SCB EIC อุตสาหกรรมเกษตรในปี 2566 มีแนวโน้มเติบโตในลักษณะรูปตัว K ซึ่งต่างจากภาวะตลาดในปี 2565 ที่ขยายตัวในทุกอุตสาหกรรม

407

มิติหุ้น – อุตสาหกรรมเกษตรในปี 2566 มีแนวโน้มเติบโตในลักษณะรูปตัว K ซึ่งต่างจากภาวะตลาดในปี 2565 ซึ่งเป็นการขยายตัวสอดคล้องกันในทุกอุตสาหกรรม โดยประเด็นสำคัญที่มีต่อทิศทางอุตสาหกรรมเกษตรในปี 2566 มีดังนี้

  • การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่สมดุล/ไม่เท่าเทียม (Uneven growth) ภาพรวมเศรษฐกิจโลกในปี 2566 โดยเฉพาะกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่มีแนวโน้มเติบโตชะลอลง ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรที่อิงกับ
    ความต้องการบริโภคในตลาดโลกทั้งน้ำตาลและยางพารามีแนวโน้มปรับตัวลดลง ในทางตรงกันข้าม เศรษฐกิจจีนที่มีแนวโน้มเติบโตเร่งขึ้น จะหนุนให้ราคามันสำปะหลัง ซึ่งพึ่งพาความต้องการใช้ในจีนเป็นหลักมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
  • ราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลง ส่งผลให้ราคาของพืชพลังงาน (น้ำตาล ปาล์มน้ำมัน) และพืชที่ใช้ทดแทนยางสังเคราะห์ (ยางพารา) มีแนวโน้มปรับตัวลดลงตามไปด้วย
  • การผ่อนคลายมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID -19 โดยเฉพาะการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าว ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตน้ำมันปาล์มจากประทศผู้ผลิตหลักอย่างมาเลเซียปรับตัวเพิ่มขึ้น จากปัญหาขาดแคลนแรงงานเก็บผลปาล์มที่คลี่คลายลง ซึ่งอุปทานที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวจะกดดันให้ราคาน้ำมันปาล์มปรับตัวลดลง
  • ความกังวลด้านความมั่นคงด้านอาหาร โดยเฉพาะนโยบายควบคุมการส่งออกข้าวของอินเดีย ส่งผลให้ราคาและปริมาณการส่งออกข้าวไทยได้รับอานิสงส์และมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น
  • ปริมาณน้ำฝนและน้ำในเขื่อนที่เพียงพอต่อการเพาะปลูกพืชและราคาสินค้าเกษตรที่อยู่ในเกณฑ์ดี ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตอ้อย มันสำปะหลัง ข้าว ยางพารา และปาล์มน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้น

EIC คาดว่าอุตสาหกรรมน้ำตาล มันสำปะหลัง และข้าว ในปี 2566 ยังมีแนวโน้มขยายตัวดีต่อเนื่องจากปีนี้ ขณะที่อุตสาหกรรมยางพาราและปาล์มน้ำมันมีแนวโน้มกลับมาหดตัว ท่ามกลางความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่อาจเข้าสู่ภาวะถดถอย ราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับลดลง รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ในระบบเศรษฐกิจ

