มิติหุ้น–กลุ่มบริษัทบางจาก เผยแผนยุทธศาสตร์องค์กร สะท้อนการเติบโตอย่างยั่งยืนภายหลังวิกฤติโควิด-19
ด้วยผลการดำเนินธุรกิจที่แข็งแกร่ง
โดย 9 เดือนแรกของปี พ.ศ. 2565 (ค.ศ. 2022) มี EBITDA สูงถึง37,773 ล้านบาท พร้อมปรับวิสัยทัศน์ “รังสรรค์โลกยั่งยืนด้วยนวัตกรรมสีเขียว” และอัตลักษณ์องค์กรใหม่ ร่วมขับเคลื่อนสังคมคาร์บอนต่ำ มุ่งสร้างสมดุลระหว่างความมั่นคงทางพลังงานควบคู่กับการสร้างความยั่งยืนของโลก
“นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช” ประธานเจ้าหน้าบริหารกลุ่มบริษัทบางจาก และ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทบางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP กล่าวว่า จากวิกฤติโควิด-19 ที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อต้นปี พ.ศ. 2563
(ค.ศ. 2020) กลุ่มบริษัทบางจากได้ปรับองค์กรเพื่อความยั่งยืนผ่านแนวคิด 3Rs – Refocus: เร่งสร้างความมั่นคงด้านพลังงานควบคู่กันกับการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด Restructure: การปรับองค์กรเพื่อสร้างช่องทางในการเข้าถึงตลาดและลูกค้า และ Reimagine: การใช้โอกาสและเครื่องมือในการลงทุนที่เหมาะสมเพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัท ส่งผลให้บริษัทมีผลการดำเนินงานที่ดีมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีพ.ศ. 2564 (ค.ศ. 2021)
โดยล่าสุด ผลการดำเนินงานในช่วง 9 เดือนแรกของปี พ.ศ. 2565 (ค.ศ. 2022) มี EBITDA สูงถึง 37,773 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ด้วยรากฐานที่มั่นคง มีความยืดหยุ่นสูงจากศักยภาพในการปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจให้สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนไปและการเติบโตจากการขยายธุรกิจในด้านต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง
“วันนี้ กลุ่มบริษัทบางจากกำลังมุ่งสู่ช่วงเวลาสำคัญครั้งใหม่ที่ท้าทาย ภายใต้เป้าหมายการปล่อย
ก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emission) ในปี พ.ศ. 2593 (ค.ศ. 2050) โดยมีเป้าหมายแรกคือความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี พ.ศ. 2573 (ค.ศ. 2030) บริษัทฯ จึงได้มีการปรับวิสัยทัศน์และพันธกิจองค์กร สู่วิสัยทัศน์ใหม่ ‘รังสรรค์โลกยั่งยืนด้วยนวัตกรรมสีเขียว’ และกำหนดยุทธศาสตร์การเติบโตจนถึงปี พ.ศ. 2573 (ค.ศ. 2030) สำหรับทั้ง 5 กลุ่มธุรกิจที่สอดรับกับแนวทางของแผนงาน BCP 316 NET เพื่อรองรับเป้าหมายสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต” นายชัยวัฒน์กล่าว
“กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน” มุ่งต่อยอดการเติบโตจากศักยภาพใหม่ ๆ โดยนอกจากด้านการกลั่นและการเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตแล้ว บริษัทฯ ได้มุ่งเน้นในส่วนของการผลิตผลิตภัณฑ์นอกเหนือจากน้ำมันยานยนต์และเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพตามความต้องการของตลาดหรือลูกค้าเฉพาะกลุ่ม (Niche Products Refinery) เช่น Unconverted Oil และเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel หรือ SAF) ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วน EBITDA ของกลุ่มธุรกิจเชื้อเพลิงนอกยานยนต์เป็นกว่า 60% ภายใน พ.ศ. 2573 (ค.ศ. 2030)
