มิติหุ้น – PwC เผยองค์กรไทยควรเร่งนำระบบ “เอชอาร์ คลาวด์ โซลูชัน” มาพลิกโฉมงานด้านทรัพยากรบุคคล ชี้ช่วยเพิ่มศักยภาพในการบริหารกำลังพลเชิงกลยุทธ์ผ่านการวิเคราะห์-จัดการข้อมูลเชิงลึก พร้อมสนับสนุนโปรแกรมการพัฒนาทักษะและสร้างแรงจูงใจ เพื่อรองรับการทำงานแบบไฮบริด เพราะพนักงานสามารถเข้าถึงข้อมูลด้วยตัวเองจากที่ไหน หรืออุปกรณ์ใดก็ได้
นาย จิรพล ตังทัตสวัสดิ์ หุ้นส่วนสายงานที่ปรึกษา บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันองค์กรต่าง ๆ ในประเทศ เริ่มนำระบบคลาวด์เข้ามาใช้กับงานบริหารทรัพยากรบุคคลแทนระบบเก่า (Legacy technology) มากขึ้น เพราะให้ผลลัพธ์ทางธุรกิจที่ดีกว่าทั้งในด้านประสิทธิภาพ การสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับพนักงาน และการจัดเก็บข้อมูลด้านบุคลากร โดยระบบบริหารทรัพยากรบุคคล (HR Cloud Solutions) เข้ามาช่วยผู้บริหารในการแก้ปัญหาการสรรหา พัฒนา และรักษาพนักงานมากความสามารถไว้กับองค์กร นอกจากนี้ ยังช่วยให้พนักงานมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับองค์กร เพราะฝ่ายเอชอาร์เข้าใจสถานการณ์และความรู้สึกนึกคิดของพนักงานมากขึ้น ผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกด้านทรัพยากรบุคคล (HR insights)
“เทคโนโลยีเอชอาร์ คลาวด์ โซลูชัน จะยิ่งเข้ามามีบทบาทต่อการบริหารคนมากขึ้นในอนาคต เพราะช่วยให้ผู้นำองค์กรเข้าใจข้อมูลด้านทรัพยากรบุคคลอย่างถ่องแท้ ไม่ว่าจะเป็นการเฟ้นหาบุคลากรที่เหมาะสมกับตำแหน่งงาน และความต้องการขององค์กร รวมถึงเข้าใจว่า จะพัฒนาและรักษาคนเก่งให้อยู่กับองค์กรได้อย่างไร ผ่านโปรแกรมการพัฒนาทักษะ การประเมิน และให้ผลตอบแทนที่สร้างแรงจูงใจให้กับพนักงาน” นาย จิรพล กล่าว
“นอกจากนี้ เอชอาร์ คลาวด์ โซลูชัน ยังตอบโจทย์การทำงานแบบไฮบริดและการบริหารความเท่าเทียมภายในองค์กร เพราะพนักงานทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ด้วยตัวเองจากที่ไหน หรืออุปกรณ์ใดก็ได้” นาย จิรพล กล่าว
นาย จิรพล กล่าวต่อว่า ปัจจุบันองค์กรชั้นนำส่วนใหญ่ นิยมใช้บริการระบบบริหารทรัพยากรบุคคลในรูปแบบการเช่าใช้ (Software as a Service: SaaS) เพราะช่วยประหยัดต้นทุนและมีความคล่องตัวสูง อีกทั้งยังได้รับการดูแลและจัดการระบบจากผู้ให้บริการที่มีความชำนาญและมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีชั้นนำ ลดการพึ่งพาฝ่ายไอทีขององค์กรเพียงอย่างเดียว โดยองค์กรยังสามารถนำแนวปฏิบัติที่ได้มาตรฐานสากลของผู้ให้บริการมาใช้ได้ทันที
เปลี่ยนงานเอชอาร์สู่ระบบคลาวด์ยังคงเป็นประเด็นที่ท้าทาย
อย่างไรก็ดี การนำระบบคลาวด์มาประยุกต์ใช้ในงานเอชอาร์ ยังมีประเด็นที่ท้าทายอยู่หลายด้าน เช่น ระดับของการลงทุนที่เหมาะสม ความปลอดภัยในการเชื่อมต่อ หรือแลกเปลี่ยนข้อมูลกับระบบอื่น ๆ ภายในองค์กร รวมไปถึงความสามารถและทักษะในการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกของหน่วยงานเอชอาร์เอง
