EPG เผยไตรมาสแรก ปีบัญชี 65/66 (เม.ย.-มิ.ย.65) มียอดขาย 2,843 ล้านบาท อัตรากำไรขั้นต้น 33% และ มีกำไรสุทธิ 231 ล้านบาท

56

มิติหุ้น  –  รศ.ดร.เฉลียว วิทูรปกรณ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ EPG ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์โพลีเมอร์และพลาสติกแปรรูปชั้นนำของโลก เปิดเผยว่า ในไตรมาสแรกของปีบัญชี 65/66 (เม.ย.65 – มิ.ย.65) บริษัทมีรายได้จากการขาย 2,843.4 ล้านบาท โดยปรับตัวลดลง จากช่วงเดียวกันของ ปีก่อนที่มีรายได้จากการขาย 2,934.1 ล้านบาท หรือลดลง 3.1% มีอัตรากำไรขั้นต้นที่ 32.9% อยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 29 – 32% แต่เนื่องจากบริษัทมีค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารเพิ่มขึ้น 18.9% ส่วนใหญ่มาจากค่าขนส่งสินค้า และ การปรับขึ้นค่าจ้างพนักงานตามตลาดแรงงานในสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย การจ้างพนักงานเพิ่มเติมเพื่อรองรับการขยายธุรกิจ อีกทั้ง ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมและการร่วมค้าลดลงจากกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส่งผลให้บริษัทมีกำไรสุทธิที่ 230.6 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 449.5 ล้านบาท หรือ ลดลง 48.7% โดยแบ่งการดำเนินงานตาม 3 กลุ่มธุรกิจหลัก ดังนี้

ธุรกิจฉนวนกันความร้อน/เย็น ภายใต้แบรนด์ Aeroflex มีรายได้จากการขาย 884 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 7.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับยอดขายในสหรัฐอเมริกายังคงเติบโตต่อเนื่องจากความต้องการสินค้าฉนวนยางที่มีคุณภาพสูง ซึ่งผ่านมาตรฐานการรับรองความปลอดภัย และจากการขยายตลาดไปสู่กลุ่มอุตสาหกรรม Ultra Low Temperature Insulation และ ระบบ Air Ducting system อีกทั้ง มีปัจจัยสนับสนุนจากภาคการผลิตและการลงทุนเอกชนที่ยังขยายตัว ส่วนยอดขายในเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น ปรับตัวดีขึ้น ขณะที่ยอดขายในประเทศทยอยฟื้นตัวตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด แม้ว่าการลงทุนภาคเอกชนยังไม่ฟื้นตัวอย่างชัดเจน

ธุรกิจชิ้นส่วนอุปกรณ์และตกแต่งยานยนต์ ภายใต้แบรนด์ Aeoroklas มีรายได้จากการขาย 1,304.2  ล้านบาท หรือ ลดลง 11% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ยอดขายของกลุ่มบริษัท แอร์โรคลาส ปรับตัวลดลงเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมยานยนต์ยังคงเผชิญกับปัญหาชิปขาดแคลน (Semiconductor Shortage) และต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานการผลิตยานยนต์ไปทั่วโลก สำหรับแอร์โรคลาส ได้รับผลกระทบจากความล่าช้าจากการส่งมอบรถยนต์ใหม่เนื่องจากชิปขาดแคลนเช่นกัน อีกทั้ง ประสบกับความล่าช้าจากกระบวนการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ รวมทั้ง ยอดขายในยุโรปชะลอตัว เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจในยุโรปชะลอตัวลง

          สำหรับธุรกิจในออสเตรเลียยอดขายชิ้นส่วนอุปกรณ์ตกแต่งยานยนต์ ปรับตัวลดลง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากเกิดอุทกภัยในช่วงต้นเดือนเมษายน 2565 ประกอบกับความล่าช้าจากการส่งมอบรถยนต์ใหม่เนื่องจากชิปขาดแคลน (Semiconductor Shortage)

