มิติหุ้น – “ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้” กางผลประกอบการ Q3/2565 คว้ากำไรสุทธิกว่า 848 ล้านบาท เติบโต 20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า หลังเมกะโปรเจกต์คอนโด 12,000 ล้าน “พาร์ค ออริจิ้น ทองหล่อ” ทยอยรับรู้รายได้เต็มไตรมาสและธุรกิจโรงแรมฟื้นตัวจากการกลับมาเปิดประเทศ ด้านไตรมาส 4/2565 พาร์ค ออริจิ้น ราชเทวี และพาร์ค ออริจิ้น จุฬา-สามย่าน มูลค่าอีก 7,600 ล้าน ทยอยรับรู้รายได้เพิ่มเติม แบ็คล็อกแน่นทะลุ 41,000 ล้าน รับรู้ต่อเนื่องถึงปี 2568 คาดภาครัฐไม่ต่อนโยบายผ่อนคลาย LTV หนุนผู้ซื้อเร่งซื้อและโอนกรรมสิทธิ์โครงการก่อน 31 ธ.ค.นี้ คาดส่งบริษัทลูก “PRI” เข้าจดทะเบียนภายในปีนี้ได้ตามแผนงาน
นายพีระพงศ์ จรูญเอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ORI ผู้พัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์แบบครบวงจร เปิดเผยว่า จากการดำเนินงานในไตรมาส 3/2565 (ก.ค.-ก.ย.2565) บริษัทมียอดโอนกรรมสิทธิ์โครงการที่อยู่อาศัยทุกกลุ่ม (JV included) อยู่ที่ 4,434 ล้านบาท แบ่งเป็นยอดโอนกรรมสิทธิ์จากโครงการที่อยู่อาศัยร่วมทุน (JV Project) 1,553 ล้านบาท ยอดโอนกรรมสิทธิ์จากโครงการที่อยู่อาศัยทั่วไป (Non-JV Project) 2,881 ล้านบาท ขณะเดียวกัน มีรายได้จากธุรกิจโรงแรมและอื่นๆ อีกรวม 323 ล้านบาท ส่งผลให้ไตรมาสดังกล่าว บริษัทมีรายได้อยู่ที่ 3,833 ล้านบาท มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 848 ล้านบาท เติบโตขึ้น 20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin) ที่ 22%
“การกลับมาเปิดประเทศหรือรีโอเพนนิ่ง ส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจกลับมาคึกคัก ผู้ซื้อมีความมั่นใจในการโอนกรรมสิทธิ์โครงการที่อยู่อาศัยมากขึ้น ขณะเดียวกัน การท่องเที่ยวและการเดินทางไปมาระหว่างประเทศที่เริ่มฟื้นตัว ส่งผลให้อัตราการเข้าพัก หรือ Occupancy Rate ของโรงแรมในเครือสูงขึ้นกว่าช่วงก่อนหน้าอย่างมาก” นายพีระพงศ์ กล่าว
ทั้งนี้ โครงการที่อยู่อาศัยที่มีส่วนสำคัญต่อยอดโอนกรรมสิทธิ์ในไตรมาส 2/2565 ได้แก่ พาร์ค ออริจิ้น ทองหล่อ (Park Origin Thonglor) เมกะโปรเจกต์คอนโดมิเนียม มูลค่าโครงการรวมกว่า 12,000 ล้านบาท ที่ทยอยรับรู้รายได้แบบเต็มไตรมาสเป็นครั้งแรก ขณะที่ Occupancy Rate ของโรงแรมสเตย์บริดจ์ สวีท แบงค็อก ทองหล่อ (Staybridge Suites Bangkok Thonglor) ภายใต้บริษัท วัน ออริจิ้น จำกัด ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 92% โรงแรมไอบิส (ibis) 3 แห่ง ที่เพิ่งซื้อกิจการเข้ามาในช่วงกลางไตรมาส 2/2565 ก็มี Occupancy Rate ขึ้นมาสูงสุดที่ 64%
