มิติหุ้น – กสิกรไทยมุ่งมั่นปั้นสตาร์ทอัพไทยฝันให้ไกลไปให้ถึงความสำเร็จทางธุรกิจได้จริง จับมือ The Stanford Thailand Research Consortium ปีที่ 3 ในการร่วมสนับสนุนงานวิจัยของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดในด้านต่างๆ เพื่อปูทางไปสู่ความสำเร็จและความก้าวหน้าของประเทศ รวมถึงด้าน Technology and Innovative Entrepreneurship เเละเดินหน้าโครงการ KATALYST STARTUP LAUNCHPAD 2022 ถ่ายทอดสูตรความสำเร็จของสตาร์ทอัพระดับโลก เรียนลัด 9 สัปดาห์ ฟรี รับประกาศนียบัตรเป็นใบเบิกทางต่อยอดกับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ และสิทธินำเสนอเพื่อชิงเงินรางวัลพร้อมผลิตภัณฑ์เพื่อต่อยอดธุรกิจ 3 รางวัล รวมมูลค่า 8 แสนบาท เปิดรับสมัครผู้เรียนเน้นเทคสตาร์ทอัพในกลุ่มอุตสาหกรรมการเงิน สุขภาพ ท่องเที่ยว การศึกษา และสิ่งแวดล้อม ตอกย้ำเจตนารมณ์ของธนาคารในการพัฒนาสตาร์ทอัพไทยเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สร้างความยั่งยืนให้แก่สังคมและประเทศ
นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารมีเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นในการพัฒนาสตาร์ทอัพไทยให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งจากฐานรากและครอบคลุมความต้องการของภาคธุรกิจ เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย สร้างความยั่งยืนให้แก่สังคมและประเทศ จึงได้สนับสนุนวงการสตาร์ทอัพไทยอย่างครบวงจร ทั้งการส่งเสริมด้านเงินทุนซึ่งดำเนินการผ่าน Beacon Venture Capital และการส่งเสริมด้านองค์ความรู้และเครื่องมือต่อยอดธุรกิจด้วยการจัดตั้งโครงการ KATALYST ที่ดำเนินการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริม Startup Community อย่างต่อเนื่องในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การจัดเสวนาแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ (Knowledge Sharing Session) การนำสตาร์ทอัพมาร่วมโครงการต่อยอดทางธุรกิจกับธนาคาร (Business Collaboration) รวมทั้งการให้คำปรึกษา และแนะนำโซลูชันของทางธนาคารให้แก่สตาร์ทอัพเพื่อเพิ่มศักยภาพในการให้บริการและดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
โครงการ KATALYST STARTUP LAUNCHPAD 2022 เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ธนาคารส่งมอบให้แก่สตาร์ทอัพ โดยความร่วมมือกับนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา ศาสตราจารย์ Charles (Chuck) Eesley มาช่วยสร้างหลักสูตรการอบรม อันเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยด้าน Technology and Innovative Entrepreneurship และนำองค์ความรู้และเคล็ดลับความสำเร็จทางธุรกิจในระดับโลกมาถ่ายทอดให้สตาร์ทอัพไทยเพื่อสร้างพื้นฐานในการทำธุรกิจและนำไปประยุกต์ใช้ได้จริง โดยเปิดอบรมมาแล้ว 2 ปี ภายใต้การสนับสนุนของ The Stanford Thailand Research Consortium โดย KBank เป็นหนึ่งในสมาชิก