  • อุตสาหกรรมน้ำตาลมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง จากปริมาณผลผลิตน้ำตาลและมูลค่าตลาดน้ำตาลที่มีแนวโน้มเติบโต โดยในปี 2566 คาดว่ามูลค่าการส่งออกน้ำตาลของไทยและมูลค่าตลาดน้ำตาลในประเทศ
    จะปรับตัวเพิ่มขึ้น 2%YOY และ 3.8%YOY ตามลำดับ แต่อย่างไรก็ดี ยังต้องจับตาความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจโลกและนโยบายควบคุมการส่งออกน้ำตาลของอินเดีย
  • อุตสาหกรรมมันสำปะหลังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ตามปริมาณผลผลิตและราคามันสำปะหลังที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยในปี 2566 คาดว่า มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 7% อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมยังต้องเผชิญความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า นโยบายเกษตรของจีน และการกลับมาระบาดของโรคใบด่าง
  • อุตสาหกรรมข้าวมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง จากปริมาณผลผลิตและราคาข้าวที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยในปี 2566 คาดว่ามูลค่าการส่งออกข้าวจะขยายตัวสูงถึง 25.8%YOY อย่างไรก็ดี ยังต้องจับตาความเสี่ยงจากนโยบายส่งออกข้าวของอินเดียและต้นทุนการผลิตข้าวของไทยที่สูงกว่าคู่แข่ง
  • อุตสาหกรรมยางพารามีแนวโน้มกลับมาหดตัว จากราคาและมูลค่าการส่งออกยางพาราที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลง ประกอบกับผลผลิตยางพารามีแนวโน้มเติบโตในระดับต่ำ โดย EIC คาดว่า ในปี 2566 มูลค่าการส่งออกยางพาราจะปรับตัวลดลง 7.5%YOY สำหรับปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่จะมีผลต่อแนวโน้มอุตสาหกรรม คือ ภาวะเศรษฐกิจโลกและการแพร่ระบาดของโรคใบร่วงยางพาราชนิดใหม่
  • อุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันมีแนวโน้มหดตัว ตามราคาน้ำมันปาล์มดิบและอุปสงค์น้ำมันปาล์มดิบที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลง ประกอบกับผลผลิตปาล์มน้ำมันมีแนวโน้มเติบโตในระดับต่ำ โดย EIC คาดว่า ราคาน้ำมันปาล์มดิบในปี 2023 จะปรับตัวลดลง 25.8%YOY นอกจากนี้ ยังต้องจับตาความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของนโยบายภาครัฐเกี่ยวกับพลังงานทางเลือก และนโยบายการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบของผู้ส่งออกหลักอย่างอินโดนีเซีย

อนึ่ง การเติบโตของอุตสาหกรรมเกษตรในปี 2023 และในระยะต่อไป ยังต้องเผชิญกับความท้าทายหลากหลายด้าน ทั้งความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจและนโยบายด้านการเกษตรของประเทศคู้ค้า/คู่แข่ง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นโยบายและมาตรการเพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ และกระแสความยั่งยืน

  • ความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจและนโยบายด้านการเกษตรของประเทศคู้ค้า/คู่แข่ง ในช่วงที่ผ่านมา ภาวะเศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอนสูงขึ้น จากเหตุการณ์ไม่คาดคิดที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้น นโยบายด้านการเกษตรของประเทศต่าง ๆ ก็มีความไม่แน่นอนมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งสภาวการณ์ดังกล่าว จะส่งผลให้อุตสาหกรรมเกษตรที่พึ่งพาการส่งออกไปยังตลาดโลกต้องเผชิญกับความผันผวนมากขึ้น
  • การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะทำให้ผู้ประกอบการที่ใช้สินค้าเกษตรเป็นวัตถุดิบ ต้องเผชิญกับผลประกอบการที่มีความผันผวนมากขึ้น จากทั้งต้นทุนการผลิตและปริมาณวัตถุดิบที่มีความไม่แน่นอนสูง
  • นโยบายและมาตรการเพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ (Low carbon economy) เช่น มาตรการการค้าระหว่างประเทศ การเก็บภาษีคาร์บอน เป็นต้น จะทำให้ต้นทุนในการดำเนินธุรกิจเกษตรปรับตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
  • ความยั่งยืน (Sustainability) เป็นหนึ่งในเทรนด์สำคัญของโลก ที่จะกระทบต่ออุตสาหกรรมเกษตร
    โดยในอนาคตผู้บริโภคหรืออุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ใช้สินค้าเกษตรเป็นวัตถุดิบมีแนวโน้มที่จะเลือกซื้อสินค้า
    ที่มาจากกระบวนการผลิตที่ยั่งยืนเพิ่มขึ้น

EIC มองว่า ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเกษตรจำเป็นต้องเร่งปรับตัวเพื่อรับมือกับความท้าทายดังกล่าว
และยกระดับศักยภาพการแข่งขันในตลาดโลก
ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนสูงของภาวะเศรษฐกิจ กฎระเบียบและข้อกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ และนโยบายด้านต่าง ๆ ของประเทศคู่ค้า/คู่แข่ง เช่น การติดตามเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลกอย่างใกล้ชิดและสม่ำเสมอ มีการกระจายการส่งออกไปยังตลาดส่งออกที่หลากหลาย และมีการจัดทำแผนฉุกเฉินต่อความเป็นไปได้ของฉากทัศน์ (Scenario) ต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น รวมไปถึงการลงทุนเพื่อให้สามารถคว้าโอกาสและลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและกระแสความยั่งยืน รวมทั้งการเปลี่ยนผ่านระบบการผลิตไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำร่วมด้วย

@mitihoonwealth
https://lin.ee/cXAf0D