นายพีระพงศ์ กล่าวอีกว่า ในช่วงไตรมาส 4/2565 นั้น นอกจากโครงการพาร์ค ออริจิ้น ทองหล่อ จะทยอยโอนเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่องแล้ว จะมีอีก 2 โครงการขนาดใหญ่ ได้แก่ พาร์ค ออริจิ้น ราชเทวี (Park Origin Ratchatewi) และพาร์ค ออริจิ้น จุฬา-สามย่าน (Park Origin Chula-Samyan) มูลค่าโครงการรวม 7,600 ล้านบาท เริ่มทยอยโอนกรรมสิทธิ์ในไตรมาส 4 เป็นครั้งแรก ส่งผลให้ในไตรมาสดังกล่าวจะมียอดโอนกรรมสิทธิ์เข้ามาอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน บริษัทมียอดขายรอรับรู้รายได้ (แบ็คล็อก) ณ สิ้นไตรมาส 3/2565 อยู่ที่ 41,200 ล้านบาท พร้อมทยอยรับรู้อย่างต่อเนื่องจนถึงปี 2568 สะท้อนถึงความมั่นใจของผู้บริโภคในตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่มีต่อเครือออริจิ้น
พร็อพเพอร์ตี้
ทั้งนี้ จากสถานการณ์กำลังซื้อที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องหลังรีโอเพนนิ่ง และการไม่ต่ออายุมาตรการผ่อนคลายอัตราส่วนสินเชื่อต่อราคาที่อยู่อาศัย (Loan to Value : LTV) ที่จะหมดอายุในวันที่ 31 ธ.ค.นี้ จะส่งผลให้ผู้บริโภคในบางเซ็กเตอร์เร่งซื้อและโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยภายในปีนี้ คาดว่าจะมีส่วนสำคัญให้ภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ช่วงปลายปีคึกคัก
ขณะเดียวกัน อีกหนึ่งการดำเนินงานที่สำคัญในช่วงไตรมาส 4/2565 ของบริษัท คือการนำบริษัท พรีโม เซอร์วิส โซลูชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ PRI เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และเสนอขายแก่ผู้ถือหุ้น โดยเมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2565 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้อนุมัติแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์แล้ว ทั้งนี้บริษัทคาดว่าจะสามารถเข้าจดทะเบียนได้ภายในปีนี้ตามแผนงาน
สำหรับบริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ORI มีโครงสร้างธุรกิจหลากหลาย ประกอบด้วย
1.ธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อการขาย (Residential Development Business) พัฒนาคอนโดมิเนียมและบ้านจัดสรรมาแล้ว 112 โครงการ (ณ สิ้นไตรมาส 3/2565) เช่น แบรนด์ พาร์ค ออริจิ้น (Park Origin), โซ ออริจิ้น (So Origin), ออริจิ้น ปลั๊ก แอนด์ เพลย์ (Origin Plug & Play), ไนท์บริดจ์ (Knightsbridge), นอตติ้ง ฮิลล์ (Notting Hill), ออริจิ้น เพลส (Origin Place), ดิ ออริจิ้น (The Origin), เคนซิงตัน (Kensington), แฮมป์ตัน (Hampton),ออริจิ้น เพลย์ (Origin Play), บริกซ์ตัน (Brixton) และ บริทาเนีย (Britania) รวมมูลค่าโครงการกว่า 172,000 ล้านบาท 2.ธุรกิจที่สร้างรายได้ประจำ (Recurring Income Business) เช่น โรงแรม เซอร์วิส อพาร์ตเมนท์ ค้าปลีก 3.ธุรกิจบริการ (Service Business) เช่น ธุรกิจการจัดการอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจตัวแทนซื้อ ขาย เช่า อสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ และ 4.ธุรกิจเมกะเทรนด์ระยะยาว (Mega Trends) กลุ่มธุรกิจใหม่ที่มีแนวโน้มเติบโตในระยะยาว เช่น ธุรกิจโลจิสติกส์ ธุรกิจเฮลท์แคร์ ธุรกิจบริหารสินทรัพย์ ธุรกิจพลังงาน ฯลฯ เพื่อยกระดับคุณภาพการใช้ชีวิตของผู้บริโภคแบบครบวงจร
@mitihoonwealth
https://lin.ee/cXAf0Dp