มิติหุ้น – สตาร์ทอัพสายดีพเทคด้านอารีเทคไม่ควรพลาด โอกาสการเติบโตเพื่อพลิกโฉมเศรษฐกิจไทย
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับสมาคมผู้ประกอบการปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย หรือ AIEAT เปิดโครงการส่งเสริมสตาร์ทอัพด้านปัญญาประดิษฐ์-หุ่นยนต์-เทคโนโลยีโลกเสมือนจริงและไอโอที สู่การขยายตลาด หรือ ARI-Tech Startup Connext โดยมุ่งเน้นส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพสตาร์ทอัพ ให้มีความพร้อมในการนำเสนอผลงานหรือบริการที่น่าสนใจและตอบโจทย์ภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม หรือองค์กร และส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกให้เกิดการใช้งานเพิ่มมากขึ้น ที่จะทำให้สามารถขยายตลาดให้เติบโตได้อย่างรวดเร็ว ทั้งตลาดในประเทศและตลาดโลก ตลอดจนสร้างโอกาสให้ได้รับการต่อยอดทางธุรกิจ และได้รับการร่วมลงทุน
นายปริวรรต วงษ์สำราญ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า “NIA ได้ริเริ่มโปรแกรมสนับสนุนนวัตกรรมฐานเทคโนโลยีเชิงลึก จึงมีเป้าหมายส่งเสริมให้เกิดวิสาหกิจเริ่มต้นที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกจำนวน 100 ราย ในระยะเวลา 3 ปี (พ.ศ. 2565 – 2567) โดยสตาร์ทอัพด้านปัญญาประดิษฐ์-หุ่นยนต์-เทคโนโลยีโลกเสมือนจริงและไอโอที หรือ ARI-Tech เป็นธุรกิจนวัตกรรมฐานเทคโนโลยีเชิงลึก ที่กำลังจะเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนานวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ประเทศไทยมีความพร้อมและมีโอกาสเติบโตในตลาดโลก ที่มีมูลค่าสูงถึง 3.2 แสนดอลลาร์สหรัฐ โดยเฉพาะเทคโนโลยีในกลุ่มปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งมีแนวโน้มจะเติบโตมากที่สุด เนื่องจากสามารถประยุกต์นำไปใช้งานกับอุตสาหกรรมได้หลายด้าน เช่น เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์นำมาใช้ในการวิเคราะห์อาการของผู้ป่วยในรูปแบบของการแพทย์ทางไกลได้อย่างแม่นยำ รวมทั้งหุ่นยนต์บริการในร้านอาหารหรือใช้ทดแทนแรงงานคนในอุตสาหกรรมผลิตขนาดใหญ่ และเทคโนโลยีโลกเสมือนจริงนำมาใช้ในการท่องเที่ยว ที่ทำให้ได้สัมผัสโลกจำลองของสถานที่ต่างๆ เหมือนได้เดินทางเข้าเยี่ยมชมจริง”
ดร. กอบกฤตย์ วิริยะยุทธกร นายกสมาคมผู้ประกอบการปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AIEAT) กล่าวเพิ่มเติมว่า “ทางสมาคมฯ ได้รวบรวมกลุ่มธุรกิจด้านปัญญาประดิษฐ์ ที่เริ่มเข้ามามีบทบาทในสังคมไทยมากขึ้น และเพื่อสนับสนุนผลักดันธุรกิจด้านปัญญาประดิษฐ์ในไทยให้เกิดการเติบโต จึงร่วมมือกับ NIA ในการเร่งสร้างสตาร์ทอัพด้านอารีเทคให้เติบโต ด้วยการผลักดันผลิตภัณฑ์และบริการจากกลุ่มเทคโนโลยีนี้ให้เข้าสู่ตลาดนั้น โดยเล็งเห็นปัญหาที่สำคัญคือ สตาร์ทอัพยังขาดประสบการณ์ในการเชื่อมโยงกับกลุ่มผู้ใช้งานในภาคธุรกิจและองค์กรต่างๆ รวมทั้งขาดกลยุทธ์ด้านการสร้างตลาดให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยใช้เทคโนโลยีเชิงลึกสร้างความสามารถในการแข่งขัน ที่ต้องสร้างความเข้าในการนำเทคโนโลยีเชิงลึกไปประยุกต์ใช้งานและสอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า โดยแนวทางสำคัญ เริ่มต้นด้วยการพัฒนาศักยภาพสตาร์ทอัพปรับกลยุทธ์ด้านการสร้างตลาด ด้วยที่ปรึกษาจากสตาร์ทอัพรุ่นพี่ และผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจ ที่จะมาชี้ช่องสำคัญในการวิเคราะห์กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย และการชี้จุดอ่อนปรับจุดแกร่งให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ อีกทั้งส่วนสำคัญให้เกิดการจับคู่ธุรกิจด้วยการสร้างโอกาสให้สตาร์ทอัพได้นำเสนอผลิตภัณฑ์หรือบริการด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมกับภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม หรือองค์กร ดังนั้นสตาร์ทอัพที่เข้าร่วมโครงการ จะมีโอกาสสำคัญในการแสดงศักยภาพทางเทคโนโลยีขั้นสูงที่จะตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มลูกค้า และโอกาสที่จะขยายตลาดให้เกิดการเติบโตต่อไปด้วย”
“สตาร์ทอัพด้าน ARI-Tech เป็นพื้นฐานเทคโนโลยีที่เป็นแนวโน้มสำคัญของโลกและประเทศไทย ที่จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนที่จะไต่ระดับการพัฒนานวัตกรรมจากจุดเล็กๆ เมื่อสร้างให้เกิดสะพานเชื่อมกับเครือข่ายความร่วมมือของในการพัฒนาย่านนวัตกรรม เช่น เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ย่านนวัตกรรมอารีย์ ย่านนวัตกรรมไซเบอร์เทค รวมถึงเครือข่ายความร่วมมือในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ทั่วประเทศ ที่พร้อมเปิดรับการใช้งานของสตาร์ทอัพที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงไทย จะทำให้เกิดการเชื่อมต่อของเทคโนโลยีและนวัตกรรม สร้างโอกาสในตลาดใหม่ๆ เกิดเป็นระบบนิเวศที่สนับสนุนและผลักดันการเติบโตของสตาร์ทอัพสายดีพเทค ยกระดับนวัตกรรมของประเทศ ทำให้เพิ่มความสามารถในการแข่งขันได้อย่างยั่งยืน” คุณปริวรรต กล่าวสรุป
@mitihoonwealth
https://lin.ee/cXAf0Dp