นางสาวขัตติยา กล่าวว่า สำหรับปีที่ 3 ธนาคารได้จัด KATALYST STARTUP LAUNCHPAD 2022 ภายใต้แนวคิด “Jumpstart your idea through entrepreneurial mindset” หลักสูตรที่จะทำให้ไอเดียธุรกิจพุ่งทะยานสู่สตาร์ทอัพที่ยั่งยืน ด้วยการเรียนรู้อย่างเข้มข้น 9 สัปดาห์ เปิดรับสมัครตั้งแต่วันนี้ถึง 31 กรกฎาคมนี้ และเริ่มเรียนตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม ถึงวันที่ 24 ตุลาคม 2565 ผู้เข้ารับการอบรมจะได้รับองค์ความรู้จากหลักสูตรของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด โดยตรง และไม่มีค่าใช้จ่าย โดยจะมีโอกาสได้เรียนกับวิทยากรจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และในปีนี้ธนาคารได้จับมือกับพันธมิตรในด้านต่าง ๆ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้รับคำปรึกษาและคำแนะนำจาก Mentor ชั้นนำจากหลากหลายอุตสาหกรรมทั้งในไทยและต่างประเทศ อาทิ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) บริษัท ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญจากกสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) ผู้บริหารจาก Beacon VC และบุคลากรจากเครือข่ายของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เพื่อให้สตาร์ทอัพไทยได้ดึงศักยภาพของตัวเองและทีมออกมาได้อย่างเต็มที่
หลักสูตร KATALYST STARTUP LAUNCHPAD 2022 จะให้ความรู้ที่ช่วยพัฒนาศักยภาพของสตาร์ทอย่างอัพครบวงจรตั้งแต่พื้นฐานเริ่มที่ไอเดียธุรกิจ การวิเคราะห์ความต้องการลูกค้า การพัฒนาศักยภาพในการแข่งขัน การสร้างแบรนด์และพัฒนาผลิตภัณฑ์ องค์ประกอบของความเป็นผู้ประกอบการ การตลาด การบริหารเงิน วางแผนธุรกิจ และทักษะการนำเสนอ นอกจากนี้ ในสัปดาห์สุดท้ายของการอบรม ทีมสตาร์ทอัพที่มีผลงานโดดเด่นจะได้รับคัดเลือกให้นำเสนอผลงานต่อคณะกรรมการ ทีมที่ชนะจะได้รับรางวัลจากโครงการทั้งเงินรางวัลและผลิตภัณฑ์เพื่อต่อยอดธุรกิจ จำนวน 3 รางวัล มูลค่ารวม 800,000 บาท พร้อมโอกาสการร่วมมือกับธนาคารกสิกรไทยในด้านธุรกิจรวมถึงพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคดิจิทัล โดยผู้ที่เข้าร่วมโครงการและผ่านเกณฑ์ของหลักสูตรนี้จะได้รับประกาศนียบัตรจาก KATALYST by KBank และมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ซึ่งเป็นใบเบิกทางและโอกาสสำคัญในการขยายเครือข่ายทางธุรกิจกับบริษัทชั้นนำมากมายทั้งในประเทศและต่างประเทศอีกด้วย
นางสาวขัตติยา กล่าวตอนท้ายว่า KATALYST STARTUP LAUNCHPAD 2022 เป็นหนึ่งในหลักสูตรที่ธนาคารภูมิใจ ที่ได้มีส่วนในการส่งเสริมสตาร์ทอัพไทยให้สามารถนำความรู้ ทักษะต่าง ๆ ไปประยุกต์ใช้กับธุรกิจและสามารถต่อยอดให้ประสบความสำเร็จได้จริง ผู้ที่เข้าร่วมโครงการจะได้เรียนรู้และลงมือปฏิบัติจริงทุกขั้นตอน โดยจะมีผู้เชี่ยวชาญถ่ายทอดองค์ความรู้ รวมถึงเทคนิคด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านเทคโนโลยี ดีไซน์ และธุรกิจ เพื่อเพิ่มศักยภาพให้ผู้ประกอบการสามารถผ่านหลักสูตรไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดย 2 ปีที่ผ่านมามีสตาร์ทอัพไทยเรียนจบหลักสูตรทั้งสิ้น 52 ทีม และมีหลายทีมที่นำองค์ความรู้ที่ได้ในโครงการไปต่อยอดกับธุรกิจจนประสบความสำเร็จ สำหรับปีนี้ ธนาคารจะมุ่งเน้นส่งเสริมเทคสตาร์ทอัพที่ให้บริการเพื่อตอบโจทย์ภาคธุรกิจ (B2B) ในอุตสาหกรรมการเงิน (FinTech) สุขภาพ (HealthTech) การท่องเที่ยว (TravelTech) การศึกษา (EdTech) และสิ่งแวดล้อม (GreenTech) เพื่อเตรียมความพร้อมตอบสนองการเติบโตของภาคธุรกิจเหล่านี้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
@mitihoonwealth
https://lin.ee/cXAf0Dp