มิติหุ้น – ความเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างรวดเร็วจาก Digital Transformation เป็นทั้งอุปสรรคและความท้าทายสำหรับภาคธุรกิจในทุกอุตสาหกรรม ไม่เว้นแม้แต่อุตสาหกรรมโทรคมนาคมที่ต้องยอมรับว่า ทุกวันนี้ ความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการโทรคมนาคมค่อยๆ ลดน้อยลง เพราะการเปลี่ยนแปลงของตลาดและเทคโนโลยี รวมถึงการเข้ามาของผู้เล่นใหม่ระดับโลก โดยเฉพาะบริการ OTT ที่ไม่ต้องมีภาระลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแบบโอเปอเรเตอร์ ขณะที่โอเปอเรเตอร์ต้องแบกรับการลงทุนในเครือข่ายอย่างมหาศาล เพื่อให้บริการได้อย่างทั่วถึงและรองรับการมาของเทคโนโลยีใหม่ๆ ในอนาคต จึงไม่น่าแปลกใจว่า การปรับโครงสร้างองค์กร การควบรวมกิจการ มีเกิดขึ้นมากมายทั้งในไทยและในต่างประเทศทั่วโลก
แต่สำหรับการควบรวม ทรู และ ดีแทค ในลักษณะ Equal Partnership ระหว่างเครือเจริญโภคภัณฑ์และเทเลนอร์ ซึ่งจะมีสัดส่วนการถือหุ้นประมาณ 30% ทั้งสองฝ่าย ทำให้เป็นบริษัทมหาชนที่สมบูรณ์แบบนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเพื่อให้สามารถรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกและเทคโนโลยีเท่านั้น แต่เป็นการมองหาโอกาสที่จะได้รวมพลัง ผนึกความแข็งแกร่งของทั้ง 2 องค์กร เพื่อร่วมขับเคลื่อนบริษัทเทคโนโลยีใหม่ที่จะเกิดขึ้นนี้ไปด้วยกัน พร้อมสร้างคุณค่าให้เกิดกับผู้บริโภค ประชาชน และภาคธุรกิจอื่นๆ ที่จะร่วมสร้างประโยชน์ให้กับประเทศต่อไป
“การควบรวมกิจการครั้งนี้ จะทำให้บริษัทใหม่ที่จะเกิดขึ้นนี้ สามารถส่งมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดในทุกๆ ด้านแก่ผู้ใช้บริการ และสร้างความแข็งแกร่งให้กับประเทศตามนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของภาครัฐ” เป็นถ้อยแถลงที่เน้นย้ำความสำคัญต่อประโยชน์ของคนไทยและประเทศไทย โดย คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และประธานกรรมการ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น ในงาน Media Roundtable : CREATING A NEW TELECOM TO TECH COMPANY เมื่อเร็วๆ นี้
ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับลูกค้า หลังจากการควบรวม และตั้งเป็นบริษัทเทคโนโลยีใหม่ จะทำให้ความครอบคลุมของสัญญาณที่กว้างขึ้น แบนด์วิธกว้างขึ้น เสาสัญญาณจะมีมากสูงถึงเกือบ 50,000 เสา สามารถรองรับการใช้งานได้ดียิ่งขึ้น มีการเชื่อมโยงคลื่นความถี่ ใช้คลื่นความถี่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกเป็นเท่าตัว ทำให้การใช้บริการลื่นไหล รวมถึงประสบการณ์ในการใช้บริการ ทั้งด้านบริการหลังการขาย และคุณภาพของการบริการจะดียิ่งขึ้น ทำให้เกิดธุรกิจและบริการรูปแบบใหม่ๆ มากมาย จากความแข็งแรงทางการเงินและความสามารถในการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ทั้งเทคโนโลยี 5G และเทคโนโลยีอื่นๆ ที่จะมาช่วยพัฒนาคุณภาพบริการให้ดียิ่งขึ้น มีนวัตกรรมที่สูงขึ้น เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในอนาคต ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ดีที่สุดที่ทั้ง 2 บริษัท ก็จะนำมารวมกันเพื่อมอบให้กับลูกค้าและผู้บริโภคชาวไทย
