสินค้าแห้งเทกอง เช่น ธัญพืช แร่เหล็ก และถ่านหินยังคงแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่มั่นคงและคาดว่าจะอัตราค่าระวางเรือจะเพิ่มสูงขึ้น”

ผลการดำเนินงานของแต่ละกลุ่มธุรกิจ

กลุ่มธุรกิจขนส่งทางเรือ โทรีเซน ชิปปิ้ง รายงานรายได้ค่าระวางที่ 11,718.5 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 147 เมื่อเทียบกับปีก่อน มีสาเหตุหลักมาจากค่าระวางเรือที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ อัตราค่าระวางเรือเทียบเท่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 153 เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็น 24,074 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน โดยตั้งแต่ไตรมาสที่ 3/2564 อัตราค่าระวางเรือเทียบเท่าของโทรีเซน ชิปปิ้ง สูงกว่าอัตราค่าระวางเรือซุปราแมกซ์สุทธิโดยสูงกว่าร้อยละ 4 ในไตรมาสที่ 3/2564 และสูงกว่าร้อยละ 8 ในไตรมาสที่ 4/2564 นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของเรือ (OPEX) ยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ 3,991 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมที่ 4,553 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน อยู่ร้อยละ 12 และมีอัตราการใช้ประโยชน์เรือสูงอย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 100 ในปี 2564 ด้วยเหตุนี้ โทรีเซน ชิปปิ้ง รายงานผลกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของ TTA ในปี 2564 ทำสถิติสูงสุดในรอบกว่าทศวรรษ จำนวน 4,329.8 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1,008 เมื่อเทียบกับปีก่อน ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2564 กลุ่มธุรกิจขนส่งทางเรือเป็นเจ้าของเรือจำนวน 24 ลำ (เรือซุปราแมกซ์ 22 ลำ และเรืออัลตราแมกซ์ 2 ลำ) มีระวางบรรทุกเฉลี่ยเท่ากับ 55,913 เดทเวทตัน (DWT) และมีอายุเฉลี่ย 13.7 ปี

กลุ่มธุรกิจบริการนอกชายฝั่ง บริษัท เมอร์เมด มาริไทม์ จำกัด (มหาชน) หรือเมอร์เมดฯ รายงานรายได้จำนวน 3,605.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 38 เมื่อเทียบกับปีก่อน มีสาเหตุหลักมาจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการขยายขอบเขตการให้บริการไปยังงานวางสายเคเบิลใต้ทะเล อย่างไรก็ตาม อัตราการใช้ประโยชน์ของเรือวิศวกรรมใต้ทะเล (performing subsea-IRM vessel utilization) ลดลงจากร้อยละ 85 ในปีก่อน เป็นร้อยละ 66 ในปี 2564 จากการมีโครงการหนึ่งสิ้นสุดงานก่อนกำหนดในไตรมาสที่ 1/2564 และมีการเคลื่อนย้ายเรือ 1 ลำ จากโซนตะวันออกกลางไปยังโซนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA) ในไตรมาสที่ 4/2564 เพื่อไปทำงานโครงการรื้อถอน (decommissioning) และโครงการขนส่งและติดตั้ง (T&I) ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ และอยู่ระหว่างการประมูลงานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นโอกาสใหม่สำหรับปี 2565 และปีต่อๆ ไป

ตามรายได้ที่เพิ่มขึ้น เมอร์เมดฯ มีกำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญร้อยละ 979 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยกลับมาเป็นบวกที่ 249.8 ล้านบาท เทียบกับผลขาดทุนขั้นต้นจำนวน 28.4 ล้านบาทในปีก่อน โดยสรุป เมอร์เมดฯ มีผลขาดทุนสุทธิส่วนที่เป็นของ TTA จำนวน 294.4 ล้านบาท ในปี 2564 ปรับตัวดีขึ้นร้อยละ 85 เมื่อเทียบกับปีก่อน และมูลค่าสัญญาให้บริการที่รอส่งมอบยังคงแข็งแกร่งที่ 292 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นปี 2564

กลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์เพื่อการเกษตร ในปี 2564 บริษัท พีเอ็ม โทรีเซน เอเชีย โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ PMTA มีรายได้ที่ 3,932.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 39 เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากรายได้จากทุกผลิตภัณฑ์และบริการเพิ่มขึ้น ทั้งรายได้จากการขายปุ๋ย ผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อการเกษตรอื่น (pesticide) และการให้บริการจัดการพื้นที่โรงงาน ในปี 2564 ปริมาณการขายปุ๋ยรวมแตะระดับสูงสุดที่ 224.2 พันตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8 เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากปริมาณขายปุ๋ยในประเทศเวียดนามเพิ่มขึ้น ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 82 ของปริมาณขายปุ๋ยทั้งหมด ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็น 184.0 พันตัน จากปี 2563 ขณะที่ปริมาณส่งออกปุ๋ยปรับตัวลดลงร้อยละ 39 เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็น 40.1 พันตัน เนื่องจากการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และอัตราค่าระวางเรือที่สูงในการส่งออกปุ๋ยไปประเทศที่อยู่ห่างออกไปอย่างแอฟริกาตั้งแต่ไตรมาสที่ 4/2563 แต่เริ่มปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาสที่ 2/2564 ขณะที่การส่งออกไปยังประเทศที่อยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รับผลกระทบน้อยกว่าและมีการขยายตัว

ด้วยเหตุนี้ EBITDA ของ PMTA จึงเพิ่มขึ้นร้อยละ 12 เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็น 226.2 ล้านบาท ส่วนรายได้จากการให้บริการจัดการพื้นที่โรงงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 29 เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็น 59.9 ล้านบาท จากความต้องการการจัดการสินค้าที่เพิ่มขึ้นของลูกค้าในงวดนี้ โดยสรุป ในปี 2564 PMTA รายงานผลกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของ TTA ทำสถิติสูงสุดที่ 91.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 42 เมื่อเทียบกับปีก่อน นับจากสถิติสูงสุดครั้งก่อนในปี 2560

กลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม (Food & Beverage) พิซซ่า ฮัท ดำเนินงานภายใต้บริษัทย่อยที่ TTA ถือหุ้นอยู่ร้อยละ 70 ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 พิซซ่า ฮัท มีสาขาทั้งหมด 177 สาขาทั่วประเทศ ซึ่งสาขาทั้งหมดที่เปิดใหม่เป็นสาขาที่เปิดตามหัวเมืองใหญ่

ทาโก้ เบลล์ เป็นแฟรนไชส์อาหารเม็กซิกันสไตล์ที่มีชื่อเสียงชั้นนำระดับโลกจากสหรัฐอเมริกา ดำเนินงานภายใต้บริษัทย่อยที่ TTA ถือหุ้นอยู่ร้อยละ 70 ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 ทาโก้ เบลล์ มีสาขาทั้งหมด 11 สาขาทั่วประเทศ

กลุ่มการลงทุนอื่น (Investment) มุ่งเน้นธุรกิจการบริหารทรัพยากรน้ำและโลจิสติกส์บริษัท เอเชีย อินฟราสตรักเชอร์ แมเนจเม้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ AIM ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ TTA ถือหุ้นอยู่ร้อยละ 83.75 เป็นผู้ออกแบบ ก่อสร้าง และให้บริการครบวงจรทางด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ AIM ยังได้รับสัมปทานในการจำหน่ายน้ำประปาในหลวงพระบาง ประเทศลาว ผ่านบริษัทย่อยที่ AIM ถือหุ้นอยู่ร้อยละ 66.7

🚩🚩ห้อง Official Line ห้องไลน์ฟรี มิติหุ้น ทันทุกสถานการณ์การลงทุน หุ้นเด่น หุ้นเด็ดตลอดวัน กับห้องไลน์ @mitihoonwealth ห้องไลน์ที่นักลงทุนเข้าเป็นสมาชิกฟรี ไม่มีเงื่อนไข เพียงคลิกลิงค์นี้ก็เข้าได้เลย และสามารถส่งต่อให้เพื่อนได้

https://lin.ee/cXAf0Dp