2 ผู้บริหารยัน “บริสุทธิ์” ร้องรัฐตรวจสอบอำนาจ ก.ล.ต.

196

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า นายชยันต์ อัคราทิตย์ อดีตกรรมการบริหาร บล.เอเชีย เวลท์ เปิดเผยถึงกรณีที่เมื่อ 16 ต.ค. 2558 ได้รับหนังสือเชิญจากสำนักงาน ก.ล.ต. ให้ไปให้ถ้อยคำ ต่อกรณีการซื้อขายหุ้นหนึ่งที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักททรัพย์ ที่เกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2553 (เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว 5 ปี) ซึ่งทั้งสองท่าน (นายชยันต์ อัคราทิตย์ และ นางสาวชญานี โปขันเงิน) ได้เข้าไปเกี่ยวข้อง และไก็ได้มีการให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี โดยเข้าไปให้ถ้อยคำตามความทรงจำเท่าที่จะจำได้ เนื่องจากเวลาผ่านมา 5 ปีแล้ว

ต่อมาหลังจากนั้นได้รับหนังสือจาก ก.ล.ต. ให้ชี้แจงว่า การเข้าไปให้ถ้อยคำของทั้งสองท่าน ได้ขัดแย้งบิดเบือนกับพยานหลักฐานสำคัญที่ ก.ล.ต. มี แต่ ก.ล.ต.ไม่ยอมเปิดเผยพยานหลักฐานที่สำคัญให้เห็นว่าทั้งสองให้การขัดแย้งบิดเบือน และเมื่อขอใช้สิทธิ์ตามกฎหมายในการเข้าถึงพยานเบื้องต้น เพื่อโต้ตอบข้อกล่าวหาและเพื่อปกป้องสิทธิตนเอง ก็ไม่ได้รับความร่วมมือจาก ก.ล.ต. โดยอ้างถึงความร่วมมือระหว่างประเทศในช่วงแรก เพื่อให้พยานหลักฐานที่ ก.ล.ต.มีต้องได้รับการคุ้มครอง ทำให้ไม่ต้องเปิดเผย ซึ่งต่อมาพบว่าพยานเหล่านั้นไม่ได้ได้มาจากความร่วมมือระหว่างประเทศแต่อย่างใด

ต่อมาได้รับอนุญาตให้เข้าไปตรวจสอบพยานหลักฐานสำคัญนั้น โดยมีการปกปิด ดัดแปลงในสาระสำคัญที่จะทำให้ทั้งสองท่านจะใช้โต้แย้งเพื่อปกป้องตนเองได้ ขณะเดียวกันให้ดูด้วยสายตาเท่านั้นห้ามจดบันทึก หรือทำสำเนาออกมาเพื่อพิสูจน์ความเป็นจริงเท็จของหลักฐาน และเมื่อทั้งสองพยายามโต้แย้งข้อเท็จจริง แต่ก ก.ล.ต.กลับไม่รับฟัง และตัดสินลงโทษในที่สุด แต่ก็ตนเองก็ไม่มีหลักฐานใดในการพิสูจน์ตนเอง จึงนำมาสู่การฟ้องร้องกันในที่สุด

นางสาวชญานี โปขันเงิน อดีตกรรมการบริหาร บล.เอเชีย เวลท์ กล่าวว่า หลังจากที่ ก.ล.ต.ส่งข้อกล่าวหามาให้ จึงถามกลับไปว่าถ้าเป็นการให้ข้อมูลเท็จ หรือบิดเบือนทำไม ก.ล.ต.ไม่แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ และให้ผ่านกระบวนการในชั้นศาล ปรากฎว่า ก.ล.ต.ไม่เคยดำเนินการใดใดในคดีอาญา แต่กลับถูกลงโทษจากวินัยของ ก.ล.ต.ให้เป็นบุคคลต้องห้ามในตลาดทุนด้วยข้อสรุปที่ว่า เผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จกับนักลงทุน จึงได้แย้งกลับว่า ตนเองเผยแพร่ข้อมูลใดที่เป็นเท็จกลับนักลงทุน และสร้างความเสียหายต่อการลงทุนของนักลงทุนท่านใด หุ้นตัวใด แต่ทางนายรพี สุจริตกุล ตลอดจนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ไม่เคยมีคำตอบกลับมาว่าทำผิดต่อนักลงทุนอย่างไร มีแต่เพียงคำสั้นๆ ว่าผิด

