มิติหุ้น – ปฏิกิริยาของตลาดอัตราแลกเปลี่ยนหลังข้อมูลเงินเฟ้อเดือนตุลาคมของสหรัฐฯถือว่ามีนัยสำคัญ ทั้งในแง่ระดับของแรงเทขายเงินดอลลาร์และความคาดหวังของนักลงทุน โดยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เมื่อเทียบรายปีเพิ่มขึ้น 7.7% ในเดือนตุลาคม ขณะที่ดัชนี CPI พื้นฐานที่ไม่รวมราคาอาหารและพลังงานสูงขึ้น 6.3% หลังจากเพิ่มขึ้น 6.6% ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดรอบ 40 ปีในเดือนก่อนหน้า ตัวเลขที่ต่ำกว่าคาดส่งผลให้นักลงทุนทบทวนคาดการณ์ดอกเบี้ยปลายทางของธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) สะท้อนจากตลาดสัญญาล่วงหน้าดอกเบี้ย Fed funds ซึ่งบ่งชี้ว่าเฟดอาจจะจบวัฎจักรการขึ้นดอกเบี้ยนี้ที่ระดับต่ำกว่า 5% ในปี 2566 และนักลงทุนคาดว่ามีโอกาสราว 80% ที่เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ย 50bp สู่ 4.25-4.50% ในการประชุมครั้งถัดไปวันที่ 13-14 ธันวาคม หลังจากขึ้นดอกเบี้ยในขนาด 75bp ติดต่อกันถึงสี่รอบการประชุม โดยตลาดจะติดตาม Dot Plot หรือประมาณการดอกเบี้ยของเจ้าหน้าที่เฟดในเดือนธันวาคมนี้เพื่อประเมินทิศทางการดำเนินนโยบายในระยะถัดไป
การปรับมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยสหรัฐฯทำให้ตลาดลดสถานะการถือครองเงินดอลลาร์ที่ตึงตัวมากในช่วงก่อนหน้านี้ โดยสกุลเงินที่มีอัตราผลตอบแทนต่ำและธนาคารกลางดำเนินนโยบายสวนทางกับการคุมเข้มของเฟดอย่างเงินเยนญี่ปุ่นพุ่งขึ้นกว่า 5% ในเวลา 2 วันทำการ ท่ามกลางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯที่ดิ่งลงครั้งใหญ่ในรอบกว่า 13 ปี โดยการแข็งค่าของเงินเยนถือเป็นอัตรารายสัปดาห์ที่มากที่สุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2551 หลังจากเกิดวิกฤติการเงินโลกซึ่งบังคับให้เฟดต้องใช้มาตรการ QE ในเวลาถัดมา ขณะที่ก่อนการประกาศตัวเลขเงินเฟ้อล่าสุดของสหรัฐฯค่าเงินเยนและเงินบาทร่วงลงมาอย่างรุนแรงและต่อเนื่องในปีนี้ (กราฟด้านล่าง) เมื่อมองไปข้างหน้า ขาขึ้นของดอกเบี้ยโลกที่ชะลอลง สนับสนุนมุมมองของเราที่ว่าเงินเยนและเงินบาทผ่านจุดอ่อนค่าสุดไปแล้ว อย่างไรก็ดี ความผันผวนเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงยาก นอกจากนี้ แม้ค่าเงินบาทจะได้อานิสงส์ผ่านการท่องเที่ยวจากความหวังที่ว่าจีนอาจทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค แต่อาจจ้องระวังความเสี่ยงด้านขาขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์เช่นกัน รวมถึงความตึงเครียดทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ซึ่งมีความไม่แน่นอนสูง
กลับไปที่ตระกร้าเงินเฟ้อสหรัฐฯซึ่งน้ำหนักเกือบ 1 ใน 3 มาจากหมวดที่พักอาศัย ขณะที่ข้อมูล CPI เป็นการมองย้อนกลับ และใช้ค่าเช่าที่คิดจากวันเซ็นสัญญาซึ่งส่วนใหญ่จะมีระยะเวลา 6-12 เดือน ต่างจากข้อมูลที่สะท้อนสถานการณ์ปัจจุบันมากกว่า เช่น ตัวเลขจาก Zillow ซึ่งบ่งชี้ว่าค่าเช่าลดลงมาระยะหนึ่งแล้ว อนึ่ง เฟดจะยังคงตอกย้ำท่าทีแข็งกร้าวต่อการควบคุมเงินเฟ้อต่อไป ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้เพราะเงินเฟ้อที่ระดับสูงกว่า 7% ไม่ใช่เรื่องน่ายินดี โดยเฟดส่งสัญญาณว่ายอมผิดพลาดในด้านที่ขึ้นดอกเบี้ยสูงเกินไปมากกว่าขึ้นดอกเบี้ยน้อยเกินไป อย่างไรก็ตาม ตลาดอาจฟังเฟดน้อยลงหากตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆยืนยันถึงแรงกดดันเงินเฟ้อสหรัฐฯที่มีแนวโน้มคลายตัวลง ขณะที่เฟดกำลังปรับโหมดจากความเร็ว (Speed) เป็นระดับ (Level) สู่ปลายทาง (Destination) ในที่สุด
โดย คุณรุ่ง สงวนเรือง
ผู้อำนวยการอาวุโส ผู้บริหารฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
@mitihoonwealth
https://lin.ee/cXAf0Dp