ธุรกิจบรรจุภัณฑ์พลาสติก ภายใต้แบรนด์ EPP มีรายได้จากการขาย 655.2 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 1.2จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ยอดขายของบริษัท อีสเทิร์น โพลีแพค จำกัด ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีปัจจัยสนับสนุนจากการที่รัฐบาลเริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค Covid-19 ส่งผลให้ยอดขาย               บรรจุภัณฑ์พลาสติกปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรจุภัณฑ์พลาสติกประเภทถ้วยน้ำดื่ม เนื่องจากประชาชนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตนอกบ้านมากขึ้น รวมถึงการปรับราคาให้สอดคล้องกับต้นทุน สำหรับบรรจุภัณฑ์ประเภทกล่องใส่อาหาร ยังเป็นที่ต้องการของตลาดเป็นอย่างมากเนื่องจากสอดรับกับความต้องการของผู้บริโภคในยุควิถีใหม่ (New Normal) ที่นิยมสั่งอาหารแบบ จัดส่งถึงที่ (Delivery) หรือซื้ออาหารกลับไปรับประทานที่บ้านมากขึ้น

          บริษัทมีต้นทุนขายสินค้า ลดลง 3.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นอัตราที่ใกล้เคียงกับอัตราการลดลงของรายได้ แม้จะได้รับผลกระทบจากราคาวัตถุดิบกลุ่มปิโตรเคมีบางประเภทปรับตัวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามบริษัทสามารถบริหารจัดการเพื่อให้ต้นทุนเฉลี่ยของราคาวัตถุดิบมีราคาเหมาะสม สำหรับค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารเพิ่มขึ้น 18.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มาจากค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มธุรกิจฉนวนกันความร้อน/เย็น การปรับอัตราการจ้างพนักงานตามตลาดแรงงานในสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย การจ้างพนักงานเพิ่มเติมเพื่อขยายร้านค้าสาขา TJM และจ้างพนักงานซึ่งมีความเชี่ยวชาญพิเศษเพื่อรองรับการขยายธุรกิจในออสเตรเลีย เป็นต้น

          อีกทั้ง บริษัทได้ตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) เพิ่มขึ้น 28.8 ล้านบาท จากธุรกิจชิ้นส่วนอุปกรณ์ตกแต่งยานยนต์ เนื่องจากการชะลอโครงการของบริษัทร่วมทุน

           นอกจากนี้ บริษัทได้รับส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมและการร่วมค้าที่ 23.2 ล้านบาท จากการหดตัวตามกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ได้รับผลกระทบจากเนื่องจากชิปขาดแคลน (Semiconductor Shortageและมาตรการ Zero Covid ในประเทศจีน

          แม้ว่ากำไรสุทธิในไตรมาสแรกนี้ยังไม่สดใสเท่ากับช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 65 เป็นต้นไป ยอดขายกลุ่มชิ้นส่วนอุปกรณ์ตกแต่งยานยนต์เริ่มปรับตัวดีขึ้น อัตราการใช้กำลังการผลิต(Utilization Rate) เร่งตัวขึ้น บริษัทสามารถส่งสินค้าให้กับค่ายยานยนต์ที่เริ่มมีการผลิตต่อเนื่อง และจากยานยนต์รุ่นใหม่ที่จะทยอยออกสู่ตลาด คาดว่าการเติบโตเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว นอกจากนี้ บริษัทจะรับรู้รายได้จากการซื้อกิจการ 4 Way Suspension Products Pty. Ltd ออสเตรเลีย ตั้งแต่ไตรมาสที่ ปีบัญชี 65/66 (ก.ค.-ก.ย.65) สำหรับธุรกิจฉนวนกันความร้อน/เย็น ภายใต้แบรนด์ Aeroflex และธุรกิจบรรจุภัณฑ์พลาสติก ภายใต้แบรนด์ EPP สามารถเติบโตได้ต่อเนื่อง คาดว่าในปีบัญชี 65/66 (เม.ย.65 – มี.ค.66) ยอดขายของบริษัทจะสามารถเติบโตได้ตามเป้าหมาย 12 – 15% และอัตรากำไรขั้นต้นที่ 29 – 32% รศ.ดร.เฉลียว กล่าว

@mitihoonwealth

https://lin.ee/cXAf0Dp