วิจัยกรุงศรีชี้การส่งออกมีสัญญาณชะลอลง ขณะที่ตลาดแรงงานยังอ่อนแอ และอาจต้องพึ่งพามาตรการช่วยเหลือในช่วงที่เผชิญกับภาวะค่าครองชีพสูง

50

มิติหุ้น – มูลค่าส่งออกเดือนเมษายนแผ่วลง จากผลกระทบที่ชัดชึ้นจากการชะงักงันของห่วงโซ่การผลิต มูลค่าส่งออกในเดือนเมษายนอยู่ที่ 23.5 พันล้านดอลลาร์ ขยายตัว 9.9%_YoY_ชะลอลงจากเดือนก่อนที่มีมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 28.9 พันล้านดอลลาร์ และหากหักทองคำมูลค่าส่งออกเดือนนี้จะเติบโต 8.9% ชะลอลงต่อเนื่องจาก 9.5% เดือนมีนาคม สำหรับกลุ่มสินค้าส่งออกที่ขยายตัว ได้แก่ i) สินค้าที่ได้อานิสงส์จากราคาพลังงานและโภคภัณฑ์ที่ปรับสูงขึ้น เช่น น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ii) สินค้าเกษตรและอาหาร เนื่องจากตลาดมีความต้องการ สต๊อกสินค้าเพิ่มขึ้น อาทิ ข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง น้ำตาลทราย และ iii) สินค้าที่ขยายตัวตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและสินค้าทางการแพทย์ อาทิ แผงวงจรไฟฟ้า เตาอบไมโครเวฟ และเครื่องมือแพทย์    ด้านตลาดส่งออกพบว่าตลาดหลักโดยเฉพาะสหรัฐฯ อาเซียน-5 และ CLMV ขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่ตลาดสหภาพยุโรป จีน และญี่ปุ่น กลับมาหดตัว รวมถึงตลาดรัสเซียที่ยังคงหดตัวรุนแรง

แม้การส่งออกจะได้ปัจจัยบวกจากการทยอยเปิดประเทศในภูมิภาคอาเซียน  แต่การส่งออกไปตลาดสำคัญทั้งจีนและสหภาพยุโรปในเดือนเมษายนกลับมาหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบปีกว่า ผลกระทบจากเศรษฐกิจจีนที่ชะลอลงจากมาตรการปิดเมืองสำคัญที่มีการระบาดของโควิด-19 และสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน รวมถึงมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซียที่ส่งผลต่อการชะงักงันของห่วงโซ่การผลิต วิจัยกรุงศรีประเมินแนวโน้มการส่งออกในช่วงที่เหลือของปียังคงได้รับแรงกดดันจากเศรษฐกิจและการค้าโลกที่ชะลอลง โดยองค์การการค้าโลก (WTO) ล่าสุดได้ปรับลดคาดการณ์ปริมาณการค้าโลกในปี 2565 ขยายตัวเหลือ 3.0% จากเดิมคาดไว้ 4.7% เนื่องจากความไม่แน่นอนเกี่ยวกับสถานการณ์ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ประกอบกับมีสัญญาณการชะลอตัวของการส่งออกในหลายประเทศเอเชียซึ่งเป็นผู้ส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญ อาทิ ไต้หวัน เกาหลี รวมถึงดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (PMI) ของประเทศแกนหลักเติบโตชะลอลงต่อเนื่องในเดือนพฤษภาคม จึงอาจส่งผลให้การส่งออกของไทยในระยะถัดไปมีแนวโน้มชะลอลงจากที่เติบโตได้ 13.7% ในช่วง 4 เดือนแรกของปี แต่อย่างไรก็ตาม คาดว่ามูลค่าส่งออกทั้งปี 2565 จะยังเติบโตได้ประมาณ 6%

ทางการเตรียมพิจารณามาตรการบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตราคาพลังงานเพิ่มเติมในช่วงที่ตลาดแรงงานยังเปราะบาง นายสุพัฒน์พงษ์ รองนายกรัฐมนตรีเผยว่าในช่วงเดือนมิถุนายนเตรียมหารือร่วมธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และกระทรวงการคลัง เพื่อประเมินถึงผลกระทบของสถานการณ์การสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ ซึ่งจะนำมาทบทวนมาตรการบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตราคาพลังงาน หรืออาจจะมีการเพิ่มความช่วยเหลือเพื่อลดความเดือดร้อนให้กับประชาชน หลังรัฐบาลได้ออกมาตรการระยะสั้นไปก่อนหน้า

แนวโน้มความผันผวนของราคาพลังงานในระดับสูง สร้างแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อและภาวะค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่สถานการณ์การจ้างงานในไตรมาส 1/2565  มีการปรับดีขึ้นทั้งในภาคเกษตร และนอกภาคเกษตร ทั้งสาขาการผลิต การค้าส่งและค้าปลีก และโลจิสติกส์  ส่วนการจ้างงานในสาขาก่อสร้าง โรงแรม และร้านอาหารยังหดตัวเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม แม้สถานการณ์การระบาดคลี่คลายลง กิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยกลับมาดำเนินการ โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคท่องเที่ยวซึ่งคาดว่าจะช่วยหนุนให้เกิดการจ้างงานตามมาแต่ยังต้องใช้เวลากว่าจะกลับมาเท่ากับระดับก่อนเกิดการระบาด เนื่องจากจำนวนผู้เสมือนว่างงานหรือผู้ที่ทำงานน้อยกว่า 4 ชั่วโมงต่อวัน ยังมีจำนวนสูง 3.8 ล้านคน เนื่องจากหลายธุรกิจใช้วิธีลดจำนวนชั่วโมงการทำงานลงเพื่อประคองธุรกิจ จึงอาจกระทบต่อรายได้และการใช้จ่ายของกลุ่มที่ยังได้รับผลกระทบอยู่ สะท้อนมาตรการความช่วยเหลือจึงอาจยังมีความจำเป็น

 

@mitihoonwealth
https://lin.ee/cXAf0D