“กลุ่มธุรกิจการตลาด” เร่งตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้ครบครัน เพื่อให้เป็นมากกว่าสถานที่เติมน้ำมัน โดยมุ่งมั่นเป็นอีกหนึ่งจุดหมายปลายทางที่ตอบโจทย์คนทุกวัยภายใต้แนวคิด “YOUR” Greenovative Destination for Intergeneration ผ่านการเติบโตจากธุรกิจ Non-Oil อย่าง อาหารและเครื่องดื่ม และ EV Charger สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ตลอดจนความร่วมมือกับคู่ค้าและรายได้จากแฟรนไชส์เพื่อขยายเครือข่ายสถานีบริการ
บางจากด้วยเป้าหมาย 1,900 แห่ง และร้านกาแฟอินทนิล 3,000 แห่งทั่วประเทศในปี พ.ศ. 2573 (ค.ศ. 2030)
“กลุ่มธุรกิจพลังงานไฟฟ้า” ภายใต้การดำเนินงานโดยบริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) วางเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าเป็น 6,800 GWh โดยมีสัดส่วนหลักจากการเติบโตในกลุ่มธุรกิจพลังงานสีเขียว ทั้งจากโครงการในประเทศอันเนื่องมาจากแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยฉบับใหม่ (PDP 2022 ระหว่างปี พ.ศ. 2565-2580 หรือ ค.ศ. 2022-2037) และการเติบโตในต่างประเทศตามการเปลี่ยนผ่านพลังงานของโลกสู่พลังงานสะอาด เสริมด้วยธุรกิจที่มีศักยภาพในอนาคต เช่นธุรกิจแบตเตอรี่และการกักเก็บพลังงาน การให้บริการด้านเทคโนโลยีพลังงาน พลังงานรูปแบบใหม่และธุรกิจคาร์บอนต่ำอื่น ๆ
“กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ” ภายใต้การดำเนินงานโดยบริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) ได้กำหนดแนวทางและเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนธุรกิจหลักกว่า 70% ของ EBITDA ให้มาจากผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูงโดยเน้นการ
รุกขยายธุรกิจผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ซึ่งพัฒนาขึ้นโดยใช้เทคโนโลยีชีววิทยาสังเคราะห์ (Synthetic Biology หรือ SynBio) เพื่อนำมาออกแบบและสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติตรงตามที่ต้องการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดูแลสุขภาพและความงามของผู้บริโภคสอดรับกับเทรนด์ของโลก เช่น good health and well–being นอกจากนี้ บริษัทฯ มีแผนต่อยอดการเติบโตในกลุ่มธุรกิจเชื้อเพลิงชีวภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเชื้อเพลิงอากาศชีวภาพแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel -SAF) สำหรับอุตสาหกรรมการบิน
“กลุ่มธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติและธุรกิจใหม่” มุ่งเน้นการเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานผ่านการขยายธุรกิจในกลุ่มธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติ โดยในส่วนของธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมนั้น มีเป้าหมายการผลิตมากกว่า 100,000 boepd (บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน) ภายในปี พ.ศ. 2573 (ค.ศ. 2030) จากการดำเนินการแหล่งปิโตรเลียมในประเทศของนอร์เวย์ผ่านบริษัทฯ OKEA ASA ที่กลุ่มบริษัทบางจากเป็นผู้ถือหุ้นหลักในปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังมีการพิจารณาการเติบโตในธุรกิจด้านทรัพยากรธรรมชาติในแหล่งอื่น ๆ ที่มีศักยภาพในอนาคต