สอดคล้องกับผลสำรวจล่าสุด PwC HR Tech 2022 ที่สอบถามความคิดเห็นของผู้บริหารฝ่ายทรัพยากรบุคคลในประเทศสหรัฐอเมริกา จำนวนเกือบ 700 ราย เกี่ยวกับแนวโน้มของการใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนางานด้านทรัพยากรบุคคลพบว่า การเปลี่ยนองค์กรสู่ระบบคลาวด์ (Cloud transformation) ถือเป็นความท้าทายสำหรับผู้นำฝ่ายทรัพยากรบุคคลมากที่สุดเป็นอันดับที่สาม (36%) รองจากการวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูงด้านเอชอาร์ (39%) และการสรรหาและจ้างพนักงาน (39%)
นอกจากนี้ องค์กรยังต้องคำนึงถึงความปลอดภัยและทักษะการใช้ระบบคลาวด์ของพนักงานด้วย โดยผลสำรวจระบุว่า 21% ของผู้บริหารฝ่ายเอชอาร์แสดงความกังวลเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลที่จัดเก็บในระบบคลาวด์ หลังเห็นแนวโน้มของการโจมตีผู้ให้บริการคลาวด์ด้วยแรนซัมแวร์ที่เพิ่มขึ้น
“ในหลายกรณีเราจะพบว่า กระแสของการใช้โซลูชันดังกล่าวที่เพิ่มขึ้น ทำให้ผู้บริหารฝ่ายเอชอาร์บางรายต้องการที่จะลงทุนเพื่อซื้อโซลูชันทั้งหมด โดยที่ไม่ได้วิเคราะห์ หรือมีการวางแผนการลงทุนให้ดีเสียก่อน ทำให้ตัวเลขการลงทุนในขั้นต้นสูงกว่าที่คาดไว้ ซึ่งการมีนวัตกรรมใหม่ ๆ ในระดับที่มากเกินไป ไม่ได้แปลว่าพนักงานจะมีความสามารถในการใช้งานระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะอาจมีกระบวนการทำงานใหม่ จนทำให้ได้รับข้อมูลมากเกินไป หรือยังใช้ระบบได้ไม่คล่อง” นาย จิรพล กล่าว
ด้วยเหตุนี้ องค์กรควรพิจารณาการลงทุนระบบเอชอาร์ คลาวด์ โซลูชัน โดยเริ่มจากวางแผนการประยุกต์ใช้ระบบ และเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม โดยอิงจากกรณีศึกษา (Use case) ที่ต้องการใช้จริง หรือรูปแบบของระบบ (Module) ที่เป็นความต้องการพื้นฐาน ควบคู่ไปกับมีมาตรการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล และการเชื่อมต่อกับระบบอื่น ๆ ขององค์กร
“ในระยะเริ่มต้น ผู้บริหารอาจเลือกทยอยการลงทุน เพื่อเพิ่มความสามารถของระบบ หรือเทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อเปิดโอกาสให้พนักงานได้ทดลองใช้ระบบจนเกิดความคุ้นเคย จากนั้นค่อยวางแผนการลงทุนที่สอดคล้องกับผลลัพธ์ตามกรอบเวลาต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการลงทุนเพิ่มเติมในอนาคต” นาย จิรพล กล่าว
นาย จิรพล กล่าวสรุปว่า อนาคตของงานด้านทรัพยากรบุคคลของธุรกิจไทย จะยิ่งก้าวไปสู่ดิจิทัลมากขึ้น โดยการทำงานแบบผสมผสาน (Hybrid working) จะกลายเป็นรูปแบบการทำงานที่ต้องอาศัยการประยุกต์ใช้ระบบเอชอาร์ คลาวด์ โซลูชัน เพราะช่วยลดขั้นตอนการทำงานที่ซ้ำซ้อน และสนับสนุนการทำงานที่ไหนก็ได้ (Work from Anywhere) อีกทั้งยังช่วยลดช่องว่างระหว่างพนักงานและฝ่ายเอชอาร์จากการมีระบบ self-service ที่จะช่วยเพิ่มการเข้าถึงและสามารถนำข้อมูลไปใช้ได้แบบเรียลไทม์
@mitihoonwealth