มิติหุ้น – นายพดด้วง คงคามี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสเอเอเอ็ม ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (“SAAM”) เปิดเผยว่า มติที่ประชุมคณะกรรมการบริหารครั้งที่ 07/2565 เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2565 อนุมัติให้บริษัท เอสเอเอเอ็ม โซลูชัน จำกัด (“SAAM-S”) ซึ่งมีสถานะเป็นบริษัทย่อยที่ SAAM ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 100 เข้าซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนในบริษัท นานุค จำกัด (“NANUQ”) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท อิ๊กลู สตูดิโอ จำกัด (“IGLOO”) ในจำนวน 8,000 หุ้น ในราคาหุ้นละ 3,750.00 บาท รวมเป็นจำนวนเงิน30,000,000 บาท โดย SAAM-S จะมีสัดส่วนการถือหุ้นใน NANUQ ร้อยละ 40
สำหรับ IGLOO ให้บริการออกแบบสร้างสรรค์งานด้านดิจิทัลคอนเทนต์แบบครบวงจร (Digital Content Creator) ซึ่งรวมถึงการผลิตผลงานต้นฉบับ (Original Content) และมีความเชี่ยวชาญในด้านการทำแอนิเมชัน (Animation) และเทคนิคพิเศษทางภาพ (Visual Effect) เพื่อสร้างผลงานภาพยนตร์ ซีรีส์ มิวสิกวิดีโอ และโฆษณา ให้แก่บริษัทชั้นนำในประเทศไทยและในระดับนานาชาติ ตัวอย่างผลงานซึ่งเป็นที่รู้จักและยอมรับในวงกว้าง เช่น ผลงานต้นฉบับ (Original Content) สำหรับ Netflix Japan / ภาพยนตร์แอนิเมชัน (Animation) เรื่อง ๙ ศาสตรา / ซีรี่ย์เรื่อง The Salad ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวด DigiCon6 Thailand ในปี 2561 / และ มิวสิกวิดีโอเพลง Kids See Ghosts ของศิลปินต่างประเทศ โดยประสบการณ์ ทักษะ และความชำนาญในการผลิตผลงาน ต่าง ๆ ข้างต้น ล้วนมีความสำคัญต่อการสร้างจักรวาลนฤมิตร (“Metaverse”)
NANUQ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ IGLOO มุ่งเน้นการเป็นผู้ให้บริการสร้างสรรค์ดิจิทัลคอนเทนต์สำหรับเกม (Game Digital Content Creator) ออกแบบสร้างสรรค์เกม (Game Design) และผลิตเกมอย่างครบวงจร (Game Production) ในรูปแบบของเกมคอมพิวเตอร์ เกมโทรศัพท์มือถือ รวมถึงเกม NFT โดยให้บริการตั้งแต่ขั้นตอนการร่างไอเดียไปจนถึงการผลิตเกมที่สมบูรณ์
ปัจจุบัน NANUQ ได้ออกแบบและผลิตเกมเป็นของตัวเอง คือ เกม Bounty Brawl ในรูปแบบของเกมคอมพิวเตอร์ ซึ่งได้เปิดตัวอย่างครั้งแรกที่งาน Tokyo Game Show 2018 ในประเทศญี่ปุ่น และได้รับรางวัลชนะเลิศในสาขาเกมหมวด Action จากโครงการ depa Game Accelerator Program Batch #1 จัดขึ้นโดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ร่วมกับ สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เกมไทย และบริษัท อินโฟเฟด จำกัด ในปี 2564 พร้อมได้ต่อยอดผลงานกับ Nintendo ซึ่งเกม Bounty Brawl คาดว่าจะพร้อมจำหน่ายและรับรู้รายได้ในช่วงสิ้นปี 2565 นี้
นอกจากนี้ NANUQ จะมุ่งประกอบธุรกิจด้าน Metaverse โดยให้บริการออกแบบสร้างสรรค์งาน Metaverse แบบครบวงจร (Metaverse Digital Content Solutions) สำหรับลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงจะสร้าง Metaverse เป็นของตัวเอง โดยจะทยอยเปิดตัวเป็นเฟส คาดว่าใช้เวลาเฟสละ 9-12 เดือน
นายพดด้วง กล่าวต่อว่า บอร์ดฯ ได้อนุมัติกรอบวงเงินในการเข้าลงทุนในธุรกิจเกมอีก มูลค่ารวมไม่เกิน 40,000,000 บาท โดยมอบอำนาจให้นายพดด้วง คงคามี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เป็นผู้พิจารณาอนุมัติการเข้าดำเนินการเมื่อพบโอกาสทางธุรกิจ และได้เข้าศึกษาข้อมูลอย่างครบถ้วน เป็นไปตามเงื่อนไขซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร ครั้งที่ 07/2564 ได้กำหนด เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจ สอดคล้องกับสภาวะอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม SAAM จะปฏิบัติตามเกณฑ์ได้มาจำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์ต่อไป