คุณศุภชัย กล่าวว่า “การมองว่าการควบรวม จะทำให้มีผู้ให้บริการจาก 3 ราย เหลือเพียง 2 ราย ส่งผลให้การแข่งขันลดลงนั้น เป็นการมองภาพที่ไม่รอบด้าน เพราะต้องรวมถึง Tech Company อื่นๆ อย่างเช่น OTT ด้วย นอกจากนี้ การแข่งขันนั้นไม่ได้ขึ้นกับแค่เรื่องจำนวนของผู้ให้บริการ แต่ขึ้นอยู่กับว่าผู้ให้บริการที่แข่งขันกันนั้น มีความแข็งแรงเท่ากันหรือไม่ ส่วนราคาค่าบริการที่กังวลว่าจะสูงขึ้นนั้น จะไม่เกิดขึ้น เพราะธุรกิจโทรคมนาคมเป็นธุรกิจที่มีหน่วยงานกำกับดูแลเรื่องคุณภาพบริการและราคา โดยมี กสทช. เป็นผู้กำหนดเพดานราคาพื้นฐาน และควบคุมค่าบริการ สิทธิประโยชน์ต่างๆ ซึ่งประเทศไทยมีค่าบริการด้านข้อมูลที่ถือว่าต่ำที่สุดรายหนึ่งของโลกอยู่แล้ว และอีกประการ หากการควบรวมสำเร็จ และสามารถรวมคลื่นความถี่ได้ อาจจะสามารถเปิดให้ MVNO เข้ามาใช้โครงข่ายดังกล่าวได้ ซึ่งจะทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการใช้โครงข่าย และจะทำให้มีการแข่งขันในตลาดเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย ”
นอกจากนี้ คุณศุภชัย ยังกล่าวอีกว่า “การควบรวมครั้งนี้จะสามารถช่วย 1. ลดเรื่องของความเหลื่อมล้ำด้วยเครือข่ายที่ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ทำให้เด็กนักเรียนนักศึกษาและประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ โดยเฉพาะต่อไปองค์ความรู้จะอยู่บนอินเทอร์เน็ต การเรียนออนไลน์ การมีคุณครูที่มีศักยภาพจากในประเทศและจากทั่วโลกเข้าสู่ระบบออนไลน์เป็นเรื่องใหญ่ รวมถึงคนกลุ่มเปราะบางต่างๆ ก็จะได้รับโอกาสที่เท่าเทียม ตลอดจนสร้างโอกาสและรายได้ให้ผู้ประกอบการ SME ในท้องถิ่นต่างๆ ได้ค้าขายผ่านออนไลน์ เติมเต็มและสร้างคุณค่าอย่างยั่งยืน 2. การขับเคลื่อนเรื่อง Digital Transformation เราจะเป็น Tech Company ขณะที่ประเทศไทยจะเป็น Tech Hub ซึ่งไม่ใช่แค่การลงทุนเรื่อง 5G หรือ 6G แต่เป็นเรื่องของ Cloud Technology, Software, Tech Startup รวมถึงการสร้างระบบนิเวศเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง และ 3. คือเรื่องความยั่งยืนที่สอดคล้องกับ 17 SDG Goals ซึ่งบริษัทที่ควบรวมใหม่จะสามารถช่วยขับเคลื่อนได้”
และอีกหนึ่งประโยชน์ที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย คุณศุภชัยเสริมว่า “การควบรวมครั้งนี้ ยังช่วยสร้างระบบนิเวศเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทย โดยเฉพาะการสนับสนุนกลุ่มสตาร์ทอัพ ด้วยการจัดตั้งกองทุน Venture Capital Funding จำนวน 200 ล้านเหรียญ ซึ่งจะสามารถสร้างความมั่นใจให้กับประเทศ ดึงดูดนักลงทุน และกองทุนอื่นๆ จากทั่วโลกมาร่วม และมีความเป็นไปได้ที่จะมีเข้ามามากถึง 800 – 1,000 ล้านเหรียญ และเมื่อ Capital Gain Tax ผ่านแล้ว ทำให้การลงทุนใน Tech Startup ของไทยเทียบเท่ากับสิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย จึงยิ่งสามารถดึงดูดการลงทุน และร่วมกันขับเคลื่อน Tech Startup ในประเทศไทยให้ก้าวสู่ระดับโลกได้”
เราเชื่อว่า ทุกความท้าทายทำให้เป็นจริงได้ เพียงแค่ร่วมกัน สร้างสรรค์ คุณค่า อย่างยั่งยืน
รวมกันแล้วดีที่แท้ทรู รวมกัน สร้างสรรค์ รวมกันเพื่อความสุข รวมกัน…เพื่อชีวิตที่ดีขึ้น
@mitihoonwealth