ขณะที่หลังจากที่มีการฟ้องร้องเกิดขึ้น เกิดผลกระทบ ดังนี้ 1.เจ้าหน้าที่ ก.ล.ต.มีการสอบถามมายังบริษัทว่าให้ทั้งสองไปทำหน้าที่อะไร และมีคอมเม้นท์ประมาณว่าให้ไม่เห็นทั้งสองพูดคุยกับเจ้าหน้าที่การตลาดไม่ว่าเรื่องใดๆ ทั้งสิ้น 2.พยายามขอรายละเอียดการรับส่ง และข้อความทางอีเมล์ของพนักงานทั้งหมด รวมถึงทั้งสองท่านด้วย โดยใช้ข้อความว่าตรวจสอบแบบปกติพิเศษ

3.ขอผลตอบแทนของผู้บริหารทั้งบริษัทโดยไม่ระบุว่าต้องการข้อมูลไปเพื่อใช้ในการตรวจสอบประเด็นใด 4.ขอเข้าตรวจค้นห้องทำงานของตนเอง โดยพยายามบังคับให้เปิดเพื่อให้เจ้าหน้าที่ ก.ล.ต.เข้าไปตรวจค้น แต่ไม่สามารถทำได้เนื่องจากขณะนั้นกุญแจอยู่กับตน และตนไม่อยู่ และ 5.พยายามหาความผิดของบริษัท ซึ่งอาจทำไปเพื่อบีบให้บริษัทดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งกับตนเอง

ขณะเดียวกัน ต่อจากนี้จะเดินหน้าเรียกร้องต่อกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย ที่เป็นคณะกรรมใน ก.ล.ต. เพื่อเพิ่มการตรวจสอบการใช้อำนาจหน้าที่ของสำนักงาน ก.ล.ต.ให้มีความโปร่งใส เป็นธรรม ตรวจสอบได้ และมีการคานอำนาจมากขึ้น เพิ่มช่องทางการเรียกร้องในการกระทำอันอาจไม่เป็นธรรมแก่บุคคลของ ก.ล.ต.

ทั้งนี้ วันที่ 28 มิ.ย.นี้ จะมีการนัดไตร่สวนมูลฟ้องของคดี ซึ่งตนจะเดินหน้าต่อสู้ให้ถึงที่สุด เพื่อให้หน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแล ซึ่งต้องมีธรรมาภิบาลอย่างยิ่งก้าวพ้นระบบอุปภัมถ์ ระบบเล่นพรรคพวก ระบบการใช้ดุลยพินิจ ในการตรวจสอบต่างๆ

อย่างไรก็ตาม ขอยืนยันว่ากระบวนการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ของบริษัทตามที่เคยวางแผนไว้ยังคงมีเหมือนเดิม และเพื่อให้บริษัทเดินหน้าต่อไปได้ตนเองก็พร้อมจะลาออกจากบริษัท แต่ยังคงจะเดินหน้าฟ้องร้อง และยืนยันว่าจะไม่ถอนฟ้อง ไม่ว่าจะถูกบีบด้วยเหตุการณ์ใด

ทั้งนี้ ตนทั้งสองคนจะพ้นจากการถูกแบนครั้งนี้ ในวันที่ 4 ส.ค. 2561 แต่มีความกังวลว่าจะถูกสั่งพักต่อ ส่วนกรณีถ้าไม่ถูกแบนแล้ว ก็ต้องการกลับเข้าไปทำงานในเอเชีย เวลท์เหมือนเดิม