ttb analytics คาดปี 2566 ปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์กระทบไทยน้อยลง ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ต้องพึ่งพาเป็นหลัก อนาคตยังคงมีความท้าท้ายจากดีมานด์ตลาดโลกชะลอตัวและการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทานเทคโนโลยีโลก

564

มิติหุ้น – ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics คาดปี 2566 สถานการณ์การขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลกมีแนวโน้มคลี่คลายลง สอดคล้องกับเศษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและความต้องการในกลุ่มอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นตลาดผู้บริโภคหลักมีแนวโน้มลดลง โดยปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ที่ลดลงเป็นปัจจัยบวกต่ออุตสาหกรรมของไทยที่ต้องพึ่งพาเป็นชิ้นส่วนหลัก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ให้สามารถดำเนินการผลิตได้ต่อเนื่อง

จากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้ยอดขายเซมิคอนดักเตอร์ในตลาดโลกสูงสุดเป็นประวัติการณ์  เซมิคอนดักเตอร์เป็นสารกึ่งตัวนำที่ใช้ทำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ตั้งแต่ชิ้นส่วนประกอบขนาดเล็ก ๆ เช่น ชิป หรือแผงวงจร  ซึ่งครอบคลุมสินค้าหลากหลาย อาทิ กลุ่มคอมพิวเตอร์ การสื่อสารคมนาคม เครื่องมือในภาคอุตสาหกรรม ในปี 2564 ยอดขายเซมิคอนดักเตอร์ มีมูลค่าสูงถึง 5.8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโตกว่า 25% จากปี 2563 หลังจากที่กลุ่มผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์เร่งการผลิต เพื่อตอบสนองต่อการขาดแคลนชิปทั่วโลกในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผู้บริโภคมีความต้องการใช้สินค้าอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มมากขึ้น อีกทั้ง มีความต้องการเซมิคอนดักเตอร์ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ จากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างรวดเร็วหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19  อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะเร่งการผลิต แต่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

ทิศทางตลาดเซมิคอนดักเตอร์โลกชะลอตัวไตรมาส 3 ปี 2565  สะท้อนจากยอดขายเซมิคอนดักเตอร์โลกลดลงเป็นไตรมาสแรกในรอบ 3 ปีที่ผ่านมาที่ 3% เมื่อเทียบกับปี 2564  อย่างไรก็ตาม กลุ่มชิ้นส่วนในคอมพิวเตอร์มีการใช้เซมิคอนดักเตอร์ในกระบวนการผลิตถึง 1 ใน 3 ของทั้งหมด พบว่า ความต้องการในปีนี้ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยไตรมาส 3 ยอดขายลดลงถึง 19.5% เมื่อเทียบกับปี 2564 นอกจากนี้ ระยะเวลาในการรอสินค้า (Lead Time) ในการส่งมอบเซมิคอนดักเตอร์เดือนกันยายน ลดลงเหลือ 26.3 สัปดาห์ จากระยะเวลาสูงสุดที่ 27.1 สัปดาห์ ในเดือนพฤษภาคม สะท้อนถึงการขาดแคลนชิปที่ลดลง แต่ยังไม่กลับเข้าสู่สถานการณ์ปกติ

ttb analytics คาดการณ์ยอดขายเซมิคอนดักเตอร์ของโลกในปี 2565 และปี 2566 มีแนวโน้มการเติบโตลดลงเหลือ 7% และ 3.5% และเมื่อพิจารณาในรายละเอียดประเภทสินค้า จากการคาดการณ์ของบริษัทวิจัย TrendForce พบว่าปี 2565 การขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า มีแนวโน้มลดลง และในปี 2566 ปัญหาการขาดแคลนในอุตสาหกรรมรถยนต์จะน้อยลง ในขณะที่บางอุตสาหกรรม เช่น อุปกรณ์สื่อสาร เครื่องจักรหุ่นยนต์/ปัญญาประดิษฐ์ เครื่องเกมยุคใหม่ ยังคงขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์บางประเภทอยู่ต่อไป ซึ่งสาเหตุมาจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีผลักดันให้เกิดดีมานด์สูงกว่าอุปทานที่มี รวมถึงผลกระทบจากมาตรการของสหรัฐฯ กีดกันการส่งออกชิปเทคโนโลยีระดับสูงและอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิตชิปไปยังประเทศจีน เกิดเป็นข้อจำกัดทั้งการผลิตและตลาดมากขึ้นในระยะต่อไป

อุตสาหกรรมปลายน้ำของไทยที่พึ่งพาเซมิคอนดักเตอร์ ได้แก่ ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า จึงมีทิศทางดีขึ้นจากการมีชิ้นส่วนเพียงพอรองรับการผลิตได้มากขึ้นกว่าในช่วงที่ผ่านมา สถานการณ์ขาดแคลนชิปที่มีแนวโน้มลดลงส่งผลดีต่อผู้ผลิตสินค้าในประเทศ สะท้อนจากตัวเลขมูลค่านำเข้าของไทยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 เติบโตถึง 42% เมื่อเทียบกับปี 2564 ซึ่งสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งมาจากไต้หวันและจีน ประเภทเซมิคอนดักเตอร์ที่ไทยนำเข้ามีทั้งแผงวงจรและอุปกรณ์กึ่งตัวนำอื่นๆ  และระยะต่อไปอุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยยังจำเป็นต้องใช้ชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ระบบเซนเซอร์ต่างๆ เพื่อรองรับรถยนต์พลังงานไฟฟ้ามากขึ้น

อย่างไรก็ตามในอนาคต ผู้ประกอบการไทยมีความท้าท้ายในด้านเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มเติบโตช้าลง รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทานเทคโนโลยีโลก ตลาดเซมิคอนดักเตอร์ที่เกี่ยวข้องกับสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีสูงจึงมีแนวโน้มตึงตัวต่อไป จากผลกระทบของมาตรการของสหรัฐฯ ในการกีดกันการส่งออกชิปที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงไปยังจีน โดยสินค้าปลายน้ำที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงจากประเทศจีนอาจไม่รองรับความต้องการของผู้ประกอบการไทยที่มีแนวโน้มสูงขึ้น แนะภาคการผลิตมีความจำเป็นต้องบริหารจัดการ ห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) อย่างใกล้ชิดและให้ครอบคลุมความเสี่ยงทั้งด้านการผลิต การตลาดและเทคโนโลยีมากขึ้น

 

 

@mitihoonwealth
https://lin.ee/cXAf0Dp