มิติหุ้น – บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เดินหน้าโครงการใช้ประโยชน์จากเปลือกไข่บดที่เหลือจากกระบวนการผลิต ส่งต่อชุมชนและเกษตรกรทำปุ๋ยและช่วยปรับปรุงคุณภาพดิน ขับเคลื่อนความมุ่งมั่นการสร้างคุณค่าปราศจากขยะ ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ตัดวงจรนำเปลือกไข่สู่หลุมฝังกลบ ร่วมดูแลสิ่งแวดล้อม
ซีพีเอฟ ประกาศเป้าหมาย CPF 2030 Sustainability in Action ขับเคลื่อนองค์กรสู่ความยั่งยืน โดยหนึ่งในความมุ่งมั่น คือ การสร้างคุณค่าปราศจากขยะ กำหนดนโยบายการจัดการการสูญเสียอาหารและขยะอาหาร ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) อาทิ นำเปลือกไข่ที่เหลือจากกระบวนการผลิต ไปใช้ประโยชน์ โดยส่งต่อให้เกษตรกรและชุมชน ทำปุ๋ยหมักเปลือกไข่ หรือ เป็นวัสดุที่ช่วยปรับปรุงคุณภาพดิน ซึ่งปัจจุบัน มีโรงงานของซีพีเอฟ ที่ทำโครงการสร้างคุณค่า จากเปลือกไข่บด คือ โรงงานแปรรูปไข่ไก่บ้านนา จังหวัดนครนายก และโรงฟักชัยภูมิ ธุรกิจไก่ปู่- ย่าพันธุ์เนื้อ จังหวัดชัยภูมิ
นางวรรณทนีย์ ชำนาญเศรษฐการณ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า โรงงานแปรรูปไข่บ้านนาของซีพีเอฟ ทำโครงการ” เปลือกไข่บด CP เพื่อเกษตรกรสู่สังคมยั่งยืน” โดยนำเปลือกไข่ไก่บดที่เหลือจากกระบวนการผลิต แจกจ่ายให้เกษตรกรรอบพื้นที่โรงงานและเกษตรกรรอบพื้นที่จังหวัดนครนายก ตั้งแต่ ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน มีเกษตรกรที่เข้ามารับเปลือกไข่บดรวมประมาณ 6,300 ตัน ช่วยลดปริมาณเปลือกไข่ที่บริษัทต้องเสียค่าใช้จ่ายในการกำจัด ตามแนวทางลดปริมาณขยะที่ต้องนำไปกำจัดในบ่อฝังกลบ (Waste to Landfill) และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
“โครงการเปลือกไข่บด ฯ เป็นโครงการที่เกิดผลเชิงบวกทั้งมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการนำเปลือกไข่บดไปใช้เพื่อลดปริมาณปุ๋ยเคมีลงเป็นการลดค่าใช้จ่าย และช่วยปรับปรุงโครงสร้างของดินให้เหมาะสม เช่น สวนส้มโอ ฝรั่ง มะม่วง และกระท้อน เป็นต้น ลดผลกระทบจากการทำการเกษตรซึ่งส่งผลต่อชุมชน หรือการใช้สารเคมีที่ส่งผลต่อสุขภาพเกษตรกร โดยหันมาใช้เปลือกไข่บดแทน รวมทั้ง ลดผลกระทบจากการทำการเกษตรที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมด้วย ” นางวรรณทนีย์ กล่าว
ทั้งนี้ ในปี 2564 มีการนำเปลือกไข่ไก่บดจากโรงงานแปรรูปไข่ไก่บ้านนา ไปใช้ปรับปรุงดินให้เกษตรกร ซึ่งลดปริมาณขยะที่นำไปกำจัดในบ่อฝังกลบได้มากกว่า 1,000 ตันต่อปี สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่า 2,500 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี
นายจำรัส เพ็ชรตะคุ รองกรรมการผู้จัดการ ธุรกิจไก่ปู่-ย่าพันธุ์เนื้อ จังหวัดชัยภูมิ กล่าวว่า ธุรกิจไก่ปู่-ย่าพันธุ์เนื้อ ทำ”โครงการปุ๋ยเปลือกไข่สู่ชุมชนและเกษตรกร” ช่วยลดของเสียที่ต้องนำไปสู่การฝังกลบ เปลี่ยนเป็นปุ๋ยที่เป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม โดยปัจจุบัน สามารถผลิตปุ๋ยอินทรีย์ได้ 100 ตันต่อปี สามารถส่งต่อให้ชุมชนและเกษตรกรใช้ประโยชน์ทางการเกษตร เกิดองค์ความรู้ใหม่ในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ที่เหมาะสมกับพื้นที่เพาะปลูกพืชในชุมชนรอบๆ หน่วยงาน จากการทดลองผสมมูลไก่ปู่-ย่าพันธุ์เนื้อ น้ำหมักชีวภาพ โดยใช้จุลินทรีย์กลุ่มที่ย่อยสลายอินทรีย์ เปลี่ยนเป็นธาตุอาหารของพืช และได้ส่งตัวอย่างตรวจผลทางห้องปฏิบัติการที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งผ่านเกณฑ์ปุ๋ยอินทรีย์ตามประกาศของกรมวิชาการเกษตร
“ ธุรกิจไก่ปู่-ย่าพันธุ์เนื้อ ศึกษา ค้นคว้า ปัจจัยที่เกี่ยวข้องในกระบวนการย่อยสลายทางชีวภาพของจุลินทรีย์ เพื่อเร่งการย่อยสลายให้สมบูรณ์เร็วขึ้น ทดแทนการใช้ทรัพยากรธรรมชาติในการกำจัดซากสัตว์ ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เปลี่ยนเป็นการสร้างประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม” นายจำรัส กล่าว
ปัจจุบัน ได้ทำการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ที่ศูนย์การเรียนรู้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง บ้านซับรวงไทร จังหวัดชัยภูมิ และนำปุ๋ยไปใช้เพาะปลูกผักในศูนย์ ฯ ใช้กับพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง 10 แปลงของขาวไร่ รวมเป็นพื้นที่มากกว่า 100 ไร่ บริเวณชุมชนรอบโรงฟักชัยภูมิ จากการสอบถามผู้ที่นำปุ๋ยเปลือกไข่เพื่อชุมชนและเกษตรกรไปใช้ พบว่าผลผลิตดีขึ้น ทำให้เกษตรกรขายผลผลิตมีรายได้มากขึ้น
ซีพีเอฟ ต่อยอดสร้างคุณค่าจากของที่เหลือจากกระบวนการผลิต อาทิ เปลือกไข่ ให้สามารถนำกลับมาสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนและดูแลสิ่งแวดล้อม ตามกลยุทธ์ 3 เสาหลักสู่ความยั่งยืน ด้านสังคมพึ่งตน และสอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs ) ในการขจัดความยากจน รับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