มิติหุ้น-บทวิเคราะห์ บล.เอเอสแอลระบุว่า จากกรณีที่ราคาหุ้น BANPU หรือ บมจ.บ้านปู ปรับลดลงกว่า 7% ในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าได้สะท้อนคาดการณ์ผลประกอบการไตรมาส1/2561 ของ BANPU ที่จะประกาศออกมาขาดทุน 1.5 พันล้านบาท โดยถือว่าเป็นผลประกอบการออกมาต่ำกว่าที่ประเมินไว้ เบื้องต้น (ก.พ. 61) เป็นผลจากการรับรู้ผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่มากถึง 1.4 พันล้านบาท และจะมีการรับรู้ค่าใช้จ่ายพิเศษเกี่ยวกับคดีหงสา ตามคำสั่งศาลฎีกา เป็นปัจจัยกดดันผลประกอบการ
อย่างไรก็ตามฝ่ายวิจัยยังคงมุมมองเชิงบวกต่อแนวโน้มราคาถ่านหินในช่วงที่เหลือของปี 2561 จากข้อจำกัดด้านอุปทานที่จะเข้าสู่ตลาด ขณะที่ความต้องการใช้ถ่านหินยังคงเติบโตตามเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัว ตามความกังวลก่อนหน้าเกี่ยวกับมาตรการควบคุมราคาถ่าหินในอินโดนีเซีย รวมไปถึงมาตรการจีนในการปิดท่าเรือขนส่งถ่านหินขนาดเล็กในประเทศ เราประเมินว่าส่งผลกระทบต่อราคาถ่านหินไม่มาก ทำให้ยังคงประมาณการปี 61 ไว้เท่าเดิม และยังคงคำแนะนำ “ซื้อ” ด้วยมูลค่าเหมาะสมที่หุ้นละ 25 บาท
เช่นเดียวกับบทวิเคราะห์ บล.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ที่ระบุว่า ผลประกอบการไตรมาส1/2561 ของ BANPU จะขาดทุนสุทธิ ซึ่งตลาดประเมินไว้ราว 1.1-1.2 พันล้านบาท มาจากรายการพิเศษคือ ค่าชดเชยความเสียหายในคดีหงสาราว 2.5 พันล้านบาท(แบ่งเป็น BPP อยู่ที่ 900 ล้านบาท และขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน(FX) 1.4 พันล้านบาท) จึงแนะนำ “ซื้อเก็งกำไร” จากกำไรช่วงที่เหลือของปีนี้จะฟื้นตัว แต่ยังมีความเสี่ยงจากนโยบายที่ไม่แน่นอนของจีน ที่ราคาเป้าหมายหุ้นละ 26 บาทด้วยวิธี SOTPแบ่งเป็นธุรกิจถ่านหิน 12.50 บาท/หุ้น อิงวิธี P/E ratio และ 13.50 บาท จาก BPP (BANPU ถืออยู่ 78.6%) โดยวิธี DCF ซึ่งรวมผลกระทบจากค่าชดเชยความเสียหายคดีโรงไฟฟ้าหงสาไว้แล้ว
www.mitihoon.com