แหล่งที่มาของเงินทุน SAAM-S จะเข้าทำสัญญากู้ยืมเงินจาก SAAM จำนวน 30,000,000 บาท ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1.25 ต่อปี ทั้งนี้ ไม่มีเงื่อนไขที่อาจกระทบต่อสิทธิผู้ถือหุ้น โดยแหล่งที่มาของเงินทุนจาก SAAM คือเงินทุนหมุนเวียน SAAM คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 30 วันนับจากวันที่คณะกรรมการบริหารมีมติ
ส่วนธุรกิจ Assets Tracking Solutions นั้น SAAM-S ได้เข้าไปลงทุนในธุรกิจระบบบริหารจัดการงานเฉพาะทาง ด้วยเทคโนโลยีผ่านโซลูชันวิเคราะห์และติดตามข้อมูลบิ๊กดาต้า โดยจะเน้นกลุ่มลูกค้าโรงพยาบาล ปัจจุบันอยู่ระหว่างการปรับปรุงซอฟแวร์ให้เหมาะสมกับการใช้งานกับฮาร์ดแวร์ในเอเชียได้ ซึ่งจะทำให้การส่งมอบฮาร์ดแวร์ให้กับลูกค้าโรงพยาบาลเป็นไปได้เร็วขึ้นมาก คาดว่าการปรับปรุงซอฟแวร์จะแล้วเสร็จในปลายเดือนหน้า โดยเบื้องต้น SAAM-S ติดต่อโรงพยาบาลไปกว่า 80 แห่ง ซึ่งโรงพยาบาลต่างให้ความสนใจในตัวโซลูชันนี้
“เราทำ Solutions ที่เรียกว่า Assets Tracking Solutions เป็นการบริหารจัดการและติดตามสินทรัพย์ที่มีจำนวนมาก กล่าวคือสินทรัพย์ที่มีจำนวนมากๆ มักจะหายง่ายและใช้ประโยชน์ได้ไม่คุ้มค่า จึงมี Solutions มาช่วยติดตาม ยกตัวอย่างเช่น เครื่องมือแพทย์ สมมุติว่ามี 1,000 เครื่อง ถ้าไม่มี Solutions คอยติดตามว่าแต่ละเครื่องเก็บหรือใช้งานอยู่ตรงไหนบ้าง โรงพยาบาลจะไม่สามารถรู้ได้เลย ว่าเครื่องมือแต่ละเครื่องอยู่ตรงไหน ใช้งานอยู่หรือไม่ ดังนั้นพอมี Solutions เข้ามาจับ ก็จะรู้ทันที ทำให้สามารถเข้าถึงเครื่องมือแพทย์ได้เร็วขึ้น ทำให้รักษาคนไข้ได้ทันเวลา และลดจำนวนการซื้อเครื่องมือแพทย์ได้เป็นจำนวนมาก อาจจะใช้จริงๆ เพียง 500-600 เครื่อง ก็เพียงพอแล้ว” นายพดด้วง กล่าว
ส่วนธุรกิจพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ปัจจุบันกำลังดำเนินงานอยู่ ตามที่มีลูกค้าว่าจ้างให้พัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล จำนวน 12 โครงการ กำลังการผลิตรวม 120 เมกะวัตต์ ที่จะสนับสนุนรายได้เข้ามาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาส 3 หรือไตรมาส 4 ของปีนี้
ด้านธุรกิจปลูกไม้พลังงาน (Plantation) และธุรกิจผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ด (Wood Pellet) เพื่อป้อนโรงไฟฟ้าที่ SAAM พัฒนาและจำหน่ายให้กับกลุ่มลูกค้า ขณะนี้กำลังศึกษารายละเอียดประเทศที่จะเป็นพื้นที่ปลูก อาทิ กัมพูชา และฟิลิปปินส์ ซึ่งเบื้องต้นมีการเจรจาไปบ้างแล้ว และหากถ้าเปิดประเทศ จะกลับเข้าไปเจรจาใหม่ คาดว่าอาจจะเริ่มเดินทางไปดูพื้นที่จริงได้ประมาณ ไตรมาส 3 หรือไตรมาส 4 ของปีนี้
นายพดด้วง กล่าวถึงทิศทางผลประกอบการในปี 2565 คาดว่าภาพรวมจะเติบโตมากกว่าปีก่อนอย่างน้อย 2-3 เท่าตัว เนื่องจากไตรมาส 1 ปี 2565 ที่ผ่านมา SAAM สามารถทำกำไรเติบโตได้ถึง 55.61 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไรสุทธิประมาณ 9 ล้านบาท ซึ่งการเติบโตดังกล่าวยังไม่รวมถึงธุรกิจใหม่ที่เพิ่งเข้าไปลงทุน
“ธุรกิจใหม่ของ SAAM (ธุรกิจ Game Solutions) คาดว่าจะเริ่มรับรู้รายได้ในปลายปีนี้ ยังไงปีนี้ก็กำไรโตเป็นเท่าตัวอยู่แล้วจากธุรกิจปัจจุบัน แต่กำไรจะโต 2-3 เท่า หรือ 5-6 เท่า ก็ต้องรอดูว่าธุรกิจใหม่ที่เพิ่งเข้าไปลงทุนจะเป็นอย่างไร ซึ่งจะเห็นว่า SAAM พยายามจะลงทุนแล้วรับรู้รายได้ให้ได้เร็ว ไม่อยากรอภาพใหญ่เป็นปีๆ ซึ่งกว่าจะเป็น Metaverse ที่สมบูรณ์ได้จะต้องใช้เวลา 3 ปีกว่า ก็จะนานเกินไปกว่าจะรับรู้รายได้ จึงพยายามแบ่งการเปิดตัวงานเป็นเฟสๆ โดยเริ่มจากเกมก่อนเป็นเฟสแรก ซึ่งถือเป็นกิจกรรมแรกใน Metaverse ของ SAAM และมีเป้าหมายต่อไปที่จะเปิดตัวกิจกรรมที่ 2, 3 และ 4 เพื่อรวมกันเป็น Virtual Society (Metaverse แบบย่อ) ให้ได้ภายใน 2 ปีนับจากนี้ หลังจากนั้นก็จะเปิดตัวให้ครบ 10 กิจกรรม เพื่อกลายเป็น Metaverse ในแบบฉบับของ SAAM” นายพดด้วง กล่าว
@mitihoonwealth