อีกด้วย สำหรับกลุ่มธุรกิจใหม่อื่น ๆ นั้น บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายการเพิ่มสัดส่วน EBITDA กว่า 7,000 ล้านบาทภายในปี พ.ศ. 2573 (ค.ศ. 2030) จากธุรกิจที่กำลังพัฒนา อาทิ Winnonie ผู้นำแพลตฟอร์มให้บริการรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าพร้อมเครือข่ายสับเปลี่ยนแบตเตอรี่อัตโนมัติ ธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) และธุรกิจ New S-Curve ใหม่ ๆ
เป็นต้น
นายชัยวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ด้วยการวางแผนเติบโตอย่างครอบคลุมในทุกธุรกิจตามแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าว จะทำให้ EBITDA ในปี พ.ศ. 2573 (ค.ศ. 2030) เติบโตถึง 10 เท่า จากระดับเฉลี่ยประมาณ10,000 ล้านบาท ในช่วงปี พ.ศ. 2558-2563 (ค.ศ. 2015-2020) ในขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญกับการสร้างสมดุลระหว่างความมั่นคงทางพลังงานและความยั่งยืนของโลก ตอกย้ำแนวทางการพัฒนานวัตกรรมธุรกิจอย่างยั่งยืนไปกับสิ่งแวดล้อมและสังคมที่บางจากฯ ให้ความสำคัญมาตลอดเกือบ 40 ปีของการดำเนินธุรกิจ
“นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 (ค.ศ. 2015) เป็นต้นมา กลุ่มบริษัทบางจากในฐานะผู้นำการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ได้ขยายสู่ธุรกิจใหม่ ๆ อย่างกลุ่มธุรกิจพลังงานไฟฟ้า กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ กลุ่มธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติ สถาบันนวัตกรรมและบ่มเพาะธุรกิจ (BiiC) นอกเหนือไปจากธุรกิจที่เป็นรากฐานสำคัญอย่างกลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมันและกลุ่มธุรกิจการตลาด และมีความเป็นบริษัทสากลจากการดำเนินธุรกิจในกว่า 10 ประเทศทั่วโลก เปรียบเสมือนการเดินทางสู่บทใหม่ ๆ ที่มีโอกาสแห่งการเติบโตมากมายรออยู่ นำมาสู่การปรับอัตลักษณ์องค์กรและการเริ่มใช้ตราสัญลักษณ์องค์กร ‘ใบไม้ใบใหม่’ สื่อความหมายแทนด้วยนวัตกรรมพลังงานที่ขับเคลื่อนไปสู่อนาคตอย่างไม่สิ้นสุด เพื่อให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ ‘รังสรรค์โลกยั่งยืนด้วยนวัตกรรมสีเขียว’ พันธกิจ ‘เรามุ่งมั่นขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานอย่างยั่งยืน
โดยคงไว้ซึ่งสมดุลแห่งความมั่นคงทางพลังงาน เสริมสร้างคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดี ด้วยนวัตกรรมโซลูชั่นสีเขียว ดำเนินธุรกิจด้วยความคำนึงถึงเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และการกำกับดูแลกิจการ (ESG) อย่างมีความรับผิดชอบต่อทุกภาคส่วน’ และกลยุทธ์องค์กรในการเติบโตและการขยายธุรกิจของกลุ่มบริษัทบางจาก” นายชัยวัฒน์กล่าว
ทั้งนี้ ตราสัญลักษณ์ ‘ใบไม้ใบใหม่’ เริ่มต้นใช้ทดแทนตราสัญลักษณ์รูปใบไม้เดิมอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่วันที่ 23 พฤศจิกายน 2565 นี้เป็นต้นไป โดยการเปลี่ยนแปลงตราสัญลักษณ์องค์กรใหม่นี้ ไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานและบริการทางธุรกิจใด ๆ ของบริษัท อีกทั้งตราสัญลักษณ์ที่สถานีบริการบางจากผลิตภัณฑ์ในกลุ่มธุรกิจการตลาดและสมาชิกบัตรบางจากกรีนไมล์ จะยังคงเดิม ไม่มีการปรับเปลี่ยนใด ๆจนกว่าจะมีการสื่อสารเรื่องการเปลี่ยนแปลง
@mitihoonwealth
https://lin.ee/cXAf0Dp