มิติหุ้น – นายสุขสันต์ ยศะสินธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ชโย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CHAYO ผู้ดำเนินธุรกิจบริหารสินทรัพย์ทั้งที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน ธุรกิจเจรจาติดตามเร่งรัดหนี้สิน ธุรกิจปล่อยสินเชื่อ และกิจการศูนย์บริการข้อมูลลูกค้า เปิดเผยว่า ผลประกอบการไตรมาส 2/2565 บริษัทมีรายได้รวมอยู่ที่ 225.10 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 68.80 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 44.01% มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 61.30 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน 26.14 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 74.35% โดยมีกำไรขั้นต้น 170.47 ล้านบาท หรือคิดเป็น 75.70% ของรายได้รวม การเติบโตของกำไรที่โดดเด่น มาจากรายได้ที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะรายได้ดอกเบี้ยจากเงินให้สินเชื่อแก่สินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ขณะที่มีผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นที่ลดลง
สนับสนุนให้ผลประกอบการในงวด 6 เดือนแรกของปี 2565 มีรายได้รวมอยู่ที่ 446.86 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 114.11 ล้านบาท หรือ 34.29% จากงวดเดียวกันของปีก่อนที่รายได้รวมอยู่ที่ 332.75 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 137.51 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 37.44 ล้านบาท หรือ 37.42% จากงวดเดียวกันของปีก่อน สาเหตุการเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เกิดจากรายได้และกำไรจากการจำหน่ายสินทรัพย์รอการขายที่เพิ่มขึ้น
โดยงวด 6 เดือนของปีนี้ บริษัทมีกำไรขั้นต้นจำนวน 339.99 ล้านบาท หรือคิดเป็น 76.10% ของรายได้ โดยกำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน 78.09 ล้านบาท โดยสาเหตุของการเพิ่มขึ้นของกำไรขั้นต้นส่วนใหญ่เกิดจากการที่บริษัทมีรายได้จากเงินให้สินเชื่อแก่สินทรัพย์ด้อยคุณภาพและรายได้จากดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพิ่มขึ้น
นายสุขสันต์ กล่าวถึงแนวโน้มผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งหลังปี 2565 เชื่อว่าทิศทางธุรกิจจะมีการเติบโตที่ดีมองว่าผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีหลัง จะเติบโตได้ดีกว่าครึ่งปีแรก โดยในช่วงไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ทางสถาบันการเงินจะเร่งทยอยขาย NPL ออกมาอย่างต่อเนื่องซึ่งจะมากกว่าครึ่งปีแรก ดังนั้นก็เป็นโอกาสของ CHAYO ที่จะได้หนี้ใหม่เข้ามาเติมพอร์ตในช่วงที่เหลือของปีนี้
โดยปัจจุบัน CHAYO มีเงินลงทุนอีกกว่า 2,500 ล้านบาท รองรับการซื้อหนี้เข้ามาเติมพอร์ต ซึ่งคาดว่าในช่วงที่เหลือของปี 2565 จะมีการประมูลหนี้ใหม่อีกกว่า 50,000-70,000 ล้านบาท จากในช่วงครึ่งปีแรกมีทยอยออกมาแล้วเกือบ 100,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจากับทางสถาบันการเงิน 1-2 ราย เบื้องต้นคาดว่าจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนในช่วงไตรมาส 3 ไม่น้อยกว่า 1 ดีล อย่างไรก็ดี ปัจจุบันบริษัทมีพอร์ตมูลหนี้คงค้างอยู่ที่ประมาณ 75,293 ล้านบาท โดยยังคงเป้าสิ้นปีแตะ 90,000 ล้านบาท
ด้านความคืบหน้าการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับสถาบันการเงิน (JV) เพื่อบริหารจัดการ NPL นั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาและเจรจากับทางสถาบันการเงิน 2-3 ราย คาดว่าจะเห็นความชัดเจนในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งหากว่าเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ ปริมาณของพอร์ตมูลหนี้ ณ สิ้นปี 2565 อาจสูงกว่าเป้าหมายที่วางไว้
ในส่วนของธุรกิจปล่อยสินเชื่อนั้น นับตั้งแต่ต้นปี-เดือนมิถุนายน มียอดการปล่อยสินเชื่อใหม่กว่า 417 ล้านบาท และคาดภายในช่วงครึ่งหลังปี 2565 จะสามารถปล่อยสินเชื่อใหม่เพิ่มอีก 600-1,000 ล้านบาท ซึ่งฐานลูกค้าหลักจะเป็นสินเชื่อแบบมีหลักประกัน คิดเป็น 80% ของพอร์ต ที่เหลือจะเป็นกลุ่มลูกค้าสวัสดิการพนักงานและนักศึกษาตามมหาวิทยาลัย
ขณะที่ธุรกิจติดตามและเร่งรัดหนี้ ปัจจุบันเริ่มกลับมามีการเติบโตที่ดี และสามารถเซ็นสัญญาร่วมกับลูกค้าเพิ่มต่อเนื่อง และคาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังจะเห็นการฟื้นตัวอย่างชัดเจน จึงมั่นใจว่าช่วงครึ่งปีหลังของปี 2565 รายได้จะเติบโตมากว่าครึ่งปีแรกอย่างแน่นอน และจากปัจจัยข้างต้นทำให้บริษัทมองว่าผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งหลังปีนี้จะเติบโตได้ดีกว่าครึ่งปีแรก และมั่นใจว่าผลการดำเนินงานภาพรวมในปี 2565 จะทำได้ดีกว่าเป้าที่วางไว้ไม่น้อยกว่า 25% อย่างแน่นอน
@mitihoonwealth